Happy Spring ค่ะ แฮ็ปปี้ สปริง ฤดูใบไม้ผลิค่ะ เริ่มเมื่อวันที่ 20 มีนา อากาศคาลิฟอร์เนียสบาย ค่อยๆหายหนาว ใบไม้เริ่มเขียวชอุ่ม วันนี้เขียนเรื่องเบาๆนะคะ
ตั้งแต่ดิฉันเรียนภาษาเสปญ(สแปนิช)ก็หลงรักภาษามาก สแปนิชเป็นภาษาที่ไพเราะ ออกเสียงง่าย โดยอ่านตามคำสะกด คือออกเสียงทุกพยัญชนะ (phonetic language) ทำให้เรียนง่าย และใช้เสียงหนักแบบภาษาไทยเช่น ตัว P อ่านออกเสียงตัว ป ตัว T อ่านออกเสียงตัว ต ตัว C ออกเสียงตัว ซ แต่ต้องเอาลิ้นดันฟันบน สแปนิช เป็นภาษาที่ใช้มากอันดับสองของโลกรองจากภาษาจีนกลาง ภาษาสแปนิชเป็นภาษาในกลุ่ม“ภาษาโรม๊านซ์” หรือ“โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” (Romance language) เป็นหนึ่งในหกภาษาทางการระบุโดยสหประชาชาติ หกประเทศหลักที่ใช้“ภาษาโรม๊านซ์” คือ ประเทศเสปญ โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี โรมาเนีย และ กาตาลัน ฉะนั้นถ้าคุณรู้ภาษาสแปนิช คุณจะพอเข้าใจและกระดิกหูภาษา อิตาเลียน และฝรั่งเศษ


โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” คืออะไร
“โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” หรือ ภาษาโรม๊านซ์ ไม่ได้หมายถึง“ภาษาแห่งความรัก” ตามที่ดิฉันเคยเข้าใจผิด ศัพท์คำว่า“โรม๊านซ์” (Romance) โดยใช้ตัวพิมพ์ R ตัวพิมพ์ใหญ่ หมายความว่า “โรมัน” หรือ “โรมานิซ” (Romanice) เป็นศัพท์ชาวบ้าน เรียก “วัลก้าร์ ลาติน” (Vulgar Latin) แปลว่า“ลาติน หยาบคาย” คำ “โรมานิซ” ย่อมาจากภาษาลาตินเก่า“โรมานิคัส” (romanicus) แปลว่า“การพูดแบบชาวโรมัน” (speak in Roman) ซึ่งต่างจาก “ลาติน โลกิ” (latine loqui) แปลว่า“การพูดภาษาลาติน” (to speak in Latin)


ภาษาลาติน(เก่า) เป็นภาษาโบราณตั้งแต่ก่อนคริสตศักราช มีต้นกำเนิดในพื้นที่จักรวรรดิโรมันคือพื้นที่รอบๆกรุงโรม ภาษาลาตินเป็นภาษาที่เขียนยาก อ่านยาก และเข้าใจยาก เจ้าขุนมูลนายหรือผู้มีการศึกษาเท่านั้นที่จะอ่านออกเขียนได้ หลังจากจักรวรรดิโรมันค่อยๆล่มสลาย ประมาณปี ค.ศ. 376 ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันต่างค่อยๆแยกไปอยู่ใต้การปกครองของชนกลุ่มต่างๆ ภาษาลาตินเก่านี้จึงถูกตัดขาดออกจากภาษาถิ่นในดินแดนอื่นๆ และมีวิวัฒนาการอย่างช้าๆ จนเกิดเป็นภาษาลาตินใหม่ หรือภาษา “โรม๊านซ์”


ปัจจุบันภาษาลาตินเก่าไม่ใช่ภาษาแม่ของพลเมือง หรือประเทศใดๆ แต่ยังเป็นภาษาที่ใช้ในพิธีสวดของโรมันคาทอลิก นักเทววิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และใช้ในภาษากฎหมาย แม้ภาษาละตินในปัจจุบันจะมีผู้ใช้น้อยมากจนถูกนับว่าเกือบเป็นภาษาสูญแล้ว แต่การศึกษาภาษาลาตินในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยก็ยังคงมีอยู่มากโดยเฉพาะในยุโรป พี่เขยดิฉันคนเยอรมันเคยถามตอนดิฉันเริ่มเรียนกฎหมายว่า ในอเมริกาบังคับให้เรียนภาลาตินก่อนเรียนกฎหมายไหม เพราะหลักสูตรของเยอรมันบังคับให้เรียนหลักสูตรภาษาลาตินก่อน 1 ปี ก่อนที่จะเข้าเรียนกฎหมายได้ พี่เขยดิฉันได้เสียชีวิตไปตุลาที่แล้ว (ฮือ ฮือ เศร้ามาก ดิฉันชอบคุยกับพี่เขย เขาเหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ เขามีความรู้ลึกมาก) เลยไม่รู้จะถามใครว่าหลักสูตรเยอรมันปัจจุบัน ยังคงต้องเรียนลาตินก่อนเรียนกฎหมายหรือไม่


ภาษาทนาย
ทนายเมื่อเรียนกฎหมาย จะมีคำศัพท์ ประโยคและ โวหารภาษาลาตินบ่อยครั้ง ซึ่งเราต้องรู้ความหมาย คำภาษาอังกฤษหลายคำมาจากภาษาลาติน และอังกฤษใช้ทับศัพท์ ศัพท์ประจำที่ปรากฎในฟอร์มอิมมิเกรชั่น คือคำ
แอ๊ฟฟิเดวิท (affidavit) ปรากฎในฟอร์ม “แอ๊ฟฟิเดวิท อ๊อฟ ซัพพอร์ท” (affidavit of support) ผู้ยื่นขอใบเขียว เป็นสปอนเซอร์ต้องเซ็นใบรับรองซัพพอร์ท หรือกรณีเขียนจดหมายในรูป “แอ๊ฟฟิเดวิท” หมายความว่าผู้เขียนให้คำสัตย์ปฏิญาน หรือสาบานว่าข้อมูลเป็นความจริง ถ้าคุณโกหกหรือให้ข้อมูลเท็จ โทษจะรุนแรงมากกว่าโกหก
โบนา ไฟด์ (bona fide) ในศัพท์อิมมิเกรชั่นใช้กับคำว่า “โบนาไฟด์ แมริเอจ” (bonafide marriage) ใช้ศัพท์นี้กรณีทำใบเขียวแต่งงาน การแต่งงานของคุณต้องเป็นการแต่งงานจริง หมายความว่า มีเจตนาที่จะอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ซึ่งมีองค์ประกอบหลายข้อที่ใช้เป็นเครื่องตัดสิน ไม่ใช่เพียงอยู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น


เพลน อิงลิช ลอว์ (Plain English Law)
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้ “เพลน อิงลิช ลอว์” ระบุดังนี้ สถานที่รัฐบาล ธุรกิจร้านค้า บริการเซอร์วิสต่างๆ ให้เขียนสัญญาหรือเอกสารด้วยการใช้ ภาษาอังกฤษเรียบๆ หรือ “เพลน อิงลิช” (Plain English) ที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ คำว่า “เพลน อิงลิช” หมายความว่า ภาษาที่คนมีความรู้เทียบเท่าเด็ก เกรด 8 สามารถอ่านและเข้าใจได้ และถ้าเอกสารใดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงใช้ศัพท์หลักวิชาการ (Technical words) ก็จะต้องเขียนข้อความสรุปย่อๆอธิบายกำกับ


การแปลสัญญา
ตามกฏหมายเวลาคุณต้องเซ็นสัญญา และสัญญานั้นเขียนโดยบริษัทไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง อู่ซ่อมรถ สัญญาบริษัทประกัน หรือเจ้าของบ้าน เป็นต้น ถ้าสัญญานั้นฝ่ายผู้ร่างสัญญาเอาเปรียบอีกฝ่าย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและสัญญานั้นเขียนกำกวม ศาลจะแปลความหมายของสัญญานั้นเข้าข้างฝ่ายที่ไม่ได้เขียน

Published by JK

https://www.linkedin.com/in/jiradett/

%d bloggers like this: