วันที่ 14 มิถุนายนเป็น “วันธงชาติ” หรือ “แฟล๊ก เดย์” (Flag Day) ของอเมริกา และวันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวันชาติหรือ “วันประกาศอิสรภาพ” ของอเมริกาจากอังกฤษ “อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) ซึงเป็นวันหยุดราชการ “แนชันเนิล ฮอลิเดย์” (National holiday) คอลัมน์นี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับธงชาติอเมริกา ประวัติความเป็นมา เพลงชาติ คำปฏิญานต่อหน้าธงชาติ สิทธิส่วนตัวในการเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ ภาษิตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเกล็ดความรู้สำหรับคุณที่อยู่อเมริกาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะสอบซิติเซ่น ประโยคไฮไลท์สีดำอยู่ในข้อสอบซิติเซ่น
ลักษณะและสัญลักษณ์ธงชาติ
ธงชาติอเมริกัน “อเมริกัน แฟล๊ก” (American flag) หรือ “เดอะ ยู เอส แฟล๊ก” (the U.S. flag) มีชื่อเล่นเรียกกันว่า “สตาร์ส แอนด์ ไสตร๊ปส” (Stars and Stripes) แปลว่า ดาวและแถบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติ ดาว 50 ดวง เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ 50 รัฐในอเมริกา และ แถบ 13 แถบ เป็นสัญลักษณ์ของ 13 รัฐแรกที่เป็นอาณานิคมของอเมริกา
อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” (Declation of Independence) วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” (Thomas Jefferson) เป็นผู้เขียน “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” ตอนนั้นอเมริกายังไม่มีธงชาติของตนเอง ธงชาติแรกที่นำมาใช้ปี ค.ศ. 1916 มี 13 แถบซึ่งหมายถึง 13 อาณานิคมแรก และกากระบาทมีขีดไขว์ เป็นสัญลักษณ์ของ “ยูเนี่ยน” (Union) ยืมรูปของธงอังกฤษมาใช้ เรียก ธงแรกว่า “เดอะ แกรนด์ ยูเนียน แฟล๊ก” (The Grand Union Flag) ในปีนั้น ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” (Woodrow Wilson) ประกาศ วันรำลึกธงชาติให้เป็นวันที่ 14 มิถุนายน ในปี ค.ศ. 1917 ธงชาติอเมริกันได้เปลี่ยนจากมุมรูปกากระบาทเป็นดาว 13 ดวงแทน หลังจากนั้นธงชาติเปลี่ยนดีไซน์ไปเรื่อยๆแต่ละครั้งที่เพิ่มรัฐใหม่ ก็จะเพิ่มดาวทีละดวง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1960 เพิ่มดาวดวงที่ 50 เป็นรัฐสุดท้าย รัฐ “ฮาวาย” (Hawaii)

เพลงชาติอเมริกัน
เพลงชาติ เรียก “แนชั่นแนล แอนซตัม” (National Anthem) เพลงชาติอเมริกันมีชื่อเรียก ว่า “ เดอะ สตาร์ สแปงเกิล แบนเน่อร์” (The Star Spangled Banner) ใช้ครั้งแรกสมัย ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” และหลังจากนั้นปี ค.ศ. 1931 ได้ออกกฎหมายเป็นเพลงชาติประจำประเทศ วันที่คุณไปสาบานตนเป็นซิติเซ่น เขาจะเปิดเพลงชาติ คุณต้องลุกขึ้นยืน และมือขวาแตะที่หัวใจหน้าอกข้างซ้าย เช่นเดียวกับเวลายืนเคารพธงชาติ ดูรูป ลูกความดิฉันที่ไปสาบานตนวันได้รับซิติเซ่น เมื่อลุกขึ้นยืน น้ำตาไหลกันทุกคน รวมทั้งดิฉัน

วันสาบานตนเป็นอเมริกันซิติเซ่น
คำปฏิญาณ
การให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่ออเมริกาและธงชาติ เรียก “เพล็จ ออฟ อัลลีเจียนซ” (Pledge of Allegiance) ต่อ “ยูไนเต็ด เสตทส ออฟ อเมริกา” และ “เดอะ แฟลก” หนึ่งในคำถามของข้อสอบซิติเซ่น และเจ้าหน้าที่จะถามคุณว่า คุณเต็มใจที่จะให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่อประเทศอเมริกหรือไม่ ข้อความของคำสัตย์ปฏิญาน คือ “ข้าพเจ้าให้คำปฏิญานว่าจะจงรักภักดีต่อธงชาติสหรัฐอเมริกา และต่อสาธารณรัฐที่ตั้งอยู่ ชาติหนึ่งชาติเดียวภายใต้พระเจ้า ไม่มีการแตกแยก ด้วยเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกคน” “I pledge allegiance to the flag of the United States of America and to the republic for which it stands, one nation under God, indivisible, with liberty and justice for all.”
ภาษิตแรกของประเทศ
ภาษิต ภาษาอังกฤษเรียก “ม๊อตโต้” (motto) ภาษิตแรกของประเทศ หรือ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้” (Nation’s first motto) ของอเมริกาคือ “อี พลูริบัส อูนัม” (E pluribus unum) เป็นภาษาลาติน แปลว่า “จากจำนวนมาก เป็นหนึ่ง” หรือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน” (out of many, one) ข้อนี้อยู่ในข้อสอบซิติเซ่นชุดใหม่ สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องขอซิติเซ่นหลังวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2020 คำถามคือ ภาษิตแรกของประเทศ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้” “อี พลูริบัส อูนัม” หมายความว่าอะไร? คำตอบคือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน”
ภาษิตแรกนี้มีความศักดิ์สิทธิในจิตสำนึกคนอเมริกันมาก เนื่องจากความหมายที่กินใจ คำว่า “จากจำนวนมาก” หมายถึงผู้คนหลายชาติหลายภาษาที่อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เพื่ออิสระและเสรีภาพ มารวมกัน “เป็นหนึ่ง” ภาษิตของประเทศปัจจุบัน (Nation’s motto) เปลี่ยนใหม่ เป็น “อิน ก๊อด วี ทรัสท์” (In God We Trust) แปลตรงตัว คือ “ในพระเจ้า เราเชื่อ” ภาษิตใหม่นี้ มีชนหลายกลุ่มต่อต้าน เพราะคำว่า GOD ตีความหมายบ่งถึงศาสนาคริสต์โดยเฉพาะ เพราะไม่ทุกคนที่นับถือพระเจ้า เช่นศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา “เอเซตียส” (Atheist) เป็นต้น มีหลายกลุ่มที่นำคดีขึ้นศาลและต้องการให้กลับไปใช้ภาษิตเก่า “อี พลูริบัส อูนัม” แต่คดีเคยไม่ถึงศาลสูงสุด
กฎหมายเกี่ยวกับการเคารพธงชาติ
อเมริกามีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธงชาติ ระบุความอาญาและโทษต่ออาชญากรรมต่อธงชาติ ระบุถึงวิธี และประเพณีในการเคารพธงชาติ ทุกคำในเนื้อหากฎหมายบทนี้ใช้คำว่า “should” คือ “ควรจะ” ทำความเคารพธงชาติด้วยวิธีใด แต่ไม่ออกเป็นกฎบังคับ เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ หรือทำการกระทำดูหมิ่นธงชาติเช่น คดี Smith v. Goguen (1974) นาย Goguen ถูกจับในข้อกล่าวหาดูหมิ่นธงชาติตามกฎหมายรัฐแมสสาจูเซ็สท์ เมื่อเขานำเศษผ้าสี่เหลี่ยมลายธงชาติ เย็บปะก้นกางเกงและนั่งทับสัญลักษณ์ธงชาติ เมื่อคดีขึ้นถึงศาลสูงสุด ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินรัฐแพ้ และเขียนความเห็นว่า “ข้อระบุในกฎหมายห้ามแสดงการดูหมิ่นธงชาตินั้นกว้างเกิน การลงโทษจำเลยในกรณีนี้ไม่ใช่เพื่อต้องการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของผืนธงชาติ แต่เป็นการลงโทษในการสื่อความหมายเกี่ยวกับธงชาติ คดีเผาธงชาติ (Flag Burning Case) Street v. New York (1969) หลังจากที่ผู้นำผิวดำนาย James Meredith ผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคถูกลอบยิงตาย นาย Street ได้เผาธงชาติบนหัวมุมถนน และตะโกนด่ารัฐบาลว่า “เรามีธงชาติไว้หาสวรรค์อะไรเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครอง ปล่อยให้นาย Meredith ตาย” นาย Street ถูกจับในข้อกล่าวหาเผาธงชาติในที่สาธารณตามกฎหมายรัฐนิวยอร์ค เมื่อคดีขึ้นศาลสูงสุดศาลตัดสินให้รัฐแพ้ให้ความเห็นว่า “รัฐไม่สามารถลงโทษผู้ทำลายธงชาติในที่สาธารณะเมื่อการกระทำนั้นเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงรัฐบาล กฎหมายรัฐละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญ”

รูปเผาธงชาติประท้วง ปี ค.ศ. 2008 ปีที่ ป.ธ.น. โอบาม่าชนะเสียงเลือกตั้ง
เสรีภาพในการพูด
รัฐธรรมนูญของอเมริกา หรือ “ยู เอ็ส คอนสติทิวชั่น” มีความศักดิ์สิทธิมาก บทเฉพาะการฉบับแรก เรียก “เฟริสท์ อเม็นด์เม๊นท์” (First Amendment) ระบุว่าทุกคนมี “สิทธิเสรีภาพในการพูด” หรือ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” (Freedom of Speech) (“ยู เอ็ส คอนสติทิ๊วชั่น” มีทั้งหมด 27 อเม็นด์เม๊นท์”) ฉะนั้นในอเมริกาการกระทำ ที่เป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ฉีกทำลาย นั่งทับ และเผาธงชาติ อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” เพราะถือเป็นสิทธิของประชาชนที่แสดงออกถึงความคิดเห็น สื่อความหมาย รวมการประท้วง เหล่านี้ถือเป็นสิทธิของประชาชน
เป็นไงคะ สิทธิรัฐธรรมนูญในอเมริกาศักดิ์สิทธิแค่ไหน