Happy 4th “แฮ็ปปี้ ฟอร์ทซ” นะคะ วันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวัน“อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) หรือวันประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1776 ปีนี้เท่ากับครบ 245 ปีที่อเมริกาสร้างประเทศ ทุกปีเมือง“ลา พาล์มม่า” (La Palma) มีฉลองวัน“จูลาย ฟอร์ทซ” มีวิ่งแข่งหรือเดินแข่ง 5 K 10 K ตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีพาเหรด ออกร้าน และเกมให้เด็กเล่น แต่ปีนี้เงียบเหงาเราไม่มีฉลอง 😞 ถึงแม้ผู้ว่ารัฐคาลิฟอร์เนียได้ประกาศเปิดรัฐ ธุรกิจเปิดปกติ แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน
วันนี้คุยความรู้เรื่องวันหยุดราชการของอเมริกา ที่มา และวันหยุดราชการวันใหม่ชื่อวัน“จูนทีนซ์” ที่จะเริ่มมีผลใช้ปีหน้า
ใครกำหนดวันหยุดราชการ
วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบันมีทั้งหมด 11 วัน เริ่มปีหน้าเราจะมีวันหยุดราชการใหม่เรียกวัน “จูนทีนซ์” เป็น 12 วันตามกฎหมายอำนาจของการสถาปนาวันหยุดราชการขึ้นอยู่กับรัฐสภาหรือ“คองเกรส” เมื่อมีผู้ยื่นเสนอวันหยุดเข้าไปในสภาจะมีการโวท และถ้าผ่านจึงส่งต่อให้ประธานาธิบดีเซ็นชื่อ วันหยุดราชการจึงผ่านได้ วันหยุดราชการออฟฟิสรัฐบาลทั่วประเทศปิด และสถาบันที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลจะปิดด้วย เช่น ธนาคาร โรงเรียน ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น รัฐแต่ละรัฐอาจเลือกไม่รับวันหยุดราชการนั้นได้ และรัฐมีอำนาจที่จะตั้งวันหยุดราชการของรัฐเองได้
วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบัน
- นิว เยียร์’ส เดย์ (New Year’s Day) วันปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม
- อินอ๊อกกิวเรชั่น เดย์ (Inauguration Day) วันสถาปนาประธานาธิบดี มีทุก 4 ปี (อเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี) ตรงกับวันที่ 20 มกราคม ที่ทำการรัฐบาลจะปิดหมด
- มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ (Martin Luther King, Jr. Day) เรียกย่อว่า วัน MLK Day ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ที่มา มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เกิดวันที่ 15 มกราคม1929 เป็นบาทหลวงชาวผิวดำ ท่านเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Civil rights activist) และเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างผิว ท่านดำเนินรอยตามนโยบายของท่าน “มหาตม คานธี” คือเดินขบวนประท้วงแบบสงบไม่ใช้อาวุธ ท่านถูกลอบสังหารปี ค.ศ. 1968 อายุเพียง 39 ปี ปีค.ศ. 1971 หลายรัฐที่ประกาศวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการประจำรัฐ และหลายครั้งที่มีการเสนอวัน“มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เข้าสภา แต่ไม่ผ่าน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1983 สมัยรัฐบาลป.ธ.น. รอนัลด์ เรแกน วัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” ได้ผ่านสภา และมีผลใช้ปี ค.ศ. 1986 มี 3 รัฐทางตอนใต้ รัฐนิว แฮมเชียร์ รัฐอาริโซน่า และรัฐเซ๊าท์ คาโรไลน่า ไม่ยอมรับวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการ (ท้าวความถึงประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามกลางเมืองหรือสงครามเลิกทาสคนผิวดำ ระหว่างรัฐตอนเหนือและรัฐตอนใต้ขัดแย้งกัน รัฐตอนเหนือต้องการเลิกทาส แต่รัฐตอนใต้ไม่ต้องการเลิกทาส ความรังเกียจและกีดกันคนผิวดำยังฝังอยู่ในจิตใจคนทางใต้อยู่) จนกระทั่ง 14 ปี ให้หลัง ในค.ศ. 2000 ทั้ง 3 รัฐยอมรับ วัน มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
- จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์ (George Washington’s Birthday) ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ จอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ท่านถือเป็น “บิดาของประเทศ” หรือ The father of our country วันเกิดท่านตรงกับวันที่ 22 ก.พ. แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันจันทร์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. เพื่อข้าราชการจะได้หยุด 3 วัน เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ วันนี้บางครั้งเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” (Presidents’ Day) บางรัฐ และหลายปฏิทินจะเขียนวันนี้ว่าวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” ที่มาคือ ตามปฏิทินในเดือนกุมภาเรามีวันหยุด 2 วันหยุด คือวัน “ลินคอล์น’ส เบิร์ทเดย์” เกิดวันที่ 12 ก.พ. (ประธานาธิบดี “เอบราฮัม ลินคอล์น” เป็นผู้ประกาศเลิกทาส) วันนี้ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่หลายรัฐสถาปนาเป็นวันหยุด ในสภามีการเคลื่อนไหวที่จะรวมวันเกิด วอชิงตัน และลินคอล์น เป็นวันรำลึกถึงประธานาธิบดีทั้งสองเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” แทนที่จะเป็น “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นทางการ ปัจจุบันยังใช้ชื่อ “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อยู่ (ดิฉันคิดเองว่า รัฐทางใต้อีกนั่นแหละที่ไม่แฮ็ปปี้กับ ป.ธ.น. ลินคอล์นเท่าไร)
- เม็มโมเรียล เดย์ (Memorial Day) ตรงกับวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เป็น วันรำลึกถึงทหารผ่านศึกที่ตายในสงครามกลางเมือง “สงครามเลิกทาส” หรือ“ซิวิล วอร์” (Civil war) ที่มาคือ วันที่ 5 พ.ค. 1868 เป็นวันประกาศสงครามสิ้นสุด รัฐทางเหนือชนะ สามปีให้หลังรัฐสภาผ่านวันที่ 30 พ.ค. เป็นวัน เม็มโมเรียล เดย์ เพราะสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นวันที่ดอกไม้ออกสะพรั่งทั่วประเทศ ปัจจุบันวันนี้กลายเป็นวันที่คนส่วนมากจะรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเอาดอกไม้ไปเคารพที่หลุมฝังศพ
- อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์ (Independence Day) ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพจากสงครามระหว่างอเมริกา(เมืองขึ้น)กับประเทศอังกฤษ สงครามประกาศสิ้นสุดลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 อเมริกาได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
- เลเบ้อร์ เดย์ (Labor Day) หรือวันแรงงาน ตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน ที่มาคือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 สหภาพแรงงานมีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนงาน เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานเป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1882 เมืองนิวยอร์ค มีพาเหรดครั้งแรกฉลองวันแรงงาน ในปี ค.ศ. 1887 รัฐโอริกอน เป็นรัฐแรกที่ประกาศตั้งวันแรงงานเป็นวันหยุดของรัฐ ค.ศ. 1894 รัฐสภาผ่านวันแรงงานเป็นวันหยุดราชการ
- โคลัมบัส เดย์ (Columbus Day) ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ตามประวัติศาสตร์ โคลัมบัสเป็นผู้ค้นพบอเมริกา เขาล่องเรือเข้ามาถึงแผ่นดินใหม่นี้เมื่อปี ค.ศ. 1942 อเมริกาประกาศวัน โคลัมบัส เดย์ ในปี 1937 เพื่อสดุดี โคลัมบัส ที่เป็นผู้ค้นพบประเทศ กระทั่งช่วง ทศวรรษ 1970 คนหลายกลุ่มไม่พอใจ ขัดแย้งว่า เราควรจะสดุดีชนพื้นเมืองที่อยู่ในอเมริกามาตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่โคลัมบัส ปัจจุบันบางครั้งเรียกวัน โคลัมบัส เดย์ว่า วัน “อินดิจินัส พีเพิล’ส เดย์” (Indegenous Peoples’ day) หรือวันชนพื้นเมือง
- เวทเทอรันส์ เดย์ (Veterans Day) หรือวันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 11 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันรำลึกถึงทหารผ่านศึก ที่มาเริ่มแรกคือ เพื่อสดุดีพวกทหารที่ต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วันประกาศสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 ปัจจุบันเป็นวันรำลึกถึงทหารทุกคนที่รับใช้ประเทศชาติ
- แต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ (Thanksgiving Day) วันขอบคุณพระเจ้า ตรงกับวันพฤหัสที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ที่มาคือ ช่วงที่ผู้อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เข้ามาในอเมริกา มีกลุ่มพวก “พิลกริม” (ผู้แสวงบุญ) เข้ามาตั้งรกรากแถบอาณานิคมรัฐเวอร์จิเนีย พวกเขาประสบความลำบาก อดหยากหลายปี จนปี ค.ศ. 1621 ปลายเดือนตุลาคน เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ปีนั้นเป็นปีแรกที่พวกพิลกริมมีการฉลอง ขอบคุณพระเจ้าเป็นครั้งแรก ที่ให้พืชผลเขา พวกเขากินเลี้ยงฉลอง 3 วัน 3 คืน ปี ค.ศ. 1942 รัฐสภาผ่านวันแต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
- คริสมัส เดย์ (Christmas Day) ตรงกับวันที่ 25 ของเดือน ธ.ค. วันหยุดของชาวคริสเตียน ฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระเยซู
วัน“จูนทีนซ์” (Juneteenth)
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ลงนามผ่านวัน“จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการ เริ่มปีหน้า 2022 ตรงกับวันที่ 19 มิถุนายน คำว่า Juneteenth ย่อมาจาก June Nineteenth (June 19th ) มีเรียกกันหลายชื่อ วัน“แบล๊ค อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Black Independent Day) วันประกาศอิสรภาพของคนผิวดำ; วัน “จูบิลี เดย์” (Jubilee Day) หรือวันเฉลิมฉลอง; วัน “ฟรีดอม เดย์” (Freedom Day) หรือวันอิสรภาพ และวัน “อิแมนซิเพชั่น เดย์” (Emancipation Day) หรือวันปลดปล่อยทาส เป็นต้น ที่มาของวันนี้คือ สงครามกลางเมือง หรือ “ซิวิล วอร์” (Civil War) หรือสงครามเลิกทาส เกิดขึ้นระหว่างระหว่างปี ค.ศ.1861-1865 อเมริกาแบ่งเป็นสองฝ่าย
รัฐทางเหนือเรียก “พวก ยูเนียน” (Union) มี 23 รัฐ (ดูรูป รัฐทางเหนือเฉดสีฟ้า) เรียก ฟรี เสตทส (Free States) คือรัฐอิสระ ไม่มีทาสผิวดำ ประธานาธิบดี “ลินคอล์น” พึ่งรับเข้าตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้นำ รัฐทางเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรม ไม่มีความจำเป็นต้องมีทาส คนผิวดำที่อยู่รัฐทางเหนือถือเป็นบุคคลอิสระ
รัฐทางใต้ เรียก “รัฐ คอนเฟ๊ดเดอเรทส” (Confederates) มี 11 รัฐ (ดูรูป รัฐทางใต้ เฉดสีเทา) เรียก “สเลฟ สเตทส” (Slave States) คือรัฐมีทาสผิวดำ คนผิวดำไม่ใช่คนเป็นอิสระ พวกเขาถือเป็นสมบัติของเจ้านาย เพราะเจ้านายซื้อเขามา รัฐทางใต้มีภูมิลำเนาทำกสิกรรม ทำไร่ยาสูบและไร่ฝ้ายเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงต้องการทาสคนผิวดำมาทำไร่ ทางใต้แยกรัฐบาลจากทางเหนือ มีรัฐบาลของตนเองและผู้นำ ชื่อ เจ็ฟเฟอร์สัน เดวิส

ประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศปลดปล่อยทาส ณ. วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 ว่าทาสทุกคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ “คอนเฟ็ดเดอเรทส์” ทุกคนได้เป็นอิสระ แต่ในภาคปฏิบัติรัฐทางใต้ก็ยังเลี้ยงทาสอยู่ สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงปี ค.ศ. 1865 รัฐทางเหนือชนะ ปี ค.ศ. 1866 วันที่ 19 มิถุนายน ทาสผิวดำในเมือง “เกลเวสตัน” (Galveston) รัฐ เท็กซัส ฉลองเลิกทาสมีพาเหรด และเรียกวันนั้นว่าวัน “จูบิลี เดย์” ปี ค.ศ. 1979 รัฐเท็กซัสเป็นรัฐแรกที่ ประกาศ วัน “จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการของรัฐ
ในความคิดดิฉัน ก็ว่ามันแฟร์ดีนะคะ อเมริกาผ่านสงครามเพื่ออิสรภาพ 2 ครั้ง ๆแรก จากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษปี ค.ศ. 1776 และ 85 ปี ให้หลัง เกิดสงครามครั้งที่สอง ค.ศ.1861–1865 คนอเมริกันต่อสู้กันเองเพื่ออิสรภาพและความเสมอภาคของคนผิวดำ นี่คืออเมริกาค่ะ Liberty for All