คอลัมน์นี้เขียนรวบยอด 2 เดือนเลยนะคะ ที่ดิฉันหายไป เพราะ“พี่ต้อย”พี่สาวคนโตมาหาจากเยอรมันี เราไม่ได้เจอกัน 3 ปีเนื่องจากโควิดและพี่เขยพึ่งเสียชีวิตปลายปีที่แล้ว เราแฮ็ปปี้มากจุ๊กจิ๊กกันทั้งวัน “พี่อั๋น”และ“พี่แด๋น”เพื่อนสนิทจุฬาฯพี่ต้อย พี่ทั้งสองเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้ากว่า 40 ปีก่อน ได้ชวนเราไปหาและรับอาสาพาเราเที่ยวแถบ “มิดเวสท์” เที่ยวครั้งนี้นอกจากจะได้สนิทและใช้เวลากับพี่ต้อย  ดิฉันได้เรียนรู้ประวัติอเมริกาเกี่ยวกับรัฐแถบ“มิดเวสท์” และการบุกเบิกหรือ“ไมเกรชั่น” (migration) ของผู้อพยพจากพี่อั๋นและพี่แด๋น 

4 เขต ของอเมริกา

ก่อนอื่นทำความรู้จักการแบ่งเขตอเมริกา เป็น 4 เขต ตามโซนเวลา

1. เขตฝั่งตะวันออก เรียก“อีสเทร์น” (Eastern) 

2. เขตภาคกลาง เรียก “เซ็นทรัล” (Central)  

3. ถัดไปทางตะวันตก เรียก “เมานเท่น” (Mountain)  เพราะมีเทือกเขาเยอะ และ

4. ฝั่งตะวันตก เรียก “ปาซิฟิค” (Pacific)

เพราะเรียบฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิค  ดูรูป ไทม์โซน 4 เขตนอกนั้น รัฐอลาสก้า และ รัฐฮาวาย มีไทม์โซนของตนเอง

“มิดเวสท์” และ“เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”

ภาคเซ็นทรัล แบ่งเป็น 2 เขต รัฐทางเหนือ และรัฐทางใต้ ตอนเหนือ เรียก “มิดเวสท์” และรัฐตอนใต้ เรียก “เซ๊าท์เท่อร์น สเตทส” ดูรูป แผนที่ เขตแบ่งแยก“มิดเวสท์” และ“เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”

“มิดเวสท์” (Midwest) รัฐทางตอนเหนือติดชายแดนประเทศแคนาดา  ถึงตอนกลางของภาค มี 12 รัฐคือ นอร์ทดาโคต้า, เซาท์ดาโคต้า, มินนิโซต้า, วิสคอนซิน, มิชิแกน, เนบราสก้า, ไอโอว่า, อิลลินอยส์, อินเดียน่า, โอไฮโอ, แคนซัส, และ มิสซูรี่ นอกนั้นเป็นรัฐตอนใต้ “เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”(Southern States) รวม เท็กซัส โอคลาโฮม่า อาร์คันซอส์ เท็นเน็สซี่ เค็นตั๊กกี้ หลุยเซียน่า มิสซิสซิปปี้ และอลาบาม่า บวกรัฐทางตอนใต้ฝั่งตะวันออก สาเหตุของการแบ่งแยกรัฐ คือ  ปี ค.ศ. 1860 (2403) ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศเลิกระบบทาส รัฐทางใต้เป็นรัฐที่ใช้แรงงานทาสในการทำไร่ฝ้ายและยาสูบ จึงไม่ต้องการเลิกทาส เซาท์แคโรไลนาเป็นรัฐแรกที่ประกาศแยกตัวทำสงครามกับรัฐที่ต้องการเลิกล้มระบบทาส หลังจากนั้นรัฐ มิสซิสซิปปี้รัฐเทนเนสซี่ และรัฐทางใต้อีกหลายรัฐ ทะยอยร่วม และประกาศแยกตัวเป็นออกจากสหพันธรัฐ เป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ หรือสงครามเลิกทาส

การเดินทาง

เราบินจากสนามบิน “ลองบีช” (Long Beach) คาลิฟอร์เนียไปสนามบิน “เดนเว่อร์” (Denver) โคโลราโด เขต“เมานเท่นส์” เวลาต่างกับคาลิฟอร์เนีย 1 ชั่วโมง เขต“เมานเท่นส์” มีภัยธรรมชาติ คือพายุไต้ฝุ่น ที่สนามบิน หน้าห้องน้ำ หญิง ชาย จะมีป้ายเขียนว่า “ทอร์นาโด้ แช็ลเต้อร์” (Tornado Shelter) หรือที่หลบภัยใต้ฝุ่น ยกเว้นห้องน้ำสุนัข ดูรูป 😁 ดิฉันไปถามพนักงานว่าป้ายนี้เขาหมายถึง ทอร์นาโดจริงๆหรือมีมุขตลกเรียกห้องน้ำว่าที่หลบพายุ เขาหัวเราะและโชว์รูปทอร์นาโดที่ลานสนามบินให้เราดู เป็นความรู้ใหม่สำหรับดิฉันว่าแถบเมาน์เท่นมีภัยธรรมชาติคือ ทอร์นาโด

เราต่อเครื่องไป เซ็นท์ พอล มินนิโซต้าถึงบ่ายสายๆ“พี่อั๋น”และ“พี่แด๋น”มารับ  เวลามินนิโซต้าต่างกับคาลิฟอร์เนีย 2 ชั่วโมง เรานอนที่เซ็นท์ พอล 2 คืน รุ่งขึ้นพี่เขาพาเราไปเดินเรียบแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ดิฉันได้ความรู้เพิ่ม เกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำและการอพยพหรือ “ไมเกรชั่น” ของพวกบุกเบิกและพวกอพยพ

แม่น้ำมิสซิสซิปปี้

แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของ “มิดเวสท์” ทั้งในด้านการเดินทางและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แถบแม่น้ำมีพื้นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ พวกคนพื้นถิ่น-อินเดียนแดงตั้งรกรากอยู่สองฝั่งน้ำมา คำว่า “มิสซิสซิปปี้” มาจากภาษาพื้นถิ่น คนอินเดียนแดงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “บิดาของแม่น้ำ” หรือ “เดอะ ฟาเท่อร์ อ๊อฟ วอเท่อร์ส” (The Father of Waters)  คำ “มิสซิ” (misi) แปลว่า ใหญ่ “ซิปปี้” (sipi)  แปลว่าน้ำ ต้นน้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เริ่มต้นจากรัฐมินนิโซต้าติดประเทศแคนาดา มาจากทะเลสาปเล็กๆหลายทะเลสาปและไหลลงใต้ ผ่านรัฐทั้งหมด 6 รัฐคือ รัฐมินนิโซต้า รัฐไอโอวา  รัฐอิลลินอย รัฐมิสซูรี รัฐเทนเนสซี และ รัฐหลุยเซียน่า ที่เมืองนิว ออร์ลีนส์ และออกอ่าวเม็กซิโก ที่เมือง เซ็นตหลุยส์ รัฐมิสซูรี แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไปบรรจบกับแม่น้ำมิสซูรี่ เรียกว่า แม่น้ำมิสซิสซิปปี้-มิสซูรี่ Mississippi-Missouri River ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญและยาวที่สุดของอเมริกา  ดูรูป สายน้ำ แม่น้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปี้-มิสซูรี่

การอพยพ “ไมเกรชั่น” (Migration)

วันรุ่งขึ้นเราไปเดินเรียบแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ดูรูป พี่อั๋นเล่าประวัติพวกผู้อพยพที่“ไมเกรท” (migrate) เข้าแถบมิดเวสท์ คือ ปีค.ศ. 1783 (2326) หลังสงครามปฏิวัติระหว่างอเมริกาและอังกฤษสิ้นสุดลง อังกฤษรับรองให้รัฐเมืองขึ้น 13 รัฐเป็นรัฐเอกราชและให้ดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นพวกบุกเบิก “เซ็ทเล่อร์” (Settlers) “ไมเกรท” หาอาณานิคมใหม่ทางตะวันตกเฉียงตอนเหนือเรียก “นอร์ทเวสท์ แทริโทรี่” (Northwest Territory) เริ่มจากเรียบติดฝั่งแคนาดา แต่เพราะตอนเหนืออากาศหนาวจัด มีหิมะและธารน้ำแข็ง ปลูกพืชไม่ได้ ได้แต่ต้นไม้ใหญ่ ผู้คนจึงตั้งรกรากอยู่น้อย เรียบลงมาทางใต้อากาศไม่หนาวจัด ดินดี อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวสาลีได้ดี และมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่นถ่านหิน น้ำมัน และเหล็ก เหมาะทั้งการกลิกรรมและอุตสาหกรรม เพราะสามารถใช้พลังน้ำจากแม่น้ำปั่นเครื่องจักรได้ ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาจากยุโรปโดยเฉพาะชาวเยอรมันและชาวแสกนดิเนเวียน ดูรูป สองอุตสาหรรมใหญ่เกิดขึ้นคือ โรงงานผลิตแป้ง “พิลส์เบอรี่” (Pillsbury) และ“โกลด์ เม็ดเดิล” (Gold Medal) ชาว “โบฮีเมียน” (Bohemian) พวกยิปซีจากแถบประเทศเช็คส์ (Czech) ได้หลั่งไหลกันเข้ามาทำงานโรงแป้ง พวกเขาตั้งรกรากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เราไปดูจุดอนุสรณ์หมู่บ้านชาวโบฮีเมียน “โบฮีเมียน แฟลทส์” (Bohemian Flats) ดูรูป ความเฉิ่มของดิฉันพยายามมองหาตึกแฟลทส์ แต่ที่จริงคำว่า“แฟลทส์” ในที่นี้แปลว่า “ที่ราบ”  ดูรูป

ปี ค.ศ. 1803 (2346) อเมริกาซื้อรัฐ “หลุยเซียน่า” จากฝรั่งเศษ เป็นการขยายดินแดนกว้างของที่ราบตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำมาซิสซิปปี้ คลอบคลุมทุ่งหญ้ากว้างใหญ่มาก เรียกแถบนี้ว่า “เดอะ เกรท เพลนส์” (The Great Plains) เปิดทางให้พวกบุกเบิกและผู้อพยพไปลงทางตอนใต้ คนพื้นถิ่น-พวกอินเดียนแดงอยู่แถบนี้มาหลายพันปีก่อน แถบนี้เป็นแถบพื้นที่ราบ และที่ราบสูง ทำนา เลี้ยงฟาร์ม  ทำกสิกรรมได้ดีมาก ผู้อพยพได้รุกร้ำเข้าดินแดนพวกอินเดียนแดงที่อยู่มาก่อน ภายหลังรัฐบาลและพวกอินเดียนแดงได้ทำสนธิสัญญา จัดสรรเขตให้ที่ดินพวกอินเดียนแดงอยู่ เรียก เรเซอร์เวชั่น (reservation)

รัฐวิสคอนซิน 

จาก เซ็นท์ พอล พี่อั๋นขับรถไปวิสคอนซิน สโลแกนของรัฐ คือ อเมริกา’ส เดรี่แลนด์ (America’s Dairy land) เพราะเป็นรัฐ นม เนย ไข่ อุดมสมบูรณ์ ระหว่างสองข้างทาง เห็นแต่พื้นราบ เขียวชอุ่ม มองแล้วเหมือนนาข้าวเมืองไทย เห็น ธารน้ำเล็กๆมาตลอด ในธารมีแหนและผักตบชวา ไม่เห็นต้นไม้ใหญ่ และไม่เห็นวัวสักตัว พี่อั๋นบอกว่า รัฐวิสคอนซินมีหน้าดินตื้น จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นสน ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งใช้เป็นอาหารวัว และวัวที่นี่เป็นวัวนม ไม่ใช่วัวเนื้อ วัวถูกเลี้ยงในโรงนา ไม่อยู่ตามทุ่ง ระหว่างทางเราแวะร้านขายของที่ระลึกซื้อ “ชีส” (cheese) คนงานในร้านหลายคนพูดมีแอ๊กเซ่นเยอรมันส่วนมาก ดูรูปเจ้าหนูแทะ cheese หน้าร้าน เห็นแล้วน่าเข้า

เรานอนที่วิสคอนซิน 3 คืน สองคืนที่เมือง “เคโนช่า” (Kenosha) ภาษาอินเดียนแดง เป็นชื่อปลา “ไพ๊ค” (pike) หรือ “พิคเคอเรล” (pickerel) แถบนี้เป็นพื้นที่คนพื้นถิ่น-อินเดียนแดงอยู่มาก่อน แอร์ บีเอ็นบี ที่พักเรา เดิน 5 นาทีถึงทะเลสาปมิชิแกน “เล๊ค มิชิแกน” (Lake Michigan) เราออกไปเดินเล่นชายทะเลสาปตอนเช้า ดูรูป

ทะเลสาปมิชิแกน ท้องฟ้าสวยมาก

เราได้ไปดูบริเวณหมู่บ้านคนอินเดียนแดง เงียบสงบ ไม่มีคนเดินพลุกพล่าน มีแต่บ้านเนื้อที่กว้าง อยู่ห่างกัน มีถังน้ำและเครื่องปั้มน้ำอยู่นอกบ้าน โรงเรียนเด็ก โบสถ์เล็กๆ และที่น่าสนใจคือ สุสานคนอินเดียนแดง เรียก “อินเดียนมาวนด์ส” (Indian Mounds) หลุมศพ ทำง่ายๆ คือแค่ขุดดิน ฝัง และกลบดินเป็นเนิน ปักป้าย คนมีเงินหน่อยก็ทำหินสลักชื่อ ดูรูป

อินเดียน มาวนด์ส (Indian Mounds)

เมืองเคโนช่าอยู่ห่างจากเมืองเล็กๆชื่อ“บริสตอล” (Bristol) ซึ่งอยู่ติดชายแดน “ชิคาโก” (Chicago) เพราะมีโปรแกรมที่จะไปดูงานแฟร์ที่ หลานชายดิฉันไปออกร้านเปิดบูทซ์ขายสินค้า ศิลปะ ที่งาน“บริสตอล เรอเนซองส์ แฟร์” (Bristol Renaissance Fair) เป็นงานออกร้านใหญ่มีชื่อเสียง ปีละครั้ง 9 สัปดาห์ วันสุดสัปดาห์ ต้นกรกฏาถึงกันยา สินค้าเป็นศิลปะ ยุค เรอเนซองส์ คนขายแต่งตัวแบบสมัยเรอเนซองส์ คนไปเที่ยวงานส่วนมากแต่งชุดยุคเรอเนซองส์ ดูรูป

“บริสตอล เรอเนซองส์ แฟร์” (Bristol Renaissance Fair)

ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

เรานอนที่ชิคาโก 2 คืน จากเมืองเคโนช่า เข้าชิคาโกประมาณ 2 ชั่วโมง บรรยากาศเปลี่ยนเมื่อเข้าเขตชิคาโก ฟรีเวย์รถติดพอๆกับแอลเอ ชิคาโกเป็นเป็นเมืองที่เจริญเร็วมากและรุ่งเรืองที่สุดใน“มิดเวสท์” ปี ค.ศ. 1890 (2433) ชิคาโกกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม 100% ในขณะที่แถบ “เดอะ เกรท เพลนส์” (The Great Plains) ยังทำกสิกรรม เมืองชิคาโกมีสโลแกนว่า “วินดี้ ซิตี้” (Windy City) เพราะลมแรงมากเนื่องจากดาวน์ทาวน์ ชิคาโกติดริมทะเลสาปมิชิแกน “วินดี้ ซิตี้” ตีอีกความหมายคือ “พ่นเป็นลม” ชิคาโกเป็นเมืองที่มีนักการเมืองจำนวนมากอยู่ ในศตวรรษที่ 19 พวกนักหนังสือพิมพ์เขียนล้อเลียนพวกนักการเมืองว่าพูดจากลับกลอกคือ “พ่นเป็นลม” หลานพาเรานั่งรถไฟฟ้าเข้าดาวน์ทาวน์ชิคาโก ดูโรงเรียนที่หลานเรียน ชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ปาร์ค เราเดินดาวน์ทาวน์ได้ทั้งวัน สำหรับดิฉันชิคาโกคล้ายเมือง “เบอร์ลิน” เยอรมัน เจริญมาก มองทางไหนจะเห็นตึกระฟ้า โรงละคร ดนตรีกลางแจ้ง สวนสาธารณะใหญ่ เด็กรุ่นใหม่พวกหัวอาร์ทิสท์อยู่มาก ชิคาโกได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสถาปัตยกรรมและเป็นแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในดาวน์ทาวน์ดิฉันเห็นสถาบันศิลปะ (Art Institute) 3 แห่ง แต่ละแห่งมี “มิวเซียมแคมปัส” (Museum Campus) โชว์ผลงานของนักศึกษา 

ไฮเวย์สาย  66

จุดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของชิคาโกคือ ไฮเวย์สาย  66 หรือ “รูท ซิกส์-ตี้-ซิกส์” ( Route 66) เปิดใช้ปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) เป็นไฮเวย์ทางหลวงสายแรกของอเมริกา เป็นเส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์ของผู้อพยพ จาก“มิดเวสท์” และ “เดอะ เกรท เพลนส์” ไปฝั่งตะวันตก จุดเริ่มต้นจากเมืองชิคาโก ผ่าน รัฐมิสซูรี่ แคนซัส โอคลาโฮม่า เท็กซัส นิวเม็กซิโก อาริโซน่า สิ้นสุดรัฐคาลิฟอร์เนีย เมือง “แซนตา มอนิก้า” (Santa Monica) เขตลอสแอนเจลิส ความยาว 2,448 ไมล์ (3,940 ก.ม) ดูรูปแผนที่เส้นทางไฮเวย์สาย 66  

พายุฝุ่น“ดัสท์โบล” (Dust Bowl)

ระหว่างปี ค.ศ. 1930 – 1940 (2473-2483) เกิดพายุฝุ่นอย่างรุนแรง เรียก “ดัสท์โบล” (Dust Bowl) เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกายาวนานถึง 10 ปี พายุฝุ่นได้กวาดไปทั่วที่ราบสูง “เกรท เพลนส์”  (Great Plains) จุดที่เริ่มพายุฝุ่นเริ่มจากทางภาคใต้ของแคนซัส ดูรูปล่าง เฉดสีแดง ไปตะวันตกโคโลราโด ตะวันออกรัฐนิวเม็กซิโก เท็กซัสและโอคลาโฮมา ฝุ่นจาก“เกรท เพลนส์” ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 100 ล้านเอเคอร์ที่ราบตอนใต้   “เซ๊าท์เท่อร์น เพลนส์” (Southern Plains) ดูรูปล่าง เฉดสีน้ำตาล และเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1934 (2477) ได้ปล่อยฝุ่น 12 ล้านตันในเมืองชิคาโก พายุฝุ่นนี้เป็นช่วงวิกฤติอย่างรุนแรงปลายปี ค.ศ. 1940 (2483) ผู้คน 2.5 ล้านคนได้ย้ายออกจาก แถบที่ราบอพยพไปตะวันตกโดยใช้เส้นทางไฮเวย์สาย 66  จากจำนวน 2.5 ล้านคน  200,000 คนย้ายไปอยู่คาลิฟอร์เนีย

ไฮเวย์สาย 66  ถูกยกเลิกออกจากระบบทางหลวงปี ค.ศ. 1985 (2528) แต่บนแผนที่ยังมีเขียนว่า“เส้นทางประวัติศาสตร์สาย 66”  หรือ ฮิสตอริค รูท 66 ( Historic Route 66) ปัจจุบันไม่สามารถขับรถได้ตลอดสายเพราะถนนพังมากไม่มีการซ่อมหรือทะนุบำรุง แต่บางส่วนของเส้นทางเดิมรัฐมีการกำหนดให้เป็นเส้นทางชมวิว (National Scenic Highway)

ที่สนามบิน “มิดเวย์” มี ห้องสวดมนต์ ห้องแม่ให้นมลูกกิน และห้องโยคะ ดูรูป ป้ายและห้องโยคะ  ดิฉันได้โยคะก่อนขึ้นเครื่อง พอออกจากห้องโยคะ เดินต่อจะไปเข้าห้องน้ำ เห็นถังขยะสีเขียว ตั้งอยู่หน้าออฟฟิสตำรวจสนามบิน ดูรูป ถังขยะเขียว เขียนว่า “คานาบิส แอมเนสตี้ บ๊อกซ์” (Cannabis Amnesty Box) “คานนาบิส” คือ กัญชา “แอมเนสตี้” คือ การผ่อนผัน/ไม่เอาผิก เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเคยเห็น“ถังขยะให้ทิ้งกัญชา และจะไม่เอาผิด” ทันสมัยดีไหมคะ ชิคาโก !!!

ถังขยะทิ้งกัญชาและจะไม่เอาผิด

ถึงแม้ ปัจจุบันหลายรัฐในอเมริกาได้ผ่านกฎหมายให้ สูบกัญชาเพื่อการพักผ่อนหรือ “เร็คครีเอชั่น” (recreation) ได้ แต่กฎหมายรัฐบาลกลาง “เฟ็ดเดอรัล ลอว์” (Federal Law) ถือว่าผิดกฎหมาย สนามบินเป็นสถานที่ของรัฐบาลกลาง และ “แอร์ เสปซ” (air space) ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นที่สนามบิน และบนเครื่องคุณอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นการมีกัญชาในครอบครอง ผิดกฏหมาย  ข้อเตือนนะคะ อย่านำกัญชาติดตัวเวลาเดินทาง ไม่ว่าจะบิน ขับรถข้ามรัฐเพราะบางรัฐยังถือว่าผิดกฎหมาย และอีกข้อคือ “ไฮเวย์ อินเทอร์เสตท” (interstate highway) ระหว่างรัฐเป็นทางหลวง อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง และทางเรือ น่านน้ำทะเลอยู่ภายใต้ กฎหมายรัฐบาลกลาง เช่นกัน!!!!!  

Published by JK

https://www.linkedin.com/in/jiradett/