วัน“เมโมเรียล เดย์” (Memorial Day)

วันนี้วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม วัน“เมโมเรียล เดย์”ของอเมริกา เป็นวันรำลึกทหารผ่านศึกที่ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมแต่ละปี ประธานาธิบดีจะไปทำความเคารพที่สุสานทหารผ่านศึก “อาร์ลิงตัน” รัฐเวอร์จิเนีย วันรำลึกนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี  ค.ศ. 1868 หนึ่งปีหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง (หรือสงครามเลิกทาส) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1971 รัฐบาลได้สถาปนาวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการอย่างทางการ “เมโมเรียล เดย์” และวัน “เมโมเรียล เดย์” อย่างไม่เป็นทางการ ถือเป็นวันเริ่มต้น “ซัมเม่อร์” อีกด้วย

ปัจจุบันคนทั่วไปถือวันนี้เป็นวันที่ระลึกผู้ที่ล่วงลับจากเราไป พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อน เป็นต้น เดือนที่ผ่านมา พี่สาวดิฉันเสียชีวิตด้วยโรค “อัลซายเม่อร์” เรามีกันสองคนในอเมริกา ทำให้ดิฉันเศร้ามาก คุณแม่เคยสอนว่า “คนเราไม่จากเป็น ก็จากตาย” ก็ถูกต้องอยู่ แต่พี่สาว “ทั้งจากเป็นและจากตาย” เพราะเธอจำดิฉันไม่ได้มาหลายปีก่อนตาย พี่สาวคนโตของดิฉันปลอบใจว่า โรค“อัลซายเม่อร์” นี้เธอไม่เจ็บปวดทรมาน ถ้าเปรียบกับมะเร็ง จะเจ็บปวดทรมานมาก (ฮือๆๆ)

ตอนนี้ดิฉันเหลือพี่สาวคนโต “พี่ต้อย” 1 คนอยู่เยอรมัน และน้องชายคนสุดท้อง “น้องต๋อ” 1 คนอยู่เมืองไทย ตอนคุณพ่อเสีย ดิฉันเศร้า แต่ไม่ถึงกับหมดแรง 8 ปีให้หลังคุณแม่เสียตอนนั้นดิฉันแทบหมดแรง โศรก เสร้ามาก “พี่ต้อย”บอกว่า ที่เราเศร้ามากที่คุณแม่จากเราไป เพราะเท่ากับตอนนี้“เราไม่เป็นลูกใครแล้ว” พี่เขาพูดถูกต้อง ใช้เวลานานมากกว่าจะทำใจได้ นึกย้อนถึงประโยคที่พี่ต้อยบอกหลังคุณแม่เสียว่า “เราไม่เป็นลูกใครแล้ว” เลยตั้งสติได้ว่า “ดิฉันยังเป็นน้องสาว และเป็นพี่สาวคน”

สุสานทหารผ่านศึก “อาร์ลิงตัน” รัฐเวอร์จิเนีย

วัน “เมโมเรียล เดย์” นี้ มีความหมายกับดิฉันมาก ดิฉันจะถือเป็นวันที่รำลึก ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พ่อ แม่ พี่สาว และน้องชายคนรองมา (น้องหายสาบสูญที่ประเทศลาวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976) พี่สาวเสียวันที่ 26 เมายน เผาวันที่ 13 พฤษภาคม ดิฉันเหนื่อยใจ และกายมาก ไม่มีแรงเขียนคอลัมน์ และมาประกอบกับญาติสามีที่ดิฉันรักและสนิทมาก หัวใจวายตายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เขาเป็นผู้ที่ทำให้ดิฉันได้เจอกับสามี และแต่งงานกัน

ดิฉันเขียนคอลัมน์นี้เมื่อวาน ถ้ามีแรงเขียนคอลัมน์นี้จนจบ แสดงว่าดิฉันโอเคแล้วค่ะ คำสอนของคุณแม่อีกประโยคตอนคุณพ่อเสีย คือ “เสียหนึ่ง อย่าเสียสอง นะลูก” จริงค่ะ ชีวิตเดินหน้าต่อไป “ลาบิด้า ซิเก่” (La vida sigue) “ไล๊ฟ โกส์ ออน” (Life goes on)

แล้วคุยกันเดือนหน้านะคะ

ปีใหม่ มองโลกใหม่

แฮ็ปปี้สงกรานต์ 13 เมษา 2023(2566) ทุกคนนะคะ ปีใหม่นี้มาเริ่มต้นกันใหม่  3 ปีที่ผ่านมาชีวิตหลายคนได้เปลี่ยนไป เนื่องจากโควิดระบาด ข่าวสถิติคนตายจากโควิดประโคมกันทุกวัน ทำให้คนหวาดกลัว ต่างหวาดระแวงและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะกลัวติดโควิด มาถึง ณ.วันนี้ในรัฐคาลิฟอร์เนียข่าวโควิตแทบไม่มี ดิฉันมองย้อนหลังใน 3 ปีที่ผ่านมา ชีวิตครอบครัวเราเปลี่ยนไปมากเช่นกัน แต่ถ้ามองในแง่ดี มันก็ดีจริงๆนคะ ฉะนั้นเรามามองโลกใหม่กันเถอะ

สุขภาพดีขึ้น

เมื่อโควิดระบาด อเมริกาปิดประเทศ(ถ้าจำไม่ผิด)วันที่ 18  มีนาคม 2020 สถานที่ราชการ โรงเรียน ที่ทำงาน ร้านอาหารและยิมที่ดิฉันไปโยคะ 7 วันปิดหมด และรัฐบาลยังห้ามไม่ให้มีการมาชุมนุมกันนอกจากจะเกี่ยวกับสุขภาพ ดิฉันตัดสินใจเปิดคลาสโยคะ 6 วันที่บ้าน ดิฉันตีความหมายในแง่ทนายว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎ เพราะโยคะคือการชุมนุมกันเพื่อสุขภาพ ในคลาสโยคะ 1 ชั่วโมง 15 นาที ดิฉันได้เพิ่มสอนวิธีหายใจ(นั่งลมปราน) เพื่อสร้างภูมิต้านทานและเพิ่มพลังปอด 15 นาที นักเรียนที่มาโยคะตลอดตั้งแต่นั้น แต่ละคนมีโรคประจำตัวเช่น ถุงลมโป่งพอง (ปัจจุบันไม่ต้องใช้ยาและอ๊อกซิเจนช่วย) เบาหวาน (จากฉีดยาเข้าตาทุก 6 สัปดาห์กลายเป็นไปเช็คอย่างเดียวทุก 18 สัปดาห์) รื้อฟื้นจากมะเร็ง (จากเช็คร่างกายทุกเดือน เป็นปีละครั้ง)  กระดูกบาง (ปัจจุบันปกติ) เป็นต้น นักเรียนแต่ละคนอายุระหว่าง 65-80 ปี ทุกคนแฮ็ปปี้ ดิฉันไม่ได้กลับไปยิมอีกเลย ต้องขอบคุณ“โควิด”

ครอบครัวรักและสนิทกันมากขึ้น

ปีที่สองของโควิด ค.ศ. 2021 ดิฉันสูญเสีย “เอ๊กซ์”ลูกเขย“พ่อของหลาน”เดือนเมษา ซึ่งตายกระทันหัน และพี่เขย (อยู่เยอรมัน) เดือนตุลาคม เป็นหัวใจวายตาย ชีวิตหลานและพี่สาวเปลี่ยนไป หลานโกรธแม่ไม่พูดกันเกือบ 1 ปี พี่สาวดิฉันก็เศร้าโศรกสุดๆดิฉันเคยสัญญาว่าถ้าพี่เขยตายดิฉันจะบินไปหาทันที เพราะโควิดก็เลยไม่ได้ไป ปีนั้นดิฉันเศร้ามากไม่รู้จะช่วยหลานและพี่สาวได้ยังไง

เดือนมกรา ค.ศ. 2022 หลานชายโทรเข้าหาดิฉันขอมาโยคะที่บ้าน ดิฉันดีใจมากๆไปรับส่งเขาทุกวันจากบ้านย่า ระหว่าง 3-4เดือนที่เขามาโยคะก่อนเปิดเทอมเดือนพฤษภา หลานได้เปิดอกคุยกับดิฉัน ระหว่างขับรถรับส่งและทานข้าวกลางวันด้วยกันเป็นเวลาที่มีค่ามาก หลานเล่าว่านอกจากเขาจะเสียพ่อ เพื่อนสนิทมหาวิทยาลัยตายไป 6 คน ในปี 2021 จาก“โอเว่อร์โดส” ดิฉันขอบคุณพระเจ้าที่หลานเข้าหาดิฉัน ในกลางปีเดียวกันนั้น พี่สาวจากเยอรมันนีมาหาดิฉัน 1 เดือน เราได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันจุ๊กจิ๊กจู๋จี๋กัน ตอนพี่เขยมีชีวิตเวลาทั้งสองมาหาเรา เราไม่เตยได้นั่งคุยกันสองต่อสองอย่างนี้ พี่สาวและดิฉันได้บินไปเที่ยวภาคตะวันออกกลาง และอยู่ชิคาโก้ 3 วันเพื่อไปหาหลานที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย เราคุยกับหลานเรื่องความรักกันในครอบครัว พ่อแม่ลูก และพี่น้อง ซึ่งได้ผล หลานได้โทรหาแม่ ตอนนี้ทุกอย่างลงตัว “โควิด”เป็นสาเหตุให้คนเครียด ซึมเศร้า โดยเฉพาะวัยรุ่น หนุ่มสาว แต่มองในมุมกลับ ครอบครัวต้องเป็นหลักให้กันและกัน และทุกอย่างจะมีผลในแง่ดี

ผลพลอยได้จาก“โควิด” ดิฉันกลายเป็น“เช็ฟ นานาชาติ”(Chef Inter) เนื่องจากร้านอาหารปิดหมด 1 ปีแรก ดิฉันลงมือทำอาหารเอง อิตาเลียน ฝรั่งเศษ เยอรมัน สแปนิช เป็นต้น และสิ่งดีอีกอย่างคือ โรงเรียนผู้ใหญ่ที่ดิฉันเรียนสแปนิชรวม 5 ปี พอเริ่มโควิด ร.ร.ปิดๆเปิดๆนักเรียนจึงลงทะเบียนน้อย สองเทอมที่ผ่านมาโรงเรียนยกเลิกคลาสเพราะนักเรียนไม่พอ ดิฉันเซ็งมากไม่อยากลืมภาษา แต่ไปเจอโปรแกรม Duolingo สแปนิชคลาสออนไลน์ ดีมากๆช่วยในการสนทนา ดิฉันไปได้เร็วเพราะแน่นหลักไวยากรณ์จากโรงเรียน ตอนนี้ดิฉันสามารถสนทนาภาษาสแปนิชได้ แล้วค่ะ “เย!!!”  ต้องขอบคุณ“โควิด”

สวัสดีปีใหม่นะคะ  เรามามองโลกในแง่ดีกัน

ช่วงถือศีล 40 วัน

คอลัมน์นี้เรามารู้จักวันศาสนาที่คัญของคนอเมริกันคือวัน“อีสเต้อร์”(Easter) วันอีสเต้อร์ในอเมริกาไม่เป็นวันหยุด ราชการเหมือนบางประเทศคริสเตียนอื่นๆ เพราะตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ข้อ 1 คือ “อิสรภาพในการนับถือศาสนา” “Freedom of Religion” รัฐบาลไม่สามารถโปรโหมด (promote) ศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ (แต่ “คริสมัส” วันคล้ายวันประสูติพระเยซู เป็นวันหยุดราชการ ไม่มีใครโต้แย้ง 😄)  วันอีสเต้อร์จะตรงกับวันอาทิตย์ ปีนี้คือวันที่ 9 เมษา แต่ละปีวันอีสเต้อร์จะไม่ตรงกัน วิธีคำนวนวันอีสเต้อร์คือจะเป็นวันแรกของวันพระจันทร์เต็มดวง หลังจากวัน“วิษุวัติ” หรือ วัน“เอควิน็อกซ์” (Equinox) คือวันที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันของฤดูใบไม้ผลิ เรียก “สปริง เอควิน็อกซ์” (Spring Equinox) ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มีนาคม ถึง 25 เมษายน 

วันสำคัญทางศาสนาก่อนวันอีสเต้อร์

วัน“แอ๊ช เว๊นส์เดย์” (Ash Wednesday) เป็นวันเริ่มแรกของเทศกาลอีสเต้อร์ ปี 2023 นี้ตรงกับวันที่ 22 กุมภา ผู้ที่เคร่งศาสนาจะเริ่มถือศีลวันนี้ ตามพระคัมภีร์ ตรงกับวันพุธเป็นวันแรกพระเยซูเริ่มอดอาหารเพื่อปฏิบัติธรรม ท่านและสาวกเดินเท้าข้ามทะเลทรายผ่านความธุรกันดารเป็นเวลา 40 วัน จนมาถึงเมืองเยรูซาเล็ม (Jerusalem) สาเหตุที่เรียกว่า วัน “แอ๊ช เว๊นส์เดย์” (Ash Wednesday)  “แอ๊ช” แปลว่า ขี้เถ้า วัน “แอ๊ช เว๊นส์เดย์” คือ“วันรับขี้เถ้า” ชาวคริสเตียนที่เคร่ง จะไปโบสถ์ฟังสวดวัน  “แอ๊ช เว๊นส์เดย์”  และบาทหลวงจะเจิมขี้เถ้าให้ที่หน้าผาก (ดูรูป) เป็นรูปไม้กางเขน สัญลักษณ์ขี้เถ้า คือตามพระคัมภีร์กล่าวว่า ขี้เถ้ามาจากการเผาใบปาล์ม เหตุผลที่ใช้ขี้เถ้าเจิมหน้าผาก (ดูรูป) เป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนให้เรารำลึกว่า  “เราเกิดมาจากขี้เถ้า เมื่อตายเราก็กลายเป็นขี้เถ้า” “Remember, Man is dust, and unto dust you shall return”.  

วัน“ปาล์ม ซันเดย์” (Palm Sunday) พระเยซูเดินทางเข้าเมืองเยรูซาเล็ม ตรงกับวันอาทิตย์ เรียกวันนั้นว่า วัน “ปาล์ม ซันเดย์” ผู้คนที่ศรัทธารอรับท่านอยู่ที่ประตูเมือง พวกเขาได้โปรยใบปาล์มลงบนพื้นเพื่อให้ท่านเดินบนใบปาล์ม ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษา (ดูรูป วันปาล์ม ซันเดย์ ที่สามีถ่ายมา) โบสถ์“เชิร์ช อ๊อฟ แอนนันซิเอชั่น” (Church of Annunciation) ในเมือง “นาซาเร็ทซ์”(Nazareth) ซึ่งเป็นบ้านเกิดสามีและบ้านอยู่ใกล้โบสถ์ รัฐบาลได้สถาปนาที่ตั้งโบสถ์นี้เป็นสถานที่สำคัญของศาสนาคริสต์และของพวกนักแสวงบุญ ตามประวัติศาสตร์สถานที่ตั้งโบสถ์นี้เชื่อว่าเป็นที่ตั้งบ้านเดิมของพระแม่มารี และสถานที่พระเยซูเติบโตมา

วัน“กู๊ด ฟรายเดย์” (Good Friday) 5 วันหลังวัน “ปาล์ม ซันเดย์” ซึ่งตรงกับวันศุกร์ มีสาวกผู้หนึ่งที่ทรยศต่อพระเยซูแอบไปแจ้งทหารโรมันว่าพระเยซูประกาศตนเป็นบุตรพระเจ้า  เมื่อกษัตริย์โรมันรู้เข้าท่านได้สั่งทหารฆ่าพระเยซู พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนและเดินไปตามท้องถนน ท่านสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในวันศุกร์นั้น เรียกวันนั้นว่า “กู๊ด ฟรายเดย์” (Good Friday) ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาคริสต์เล่าว่า พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์

วัน“อีสเต้อร์” 2 วันต่อมาซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ หลังจากที่พระเยซูถูกฝัง เมื่อผู้ศรัทธาไปที่หลุมฝังศพพระเยซู ปรากฏว่าไม่มีร่างท่าน พวกเขาเชื่อว่าพระเยซูคืนพระชนม์และขึ้นสวรรค์ ความเชื่อนี้ คือรากฐานสำคัญของศาสนาคริสต์ว่า พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อลบบาปของมนุษย์ เรียก“เรสเซอเร็กท์ชั่น อ๊อฟ จีซัส” (Resurrection of Jesus) 

วันที่ท่านคืนพระชนม์เรียกว่าวัน “อีสเต้อร์ ซันเดย์” (Easter Sunday) บางนิกายกล่าวว่า 3 วัน ฉะนั้นบางนิกายเรียก “อีสเต้อร์ มันเดย์” (Easter Monday)  รากศัพท์คำว่า “อีสเต้อร์” มาจากหลายสายแล้วแต่ประเทศใดจะแปล อันที่ดิฉันชอบมากที่สุดคือ “อีสเต้อร์” มาจากเทพเจ้าหญิงชื่อ “เอ็สเต้อร์” (Eostre) เป็นเทพเจ้าที่บูชากันในฤดูใบไม้ผล ถือเป็นเทพเจ้าแห่งการ ผลิตผล เริ่มฤดูใบไม้ผลิ ฤดู “สปริง” (Spring)

ถือศีล 40 วัน ช่วง“เล็นท์” (Lent)

เทศกาลถือศีล 40 วัน เรียก “เล้นท์” (Lent) หรือ เทศกาลมหาพรต คนที่เคร่งจะถือศีล โดย “ฟาสท์” (fast) คือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ หรือตั้งใจทำ หรือสละ ละทิ้งอบายมุข เช่น เลิกบุหรี่ ดื่มเหล้า อธิษฐาน บริจาคสิ่งของ และดำเนินชีวิตโดยไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อรำลึกถึงพระเยซูที่ท่านสละชีวิตเพื่อลบบาปของพวกเขา ที่บ้านดิฉันช่วง “เล้นท์” ระหว่าง 40 วันนี้ เนื่องจากสามีดิฉันเป็นคาทอลิค เราไม่ทานเนื้อ นม ไข่ ทุกวันพุธ (วันแอ๊ช เว๊นส์เดย์) และวันศุกร์ (“กู๊ด ฟรายเดย์”)

สิ่งสูงสุดที่ดิฉันได้รับมาจากความเข้าใจในประวัติ ความสำคัญของ “อีสเต้อร์” คือประโยคที่พระเยซูกล่าว “We all have a cross to bear”.  ดิฉันแปลตรงตัว “เราทุกคนแบกไม้กางเขนกับตัว” ทุกเช้าวันเสาร์ดิฉัน bake ขนมและสามีทำกาแฟ มีเพื่อนบ้าน 5 คนมาร่วมกัน (ดิฉันทำมานานกว่า 20 ปี) ลูกชายดิฉันเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งวันเสาร์นั้น ลูกชายมีอารมณ์ ดิฉันเหนื่อยใจมาก เพื่อนบ้านชาวไอริช คาทอลิค พูดประโยคนี้ให้ดิฉันฟัง จากพระคัมภีร์ “We all have a cross to bear”. ดิฉันตีความหมาย ว่า “ไม้กางเขนนั้นก็คือลูกชาย ที่ดิฉันต้องแบกเขาไปตลอดชีวิต” ทำให้ดิฉันสงบลงได้ Happy Easter นะคะ

การเปลี่ยนแปลงในอิมมิเกรชั่นระยะ 1 ปีที่ผ่านมา

สวัสดีปีใหม่ 2023 (พ.ศ. 2566) ต่อทุกคนนะคะ ดิฉันหายไป 2 เดือน เราไปฉลองปีใหม่ใปเมืองไทย หลังจากไม่ได้ไปมา 3 ปี เราแฮ็ปปี้มากๆค่ะ อากาศเดือนธันวาและมกราสุดยอด พอกลับมา ดิฉันก็นั่งมองโต๊ะทำงาน เฮ้อ!
ข่าวอิมมิเกรชั่นก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ตามที่ ปธน ไบเดน ประกาศตอนหาเสียงว่าเขามีความตั้งใจจะ หาวิธีช่วยให้โรบินฮู้ดได้ทำงานอยางถูกกฎหมาย ช่วงระยะที่ผ่านมา สงครามในยูเครน ผู้ลี้ภัยยูเครนทะลักเข้ามาอเมริกามาก ถือเป็น “พรายออริตี้” (priority) ที่รัฐบาลต้องช่วยพวกผู้ลี้ภัยก่อน นึกอย่างนี้แล้วกันนะคะเพื่อสบายใจขึ้น พวกเราที่อยู่ในอเมริกาถึงจะอยู่เถื่อน แต่เราก็อยู่อย่างปลอดภัย เราไม่ได้ลี้ภัย


สองการเปลี่ยนแปลงในอิมมิเกรชั่นระยะ 1 ปีที่ผ่านมา
ระยะเวลาขอใบเขียวชั่วคราวเร็วขึ้น
ปีแรก ชุดคณะรัฐบาลไบเดน ระยะเวลาขอใบเขียว กรุ๊บ เพร็ฟเฟอเร็นซ์ คือ คู่สมรสของซิติเซ่น ขอใบเขียวให้พ่อ/แม่ และ บุตรที่อายุต่ำกว่า 21 ปีของซิติเซ่น ระยะเวลาทำใบเขียวค่อยๆเร็วขึ้น ในช่วงกลางปีที่แล้ว ระยะเวลารอประมาณ 1 ปี ซึ่งช่วง ชุดคณะรัฐบาล ทรัมพ์ ระยะเวลารอใบเขียวช้ามากประมาณ 1 ½ -2 ปี
ข้อเปลี่ยนแปลงที่สองคือ นอกจากระยะเวลาทำใบเขียวจะเร็วขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว หลายเคสที่ดิฉันยื่น ไม่ต้องมีการไปสัมภาษณ์ที่อิมมิเกรชั่นออฟฟิส ทางอิมมิเกรชั่นเพียงขอให้ส่งหลักฐานพิสูจน์ว่าแต่งงานจริง หลังจากเราส่งหลักฐานต่างๆเข้าไป จะได้รับคำตอบทันทีว่าเคสผ่าน และลูกความได้ใบเขียวทางไปรษณีย์ มีบางเคสที่ลูกความได้ใบเขียวโดยไม่ได้ขอหลักฐานพิสูจน์
แต่ไม่ทุกเคสนะคะ การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ เริ่มจากข้อมูลในฟอร์มที่คุณกรอก ประเด็นหลายอย่าง ตั้งแต่ประวัติการเข้าออกอเมริกาของคุณ เข้ามาด้วยวีซ่าอะไร แต่งงานเมื่อไร สถานภาพของคุณ โสด สมรส หรือหย่า แต่งและหย่ากี่ครั้ง อายุคุณและคู่สมรส ประวัติที่อยู่ ที่ทำงาน ของคุณและคู่สมรสซิติเซ่น ในระยะ 5 ปี ว่าทั้งสองอยู่ใกล้หรือไกลกันแค่ไหน ประวัติของซิติเซ่น ว่าเคยทำใบเขียวให้คนอื่นมาก่อนหรือไม่ กี่ครั้ง และหน้าที่ตำแหน่งการงานและรายได้ของซิติเซ่น ถ้าตัวซิติเซ่นประวัติหลักฐานการงานไม่ดี รายได้ต่ำ อาจเป็นข้อเพ่งเล็งว่ารับจ้างแต่งงานหรือไม่ เป็นต้น สรุปข้อมูลบนฟอร์มที่คุณกรอกจึงสำคัญมาก
ระยะเวลาขอใบเขียวถาวรนานขึ้น
ถ้าคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวร อาจใช้เวลานานถึง 2 ปี เพราะเมื่อต้นเดือนมกราคม ทางอิมมิเกรชั่นประกาศว่า เริ่มวันที่ 25 มกราคม 2023 ผู้ที่ยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปี อิมมิเกรชั่นจะออกจดหมายตอบรับเคส จดหมายนั้นยืดอายุเป็น 2 ปี แทนที่จะเป็น 1½ ปี ระหว่างรอ คุณจะใช้จดหมายตอบรับและใบเขียว 2 ปีที่หมดอายุควบคู่กัน แทนใบเขียว คุณสามารถเดินทางออกประเทศได้ ข้อเตือน อย่าออกเกิน 1 ปี ถ้าคุณคิดว่าจะออกนอกประเทศเกิน 1 ปี ทางอิมมิเกรชั่นแนะนำให้คุณขอ “รีเอ็นทรี่ เพอร์มิท” (Reentry Permit) ฟอร์ม I-131 ก่อน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตอนกลับเข้าประเทศ อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าขอใบเขียว 10 ปีใช้เวลานานขึ้น จะเป็นผลกับการขอซิติเซ่น เพราะโดยปกติผู้ที่ได้ใบเขียวจากการแต่งงานกับซิติเซ่น สามารถยื่นเรื่องขอซิติเซ่นได้ภายใน 3 ปี นับจากวันที่ได้ใบเขียวแรก (คนทั่วไปต้องถือใบเขียว 5 ปี จึงยื่นเรื่องขอซิติเซ่นได้) อันนี้ก็ต้องรอดูไปนะคะ

สวัสดีปีใหม่ จากครอบครัวดิฉัน รูปนี้ถ่ายช่วงคริสมัส 2022 ที่ Monsoon Valley Vineyard ที่หัวหินค่ะ

วิธีขอใบเขียวให้คู่สมรสและลูกเร็วที่สุด

สวัสดีฤดูใบไม้ร่วง “ออทัมน์ หรือ ฟอล” (Autumn or Fall) ฤดูใบไม้ร่วงรัฐคาลิฟอร์เนียตอนใต้ โดยเฉพาะแถบที่ดิฉันอยู่ อากาศดีมากค่ะ ไม่หนาวจัดเหมือนแถบตะวันตก และสวยมากเวลาใบไม้ร่วง

คอลัมน์นี้ดิฉันเขียนเรื่อง วิธีทำใบเขียวให้คู่สมรส ลูก และหลาน ให้เร็วที่สุด ตามกฎอิมมิเกรชั่นแบ่งใบเขียวเป็น 5 กรุ๊บตามลำดับครอบครัว คือ คู่สมรส พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง จำนวนโควต้าต่างกันแต่ละกรุ๊บ กรุ๊บไหนมีคนขอมาก ล้นโควต้าก็ต้องคอยเป็นปีๆ คอลัมน์นี้ดิฉันจะเขียน 2 หัวข้อ คือ วิธีเอาคู่สมรส ลูก และหลานมาอเมริกาให้เร็วที่สุด

ซิติเซ่น

กรณีคุณแต่งงานกับซิติเซ่น ซิติเซ่นสามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวให้คุณ และลูก ที่อายุต่ำกว่า 21 ปีไม่สมรส กรณีคุณและลูกอยู่เถื่อนในอเมริกา (ผู้ถือใบเขียว ไม่สามารถขอใบเขียวให้คู่สมรส และลูกที่อยู่เถื่อนในอเมริกาได้ เขาต้องรอให้ได้ซิติเซ่นก่อน)  กรุ๊บนี้ไม่อยู่ภายใต้โควต้า จึงขอได้เร็ว ปัจจุบันระยะเวลาดำเนินเรื่องประมาณ 1 ปี+ 

ใบเขียวเงื่อนไข กรณีได้ใบเขียวจากการสมรสกับซิติเซ่น คือ ถ้าคู่สมรสขอใบเขียวให้คุณและลูกภายใน 2 ปีหลังจดทะเบียน คุณและลูกจะได้ใบเขียวเงื่อนไขหรือใบเขียวชั่วคราว 2 ปี (เพื่อป้องกันการแต่งงานปลอม) และเมื่อครบ 2 ปีนับจากวันที่ได้ใบเขียว ถ้าคุณยังอยู่กินกับคู่สมรส คู่สมรสและคุณต้องยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวรหรือ ใบเขียว 10 ปีด้วยกัน กรณีหย่า คุณสามารถยื่นใบเขียว 10 ปีด้วยตนเองแต่ต้องมีเหตุผลดีพอ

ผู้ถือใบเขียว

ผู้ถือใบเขียว สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวให้คู่สมรสและลูกอยู่เมืองไทยได้ (ผู้ถือใบเขียว ไม่สามารถขอใบเขียวให้คู่สมรสที่อยู่เถื่อนในอเมริกาได้)  ปัจจุบันโควต้าใบเขียวกรุ๊บนี้มีจำนวนเหลือมาก ฉะนั้นไม่ต้องรอโควต้า ระยะเวลาดำเนินเรื่องประมาณ 1 ปี+ 

ข้อดี (1) กรณีคู่สมรส มีลูกเล็ก อายุต่ำกว่า 21 ปีไม่สมรส อาจเป็นลูกติดของคู่สมรส หรือลูกของคุณ คุณสามารถขอใบเขียวให้คู่สมรสและลูก ที่อายุต่ำกว่า 21 ปี ได้ ในเคสเดียวกัน คือขอใบเขียวให้คู่สมรสเคสเดียวและพ่วงเด็กมาได้ เท่ากับคุณประหยัดค่าธรรมเนียมอิมมิเกรชั่น ค่าฟอร์ม I-130 $535 กรณีมีลูกพ่วงมา 2 คน แทนที่จะจ่าย $535 x 3 = $1,605 (ตัวอย่างเดียวกัน ถ้าซิติเซ่นยื่นเรื่อง ต้องยื่นเรื่องแต่ละเคส เพราะไม่สามารถพ่วงลูกมาได้)

ข้อดี (2) กรณีแต่งกับผู้ถือใบเขียว คู่สมรสจะได้ใบเขียวถาวรหรือใบเขียว 10 ปีเลย จึงประหยัดเงินค่าธรรมเนียมทำใบเขียว 10 ปี เคสละ $680

กรณีต้องการเอาลูก หลานมาอเมริกา

ผู้ถือใบเขียว ถ้าคุณมีลูก หลาน ทันทีที่คุณได้ใบเขียว แนะนำให้คุณยื่นขอใบเขียวให้ลูกอายุเกิน 21 ปี ไม่สมรสหรือ หย่า ทันที เพราะ กรณีเขามีเด็กเล็กๆ (หลานคุณ) เด็กจะได้พ่วงพ่อหรือแม่มาได้ (คือคุณจ่ายค่าธรรมเนียมอิมมิเกรชั่น $535 เคสเดียวให้ลูก)  ถ้าเขายังอายุไม่เกิน 21 ปี เมื่อโควต้ามาถึง โควต้ากรุ๊บนี้ปัจจุบันรอประมาณ 7  ปี  ผู้ถือใบเขียวไม่สามารถขอใบเขียวให้ลูกที่สมรสได้

ซิติเซ่น สามารถยื่นขอใบเขียวให้ลูกอายุเกิน 21 ปี ไม่สมรสหรือ หย่า ได้ โควต้ากรุ๊บนี้ปัจจุบันรอประมาณ 8 ปี และซิติเซ่น สามารถยื่นขอใบเขียวให้ลูกสมรสได้  โควต้ากรุ๊บลูกสมรสปัจจุบันรอประมาณ 13 ปี แนะนำให้คุณยื่นเรื่องใบเขียวให้ลูกทันที โดยเฉพาะกรณีเขามีเด็กเล็กๆ (หลานคุณ) เด็กจะได้พ่วงพ่อหรือแม่มาได้ ถ้าเขายังอายุไม่เกิน 21 ปีเมื่อโควต้ามาถึง ระหว่างรอเรื่อง ถ้าลูกหย่ากับคู่สมรส เขาก็จะเปลี่ยนกรุ๊บจากลูกสมรสเป็น กรุ๊บลูกไม่สมรส ระยะเวลารอก็จะเร็วขึ้นเป็น 8 ปี

ข้อแนะนำ

ทันทีที่คุณได้ใบเขียว และคุณต้องการเอาลูกและหลานมาอยู่อเมริกา ถ้าลูกคุณไม่สมรสหรือหย่า (หรือต้องไปหย่า)แนะนำให้คุณยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ลูกทันที เพื่อจะได้ล็อคโควต้าไว้ (ไม่ต้องถามลูกหรอกค่ะ ว่าอยากมาไหม 😄 เพราะเปลี่ยนใจกันได้) เพราะเวลาดำเนินเรื่องใบเขียว ดิฉันจะเปรียบเทียบว่า เข็มนาฬิกาเดินไปเรื่อยๆ (The clock is ticking)  และ เวลาเป็นเงินเป็นทอง (Time is of the essence) โดยเฉพาะต้องคำนวนอายุเด็กเป็นสำคัญ ถ้ารอโควต้านาน เมื่อโควต้ามาถึง เด็กอายุเกิน 21 ปี หรือ “เอจ เอ๊าท์” (age out)  เด็กไม่สามารถพ่วงพ่อ หรือ แม่มาได้

เที่ยว“มิดเวสท์”กับดิฉัน

คอลัมน์นี้เขียนรวบยอด 2 เดือนเลยนะคะ ที่ดิฉันหายไป เพราะ“พี่ต้อย”พี่สาวคนโตมาหาจากเยอรมันี เราไม่ได้เจอกัน 3 ปีเนื่องจากโควิดและพี่เขยพึ่งเสียชีวิตปลายปีที่แล้ว เราแฮ็ปปี้มากจุ๊กจิ๊กกันทั้งวัน “พี่อั๋น”และ“พี่แด๋น”เพื่อนสนิทจุฬาฯพี่ต้อย พี่ทั้งสองเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้ากว่า 40 ปีก่อน ได้ชวนเราไปหาและรับอาสาพาเราเที่ยวแถบ “มิดเวสท์” เที่ยวครั้งนี้นอกจากจะได้สนิทและใช้เวลากับพี่ต้อย  ดิฉันได้เรียนรู้ประวัติอเมริกาเกี่ยวกับรัฐแถบ“มิดเวสท์” และการบุกเบิกหรือ“ไมเกรชั่น” (migration) ของผู้อพยพจากพี่อั๋นและพี่แด๋น 

4 เขต ของอเมริกา

ก่อนอื่นทำความรู้จักการแบ่งเขตอเมริกา เป็น 4 เขต ตามโซนเวลา

1. เขตฝั่งตะวันออก เรียก“อีสเทร์น” (Eastern) 

2. เขตภาคกลาง เรียก “เซ็นทรัล” (Central)  

3. ถัดไปทางตะวันตก เรียก “เมานเท่น” (Mountain)  เพราะมีเทือกเขาเยอะ และ

4. ฝั่งตะวันตก เรียก “ปาซิฟิค” (Pacific)

เพราะเรียบฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิค  ดูรูป ไทม์โซน 4 เขตนอกนั้น รัฐอลาสก้า และ รัฐฮาวาย มีไทม์โซนของตนเอง

“มิดเวสท์” และ“เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”

ภาคเซ็นทรัล แบ่งเป็น 2 เขต รัฐทางเหนือ และรัฐทางใต้ ตอนเหนือ เรียก “มิดเวสท์” และรัฐตอนใต้ เรียก “เซ๊าท์เท่อร์น สเตทส” ดูรูป แผนที่ เขตแบ่งแยก“มิดเวสท์” และ“เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”

“มิดเวสท์” (Midwest) รัฐทางตอนเหนือติดชายแดนประเทศแคนาดา  ถึงตอนกลางของภาค มี 12 รัฐคือ นอร์ทดาโคต้า, เซาท์ดาโคต้า, มินนิโซต้า, วิสคอนซิน, มิชิแกน, เนบราสก้า, ไอโอว่า, อิลลินอยส์, อินเดียน่า, โอไฮโอ, แคนซัส, และ มิสซูรี่ นอกนั้นเป็นรัฐตอนใต้ “เซ๊าท์เท่อร์นสเตทส”(Southern States) รวม เท็กซัส โอคลาโฮม่า อาร์คันซอส์ เท็นเน็สซี่ เค็นตั๊กกี้ หลุยเซียน่า มิสซิสซิปปี้ และอลาบาม่า บวกรัฐทางตอนใต้ฝั่งตะวันออก สาเหตุของการแบ่งแยกรัฐ คือ  ปี ค.ศ. 1860 (2403) ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศเลิกระบบทาส รัฐทางใต้เป็นรัฐที่ใช้แรงงานทาสในการทำไร่ฝ้ายและยาสูบ จึงไม่ต้องการเลิกทาส เซาท์แคโรไลนาเป็นรัฐแรกที่ประกาศแยกตัวทำสงครามกับรัฐที่ต้องการเลิกล้มระบบทาส หลังจากนั้นรัฐ มิสซิสซิปปี้รัฐเทนเนสซี่ และรัฐทางใต้อีกหลายรัฐ ทะยอยร่วม และประกาศแยกตัวเป็นออกจากสหพันธรัฐ เป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ หรือสงครามเลิกทาส

การเดินทาง

เราบินจากสนามบิน “ลองบีช” (Long Beach) คาลิฟอร์เนียไปสนามบิน “เดนเว่อร์” (Denver) โคโลราโด เขต“เมานเท่นส์” เวลาต่างกับคาลิฟอร์เนีย 1 ชั่วโมง เขต“เมานเท่นส์” มีภัยธรรมชาติ คือพายุไต้ฝุ่น ที่สนามบิน หน้าห้องน้ำ หญิง ชาย จะมีป้ายเขียนว่า “ทอร์นาโด้ แช็ลเต้อร์” (Tornado Shelter) หรือที่หลบภัยใต้ฝุ่น ยกเว้นห้องน้ำสุนัข ดูรูป 😁 ดิฉันไปถามพนักงานว่าป้ายนี้เขาหมายถึง ทอร์นาโดจริงๆหรือมีมุขตลกเรียกห้องน้ำว่าที่หลบพายุ เขาหัวเราะและโชว์รูปทอร์นาโดที่ลานสนามบินให้เราดู เป็นความรู้ใหม่สำหรับดิฉันว่าแถบเมาน์เท่นมีภัยธรรมชาติคือ ทอร์นาโด

เราต่อเครื่องไป เซ็นท์ พอล มินนิโซต้าถึงบ่ายสายๆ“พี่อั๋น”และ“พี่แด๋น”มารับ  เวลามินนิโซต้าต่างกับคาลิฟอร์เนีย 2 ชั่วโมง เรานอนที่เซ็นท์ พอล 2 คืน รุ่งขึ้นพี่เขาพาเราไปเดินเรียบแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ดิฉันได้ความรู้เพิ่ม เกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำและการอพยพหรือ “ไมเกรชั่น” ของพวกบุกเบิกและพวกอพยพ

แม่น้ำมิสซิสซิปปี้

แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของ “มิดเวสท์” ทั้งในด้านการเดินทางและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แถบแม่น้ำมีพื้นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ พวกคนพื้นถิ่น-อินเดียนแดงตั้งรกรากอยู่สองฝั่งน้ำมา คำว่า “มิสซิสซิปปี้” มาจากภาษาพื้นถิ่น คนอินเดียนแดงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “บิดาของแม่น้ำ” หรือ “เดอะ ฟาเท่อร์ อ๊อฟ วอเท่อร์ส” (The Father of Waters)  คำ “มิสซิ” (misi) แปลว่า ใหญ่ “ซิปปี้” (sipi)  แปลว่าน้ำ ต้นน้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เริ่มต้นจากรัฐมินนิโซต้าติดประเทศแคนาดา มาจากทะเลสาปเล็กๆหลายทะเลสาปและไหลลงใต้ ผ่านรัฐทั้งหมด 6 รัฐคือ รัฐมินนิโซต้า รัฐไอโอวา  รัฐอิลลินอย รัฐมิสซูรี รัฐเทนเนสซี และ รัฐหลุยเซียน่า ที่เมืองนิว ออร์ลีนส์ และออกอ่าวเม็กซิโก ที่เมือง เซ็นตหลุยส์ รัฐมิสซูรี แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไปบรรจบกับแม่น้ำมิสซูรี่ เรียกว่า แม่น้ำมิสซิสซิปปี้-มิสซูรี่ Mississippi-Missouri River ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญและยาวที่สุดของอเมริกา  ดูรูป สายน้ำ แม่น้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปี้-มิสซูรี่

การอพยพ “ไมเกรชั่น” (Migration)

วันรุ่งขึ้นเราไปเดินเรียบแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ดูรูป พี่อั๋นเล่าประวัติพวกผู้อพยพที่“ไมเกรท” (migrate) เข้าแถบมิดเวสท์ คือ ปีค.ศ. 1783 (2326) หลังสงครามปฏิวัติระหว่างอเมริกาและอังกฤษสิ้นสุดลง อังกฤษรับรองให้รัฐเมืองขึ้น 13 รัฐเป็นรัฐเอกราชและให้ดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นพวกบุกเบิก “เซ็ทเล่อร์” (Settlers) “ไมเกรท” หาอาณานิคมใหม่ทางตะวันตกเฉียงตอนเหนือเรียก “นอร์ทเวสท์ แทริโทรี่” (Northwest Territory) เริ่มจากเรียบติดฝั่งแคนาดา แต่เพราะตอนเหนืออากาศหนาวจัด มีหิมะและธารน้ำแข็ง ปลูกพืชไม่ได้ ได้แต่ต้นไม้ใหญ่ ผู้คนจึงตั้งรกรากอยู่น้อย เรียบลงมาทางใต้อากาศไม่หนาวจัด ดินดี อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวสาลีได้ดี และมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่นถ่านหิน น้ำมัน และเหล็ก เหมาะทั้งการกลิกรรมและอุตสาหกรรม เพราะสามารถใช้พลังน้ำจากแม่น้ำปั่นเครื่องจักรได้ ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาจากยุโรปโดยเฉพาะชาวเยอรมันและชาวแสกนดิเนเวียน ดูรูป สองอุตสาหรรมใหญ่เกิดขึ้นคือ โรงงานผลิตแป้ง “พิลส์เบอรี่” (Pillsbury) และ“โกลด์ เม็ดเดิล” (Gold Medal) ชาว “โบฮีเมียน” (Bohemian) พวกยิปซีจากแถบประเทศเช็คส์ (Czech) ได้หลั่งไหลกันเข้ามาทำงานโรงแป้ง พวกเขาตั้งรกรากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เราไปดูจุดอนุสรณ์หมู่บ้านชาวโบฮีเมียน “โบฮีเมียน แฟลทส์” (Bohemian Flats) ดูรูป ความเฉิ่มของดิฉันพยายามมองหาตึกแฟลทส์ แต่ที่จริงคำว่า“แฟลทส์” ในที่นี้แปลว่า “ที่ราบ”  ดูรูป

ปี ค.ศ. 1803 (2346) อเมริกาซื้อรัฐ “หลุยเซียน่า” จากฝรั่งเศษ เป็นการขยายดินแดนกว้างของที่ราบตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำมาซิสซิปปี้ คลอบคลุมทุ่งหญ้ากว้างใหญ่มาก เรียกแถบนี้ว่า “เดอะ เกรท เพลนส์” (The Great Plains) เปิดทางให้พวกบุกเบิกและผู้อพยพไปลงทางตอนใต้ คนพื้นถิ่น-พวกอินเดียนแดงอยู่แถบนี้มาหลายพันปีก่อน แถบนี้เป็นแถบพื้นที่ราบ และที่ราบสูง ทำนา เลี้ยงฟาร์ม  ทำกสิกรรมได้ดีมาก ผู้อพยพได้รุกร้ำเข้าดินแดนพวกอินเดียนแดงที่อยู่มาก่อน ภายหลังรัฐบาลและพวกอินเดียนแดงได้ทำสนธิสัญญา จัดสรรเขตให้ที่ดินพวกอินเดียนแดงอยู่ เรียก เรเซอร์เวชั่น (reservation)

รัฐวิสคอนซิน 

จาก เซ็นท์ พอล พี่อั๋นขับรถไปวิสคอนซิน สโลแกนของรัฐ คือ อเมริกา’ส เดรี่แลนด์ (America’s Dairy land) เพราะเป็นรัฐ นม เนย ไข่ อุดมสมบูรณ์ ระหว่างสองข้างทาง เห็นแต่พื้นราบ เขียวชอุ่ม มองแล้วเหมือนนาข้าวเมืองไทย เห็น ธารน้ำเล็กๆมาตลอด ในธารมีแหนและผักตบชวา ไม่เห็นต้นไม้ใหญ่ และไม่เห็นวัวสักตัว พี่อั๋นบอกว่า รัฐวิสคอนซินมีหน้าดินตื้น จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นสน ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งใช้เป็นอาหารวัว และวัวที่นี่เป็นวัวนม ไม่ใช่วัวเนื้อ วัวถูกเลี้ยงในโรงนา ไม่อยู่ตามทุ่ง ระหว่างทางเราแวะร้านขายของที่ระลึกซื้อ “ชีส” (cheese) คนงานในร้านหลายคนพูดมีแอ๊กเซ่นเยอรมันส่วนมาก ดูรูปเจ้าหนูแทะ cheese หน้าร้าน เห็นแล้วน่าเข้า

เรานอนที่วิสคอนซิน 3 คืน สองคืนที่เมือง “เคโนช่า” (Kenosha) ภาษาอินเดียนแดง เป็นชื่อปลา “ไพ๊ค” (pike) หรือ “พิคเคอเรล” (pickerel) แถบนี้เป็นพื้นที่คนพื้นถิ่น-อินเดียนแดงอยู่มาก่อน แอร์ บีเอ็นบี ที่พักเรา เดิน 5 นาทีถึงทะเลสาปมิชิแกน “เล๊ค มิชิแกน” (Lake Michigan) เราออกไปเดินเล่นชายทะเลสาปตอนเช้า ดูรูป

ทะเลสาปมิชิแกน ท้องฟ้าสวยมาก

เราได้ไปดูบริเวณหมู่บ้านคนอินเดียนแดง เงียบสงบ ไม่มีคนเดินพลุกพล่าน มีแต่บ้านเนื้อที่กว้าง อยู่ห่างกัน มีถังน้ำและเครื่องปั้มน้ำอยู่นอกบ้าน โรงเรียนเด็ก โบสถ์เล็กๆ และที่น่าสนใจคือ สุสานคนอินเดียนแดง เรียก “อินเดียนมาวนด์ส” (Indian Mounds) หลุมศพ ทำง่ายๆ คือแค่ขุดดิน ฝัง และกลบดินเป็นเนิน ปักป้าย คนมีเงินหน่อยก็ทำหินสลักชื่อ ดูรูป

อินเดียน มาวนด์ส (Indian Mounds)

เมืองเคโนช่าอยู่ห่างจากเมืองเล็กๆชื่อ“บริสตอล” (Bristol) ซึ่งอยู่ติดชายแดน “ชิคาโก” (Chicago) เพราะมีโปรแกรมที่จะไปดูงานแฟร์ที่ หลานชายดิฉันไปออกร้านเปิดบูทซ์ขายสินค้า ศิลปะ ที่งาน“บริสตอล เรอเนซองส์ แฟร์” (Bristol Renaissance Fair) เป็นงานออกร้านใหญ่มีชื่อเสียง ปีละครั้ง 9 สัปดาห์ วันสุดสัปดาห์ ต้นกรกฏาถึงกันยา สินค้าเป็นศิลปะ ยุค เรอเนซองส์ คนขายแต่งตัวแบบสมัยเรอเนซองส์ คนไปเที่ยวงานส่วนมากแต่งชุดยุคเรอเนซองส์ ดูรูป

“บริสตอล เรอเนซองส์ แฟร์” (Bristol Renaissance Fair)

ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

เรานอนที่ชิคาโก 2 คืน จากเมืองเคโนช่า เข้าชิคาโกประมาณ 2 ชั่วโมง บรรยากาศเปลี่ยนเมื่อเข้าเขตชิคาโก ฟรีเวย์รถติดพอๆกับแอลเอ ชิคาโกเป็นเป็นเมืองที่เจริญเร็วมากและรุ่งเรืองที่สุดใน“มิดเวสท์” ปี ค.ศ. 1890 (2433) ชิคาโกกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม 100% ในขณะที่แถบ “เดอะ เกรท เพลนส์” (The Great Plains) ยังทำกสิกรรม เมืองชิคาโกมีสโลแกนว่า “วินดี้ ซิตี้” (Windy City) เพราะลมแรงมากเนื่องจากดาวน์ทาวน์ ชิคาโกติดริมทะเลสาปมิชิแกน “วินดี้ ซิตี้” ตีอีกความหมายคือ “พ่นเป็นลม” ชิคาโกเป็นเมืองที่มีนักการเมืองจำนวนมากอยู่ ในศตวรรษที่ 19 พวกนักหนังสือพิมพ์เขียนล้อเลียนพวกนักการเมืองว่าพูดจากลับกลอกคือ “พ่นเป็นลม” หลานพาเรานั่งรถไฟฟ้าเข้าดาวน์ทาวน์ชิคาโก ดูโรงเรียนที่หลานเรียน ชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ปาร์ค เราเดินดาวน์ทาวน์ได้ทั้งวัน สำหรับดิฉันชิคาโกคล้ายเมือง “เบอร์ลิน” เยอรมัน เจริญมาก มองทางไหนจะเห็นตึกระฟ้า โรงละคร ดนตรีกลางแจ้ง สวนสาธารณะใหญ่ เด็กรุ่นใหม่พวกหัวอาร์ทิสท์อยู่มาก ชิคาโกได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสถาปัตยกรรมและเป็นแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในดาวน์ทาวน์ดิฉันเห็นสถาบันศิลปะ (Art Institute) 3 แห่ง แต่ละแห่งมี “มิวเซียมแคมปัส” (Museum Campus) โชว์ผลงานของนักศึกษา 

ไฮเวย์สาย  66

จุดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของชิคาโกคือ ไฮเวย์สาย  66 หรือ “รูท ซิกส์-ตี้-ซิกส์” ( Route 66) เปิดใช้ปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) เป็นไฮเวย์ทางหลวงสายแรกของอเมริกา เป็นเส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์ของผู้อพยพ จาก“มิดเวสท์” และ “เดอะ เกรท เพลนส์” ไปฝั่งตะวันตก จุดเริ่มต้นจากเมืองชิคาโก ผ่าน รัฐมิสซูรี่ แคนซัส โอคลาโฮม่า เท็กซัส นิวเม็กซิโก อาริโซน่า สิ้นสุดรัฐคาลิฟอร์เนีย เมือง “แซนตา มอนิก้า” (Santa Monica) เขตลอสแอนเจลิส ความยาว 2,448 ไมล์ (3,940 ก.ม) ดูรูปแผนที่เส้นทางไฮเวย์สาย 66  

พายุฝุ่น“ดัสท์โบล” (Dust Bowl)

ระหว่างปี ค.ศ. 1930 – 1940 (2473-2483) เกิดพายุฝุ่นอย่างรุนแรง เรียก “ดัสท์โบล” (Dust Bowl) เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกายาวนานถึง 10 ปี พายุฝุ่นได้กวาดไปทั่วที่ราบสูง “เกรท เพลนส์”  (Great Plains) จุดที่เริ่มพายุฝุ่นเริ่มจากทางภาคใต้ของแคนซัส ดูรูปล่าง เฉดสีแดง ไปตะวันตกโคโลราโด ตะวันออกรัฐนิวเม็กซิโก เท็กซัสและโอคลาโฮมา ฝุ่นจาก“เกรท เพลนส์” ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 100 ล้านเอเคอร์ที่ราบตอนใต้   “เซ๊าท์เท่อร์น เพลนส์” (Southern Plains) ดูรูปล่าง เฉดสีน้ำตาล และเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1934 (2477) ได้ปล่อยฝุ่น 12 ล้านตันในเมืองชิคาโก พายุฝุ่นนี้เป็นช่วงวิกฤติอย่างรุนแรงปลายปี ค.ศ. 1940 (2483) ผู้คน 2.5 ล้านคนได้ย้ายออกจาก แถบที่ราบอพยพไปตะวันตกโดยใช้เส้นทางไฮเวย์สาย 66  จากจำนวน 2.5 ล้านคน  200,000 คนย้ายไปอยู่คาลิฟอร์เนีย

ไฮเวย์สาย 66  ถูกยกเลิกออกจากระบบทางหลวงปี ค.ศ. 1985 (2528) แต่บนแผนที่ยังมีเขียนว่า“เส้นทางประวัติศาสตร์สาย 66”  หรือ ฮิสตอริค รูท 66 ( Historic Route 66) ปัจจุบันไม่สามารถขับรถได้ตลอดสายเพราะถนนพังมากไม่มีการซ่อมหรือทะนุบำรุง แต่บางส่วนของเส้นทางเดิมรัฐมีการกำหนดให้เป็นเส้นทางชมวิว (National Scenic Highway)

ที่สนามบิน “มิดเวย์” มี ห้องสวดมนต์ ห้องแม่ให้นมลูกกิน และห้องโยคะ ดูรูป ป้ายและห้องโยคะ  ดิฉันได้โยคะก่อนขึ้นเครื่อง พอออกจากห้องโยคะ เดินต่อจะไปเข้าห้องน้ำ เห็นถังขยะสีเขียว ตั้งอยู่หน้าออฟฟิสตำรวจสนามบิน ดูรูป ถังขยะเขียว เขียนว่า “คานาบิส แอมเนสตี้ บ๊อกซ์” (Cannabis Amnesty Box) “คานนาบิส” คือ กัญชา “แอมเนสตี้” คือ การผ่อนผัน/ไม่เอาผิก เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเคยเห็น“ถังขยะให้ทิ้งกัญชา และจะไม่เอาผิด” ทันสมัยดีไหมคะ ชิคาโก !!!

ถังขยะทิ้งกัญชาและจะไม่เอาผิด

ถึงแม้ ปัจจุบันหลายรัฐในอเมริกาได้ผ่านกฎหมายให้ สูบกัญชาเพื่อการพักผ่อนหรือ “เร็คครีเอชั่น” (recreation) ได้ แต่กฎหมายรัฐบาลกลาง “เฟ็ดเดอรัล ลอว์” (Federal Law) ถือว่าผิดกฎหมาย สนามบินเป็นสถานที่ของรัฐบาลกลาง และ “แอร์ เสปซ” (air space) ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นที่สนามบิน และบนเครื่องคุณอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นการมีกัญชาในครอบครอง ผิดกฏหมาย  ข้อเตือนนะคะ อย่านำกัญชาติดตัวเวลาเดินทาง ไม่ว่าจะบิน ขับรถข้ามรัฐเพราะบางรัฐยังถือว่าผิดกฎหมาย และอีกข้อคือ “ไฮเวย์ อินเทอร์เสตท” (interstate highway) ระหว่างรัฐเป็นทางหลวง อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลาง และทางเรือ น่านน้ำทะเลอยู่ภายใต้ กฎหมายรัฐบาลกลาง เช่นกัน!!!!!  

วิธีที่จะเอาครอบครัวมาเมกาได้เร็วที่สุด

แฮ็ปปี้ ซัมเมอร์ค่ะ วันที่ 21 มิถุนาที่ผ่านมาวันแรกของฤดูร้อน และยังเป็นวันโยคะสากล The international day of yoga วันที่ 22 เป็นวัน “ซัมเม่อร์โซลติส” (summer solstice) วันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ที่บ้านดิฉันเราพวกโยกิ (นักเรียนโยคะ) จะมีการฉลอง 4 ครั้งต่อปี ทุกครั้งที่เปลี่ยนฤดู หน้าฤดูใบไม้ผลิเดือนกุมภา หน้าร้อนเดือนมิถุนา หน้าฤดูใบไม้ร่วงกันยา และหน้าหนาว ธันวา ตามหลักอายุรเวชและโยคะ เพื่อร่างกายเราจะได้ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ดูรูป วันเสาร์กลางวัน ที่ 25 มิย. ที่ผ่านมา พวกเราฉลองซัมเม่อร์ หลังจากโยคะเสร็จ อาหารหลักสามีทำ อาหารแขก “ฟาลาเฟล” (falafel) คล้ายๆ “ไบเยียร์” ที่แขกเดินขายที่สนามหลวงเมื่อสมัยดิฉันเด็กๆ คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักไบเยียร์ และดิฉันทำขนมอาหรับ 1 ถาด “บาคลาว่า” (baklava)   และโยกิแต่ละคนทำอาหารชาตินานาชาติมาแจมกันหลังบ้าน  สนุกสนาน

วันนี้คุยเรื่องวิธีใดที่ผู้ถือใบเขียวสามารถเอาครอบครัวมาเมกาได้เร็วที่สุด

 ถ้าคุณได้ใบเขียว “กรีนคาร์ด” (Green Card) หรือเป็น “อเมริกันซิติเซ่น” (American citizen) คุณสามารถขอใบเขียวให้ พ่อ แม่ ลูก พี่ และ น้อง ในเมืองไทย มาอเมริกาได้ คอลัมน์นี้คุยว่าวิธีใดเร็วที่สุด

ระยะเวลารอได้อเมริกันซิติเซ่น

ผู้ที่ได้ใบเขียวจากคู่สมรสอเมริกันเป็นคนยื่นให้ คุณสามารถยื่นเรื่องโอนสัญชาติเป็นคนอเมริกัน หรือ “อเมริกันซิติเซ่น” เรียกย่อๆว่า “ซิติเซ่น” แล้วกันนะคะ ได้เร็วที่สุดประมาณ 5 ปี + แต่ถ้าได้ใบเขียวจากผู้อื่นเช่น พ่อ แม่ พี่น้องขอใบเขียวให้ หรือจากการทำงาน หรือใบเขียวล็อตเตอรี่ ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 7 ปี + กรณีที่เรื่องราบรื่น

ไทม์ไลน์ ถ้าคุณแต่งงานกับคนอเมริกัน คู่สมรสยื่นขอใบเขียวให้คุณที เวลารอเรื่องประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นถ้าคุณทั้งสองอยู่ด้วยกันคือไม่หย่า 3 ปี คุณจึงยื่นเรื่องทำซิติเซ่น เวลารอเรื่องประมาณ 1 ปี  1+3+1 รวม 5 ปี กรณีได้ใบเขียววิธีอื่น คุณต้องรอ 5 ปีก่อนจะยื่นเรื่องทำซิติเซ่นได้ 1+5+1 รวม 7 ปี

วิธีที่จะเอาครอบครัวมาเมกาได้เร็วที่สุด

ทันทีที่คุณได้ใบเขียว คุณสามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ครอบครัวในเมืองไทยได้ทันที ไม่ต้องรอ 5-7 ปีให้ได้ซิติเซ่นก่อน ใบเขียวครอบครัวเรียก “กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์” แบ่งเป็น 5 กรุ๊ป แต่ละกรุ๊บมีโควต้ากำหนดจำนวนใบเขียวที่รัฐบาลออกให้ต่อปี  ถ้ากรุ๊บไหนมีคนขอมากเกินจำนวนโควต้าในปีนั้น จำนวนที่เหลือก็โละไปโปะโควต้าของปีต่อไปและต่อไป บางกรุ๊บรอนานถึง 15 ปี ข้างล่างเป็นกรุ๊บ“กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์”  4 กรุ๊บ ระยะเวลารอ ณ. เดือน กรกฎา ปี 2022 นี้

กรุ๊บ 1    ซิติเซ่น ขอใบเขียวให้ลูกอายุเกิน 21 ปี ไม่สมรสคือไม่จดทะเบียน โสด หรือหย่าแล้ว ระยะเวลารอใบเขียวประมาณ 8 ปี ถ้าลูกมีบุตรเล็กที่อายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรส บุตรจะได้ใบเขียวพ่วงมาด้วย ระยะเวลารอใบเขียว 8 ปี

กรุ๊บ 2 แบ่งเป็น 2A และ2B

กรุ๊บ 2A ผู้ถือใบเขียว ขอใบเขียวให้คู่สมรส และถ้าคู่สมรสมีบุตรเล็กอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรส บุตรจะได้ใบเขียวพ่วงมากับพ่อหรือแม่ด้วย โควต้ากรุ๊บนี้ว่าง ไม่ต้องรอโควต้า ใช้เวลายื่นเรื่องประมาณ 1 ปี และ

ผู้ถือใบเขียว ขอใบเขียวให้ลูกไม่สมรสอายุต่ำกว่า 21 ปี ใช้เวลายื่นเรื่องประมาณ 1 ปีและถ้าลูกมีบุตรเล็กอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรส บุตรจะได้ใบเขียวพ่วงมาด้วย

กรุ๊บ 2B ผู้ถือใบเขียว ขอใบเขียวให้ลูกอายุเกิน 21 ปี ไม่สมรส และถ้าลูกมีบุตรเล็กอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรส บุตรจะได้ใบเขียวพ่วงมาด้วย ระยะเวลารอใบเขียว 7 ปี 

กรุ๊บ 3    ซิติเซ่น ขอใบเขียวให้ลูกสมรสอายุเกิน 21 ปี ระยะเวลารอใบเขียวประมาณ 14 ปี คู่สมรสและ บุตรอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรส จะได้ใบเขียวพ่วงมาด้วย

กรุ๊บ 4    ซิติเซ่นขอใบเขียวให้ พี่หรือน้อง สมรสหรือไม่สมรส ระยะเวลารอใบเขียวประมาณ 15  ปี คู่สมรสและบุตรอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่สมรสจะได้ใบเขียวพ่วงมาด้วย

คุณจะเห็นได้ว่าทันทีที่คุณได้ใบเขียว คุณสามารถยื่นขอใบเขียวให้คู่สมรส และลูกที่ไม่สมรสในเมืองไทย ได้ทันที ไม่ต้องรอเป็นปีๆให้ได้ซิติเซ่นก่อน

ตัวอย่าง

คุณมีลูกชายอายุ 30 ปี เขาอยู่กับเมียแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งสองมีลูก (หลานคุณ) ด้วยกัน 2 คน สมมติอายุ 7 และ 9 ปี ถ้าคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ลูกชายทันทีที่คุณได้ใบเขียวใน กรุ๊บ 2B  ระยะเวลารอ 7 ปี ลูกชาย และลูกเล็กทั้งสองคนได้ใบเขียวติดตามพ่อมา ตอนนั้นหลานก็อายุ 14 และ 16 ปี (ระหว่างนั้นถ้าเขามีลูกเพิ่มมาอีก เด็กก็จะได้ใบเขียวตามมาด้วย) ทันทีที่ลูกคุณและเด็กเดินทางเข้าอเมริการับใบเขียว ตัวลูกคุณสามารถบินกลับไปเมืองไทย และไป จดทะเบียนกับแม่เด็ก และยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ภรรยาในกรุ๊บ 2Aระยะเวลารอ 1 ปี ภรรยาได้ใบเขียว เท่ากับผัว&เมียแยกกันอยู่เพียง 1 ปี ข้อเตือน  ห้ามจดทะเบียนในเมืองไทยก่อนเดินทางไปอเมริกา ต้องเข้ามารับใบเขียวในอเมริกาก่อน ถึงกลับไปจดทะเบียน ไม่อย่างนั้นเคสจะยกเลิก

เปรียบเทียบ  ตัวอย่างเดิมข้างบน กรณีลูกชายจดทะเบียนและไม่ยอมหย่า หรือภรรยาไม่ยอมหย่า คุณต้องรอให้ได้ซิติเซ่นก่อน ถึงจะยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ลูกสมรสได้ ระยะเวลารอทั้งหมดจะเป็น 19 ปี (คุณรอทำซิติเซ่น 5 ปี รอใบเขียวในกรุ๊บ 3 อีก 14 ปี) ตอนนั้นเด็ก 2 คน(หลานคุณ) ก็จะอายุเกิน 21 ปี “เอจ์ เอ๊าท์” (age out) คือ 26 และ 28 คือ เด็กจะไม่ได้ใบเขียวพ่วงมากับพ่อ แม่

เปลี่ยนกรุ๊บ หรือ ชิฟท์ เฟอเร็นซ์” (Shift Preference)

หลังคุณยื่นเรื่องขอใบเขียว ระหว่างรอโควต้า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกรุ๊บ เช่นคุณได้เป็นซิติเซ่น ทางอิมมิเกรชั่นก็จะเปลี่ยนกรุ๊บหรือ ชิฟท์ เฟอเร็นซ์ เช่นคุณยื่นเรื่องอยู่ในกรุ๊บ 2B คุณได้เป็นซิติเซ่นภายหลัง ก็จะเปลี่ยนจากกรุ๊บ 2B  เป็นกรุ๊บ 1 หรือ กรณีตอนคุณยื่นเรื่อง ลูกคุณจดทะเบียนสมรส คุณยื่นให้ลูกในกรุ๊บ 3 หลังจากนั้นลูกหย่าก็จะเปลี่ยนจาก กรุ๊บ 3 เป็นกรุ๊บ  1 

หวังว่าคงไม่งงนะค๊า

“เรียลไอดี” REAL ID

วันนี้คุยเรื่อง บัตร “เรียลไอดี” (Real I.D) คือ ใบขับขี่ หรือบัตรประชาชนรุ่นใหม่ ที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ เริ่มวันที่ 3 พฤษภาคม ปีหน้า ค.ศ. 2023 ใช้ขึ้นเครื่องบินภายในประเทศ และเข้าสถานที่ทำงานรัฐบาลกลางหรือ “เฟ็ดเดอรัล บิลดิ้งส” (Federal Buildings) ศาลรัฐบาลกลาง (Federal Courthouse) และค่ายทหาร (Military Bases) เป็นต้น ผู้ที่มีคุณสมบัติขอ“เรียลไอดี”แนะนำให้ไปทำทันทีนะคะ


โดยปกติเวลาเดินทางบินภายในประเทศ ทุกคนต้องแสดงไอดี บัตรประชาชนรัฐ หรือใบขับขี่รัฐ หรือ พาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ หลังเหตุการณ์สยองขวัญ “นายน์/อีเล็ฟเว่น” (9/11) วันที่ 11 กันยายน ปี ค.ศ. 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายไฮแจ็คเครื่องบินและบินชนถล่มตึก “เวิร์ลด เทรด” รัฐนิวยอร์ค ผู้ก่อการร้ายได้ทำไอดีปลอมขึ้นเครื่องบิน จากเหตุการณ์นี้รัฐบาลตื่นตัว ปี ค.ศ. 2005 รัฐบาลได้สั่งให้ “กรมการขนส่ง”หรือ “ที เอ็ส เอ” (TSA ย่อมาจาก Transportation Security Administration) ดีซายน์ออกใบขับขี่หรือบัตรประชาชนใหม่ โดยเพิ่ม feature ที่ทำให้การปลอมแปลงบัตรยากมากขึ้น เรียกบัตรนี้ว่า “เรียลไอดี” บัตรใหม่จะมีรูปดาวอยู่ด้านบนขวามือ(ดูรูป) รัฐแต่ละรัฐออกแบบดีซายน์ใบขับขี่หรือบัตรประชาชนของตนเองโดยต้องมี feature ตามที่ “ที เอ็ส เอ” กำหนด กฎใหม่นี้กำหนดให้มีผลใช้ ปี ค.ศ. 2021 แต่เนื่องจาก โควิด เลยได้เลื่อนเป็นวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 2023

ปัญหาคือ โรบินฮู้ดไม่สามารถทำ “เรียลไอดี” ได้ !!!! 😭

ใครขอ “เรียลไอดี” ได้

  1. อเมริกันซิติเซ่น
  2. ผู้ถือใบเขียว ที่ยังไม่หมดอายุ
  3. ผู้มีใบทำงานหรือ เวิร์ค เพอร์มิท ที่ยังไม่หมดอายุ
  4. ผู้ถือพาสปอร์ตประเทศของตน และมีแสตมป์ “Process for I-551” ที่ยังไม่หมดอายุ คือผู้ที่ขอใบเขียวที่สถานทูตในประเทศของตนและเดินทางเข้าอเมริกา อิมมิเกรชั่นจะแสตมป์ I-551 ให้ 1 ปี ระหว่างรอใบเขียวส่งให้ทางไปรษณีย์
  5. ผู้ที่อยู่ในอเมริกาที่ได้รับการปกป้องลี้ภัยชั่วคราว ตัวอย่าง คนยูเครนที่หนีสงคราวจากรัสเซีย Temporary Protected Status Recipients (TPS)
  6. เด็ก “ดาค่า” (DACA ย่อมาจาก “Deferred Action for Childhood Arrivals” ) คือเด็กที่พ่อแม่นำเข้ามาอเมริกาตั้งแต่เล็กๆและทิ้งให้อยู่ในอเมริกาเพื่อเรียนหนังสือ เด็กโรบินฮู้ดเหล่านี้ปัจจุบันรัฐบางอลุ่มอล่วยให้อยู่ในอเมริกาทำงานไป

โรบินฮู้ดจะบินในประเทศได้อย่างไร
โรบินฮู้ดสามารถบินในประเทศได้ โดยใช้ ใบขับขี่รัฐควบกับพาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ ปัจจุบันมี 17 รัฐที่ออกใบขับขี่ให้โรบินฮู้ด คือ รัฐคาลิฟอร์เนีย, โคโรลาโด, คอนเน็ตติคัท, เดลาแวร์, ดิสตริค ออฟ โคลัมเบียหรือ ดี ซี (D.C.), ฮาวายวิ อิลลินอยส์, แมรี่แลนด์, เนวาด้า, นิวเจอร์ซี่, นิวเม็กซิโก, นิวยอร์ค, โอริกอน, ยูท่าห์, เวอร์ม๊อนท์, เวอร์จิเนีย, และ วอชิงตัน คาดว่ารัฐแมสสาจูเส็สท์ อาจจะผ่านกฎออกใบขับขี่ให้โรบินฮู้ดเร็วๆนี้


โรบินฮู้ดที่อยู่ในรัฐที่ไม่ออกใบขับขี่ให้ ก็จะเป็นปัญหา คุณอาจวางแผนย้ายรัฐไปอยู่รัฐที่ออกใบขับขี่ให้ และหลังจากคุณสามารถแสดงหลักฐานว่าคุณมีถิ่นฐานหรือเป็น “เรสสิเด๊นท” ของรัฐนั้น คุณจึงไปขอใบขับขี่ หรืออาจรอว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือผ่อนผัน เพราะในขณะนี้ รัฐคาลิฟอร์เนียซึ่งถือเป็นรัฐที่ทันสมัยที่สุด (เป็นรัฐแรกที่ออกใบขับขี่ให้โรบินฮู้ด) กำลังคิดหาวิธีที่จะออกใบขับขี่คล้ายๆเรียล ไอดี ให้โรบินฮู้ด คือต้องมี feature ตามที่ TSA กำหนด ถ้าทำสำเร็จดิฉันคาดว่า จะมีรัฐอื่นๆตามมา ก็ต้องรอดูไปนะคะว่าจะสำเร็จไหม


นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาในอเมริกาด้วยวีซ่าที่ยังไม่หมดอายุ ตราบใดที่วีซ่าเข้าอเมริกายังไม่หมดอายุ และมี I-94* หรือบัตรขาเข้าที่ยังไม่หมดอายุ สามารถขึ้นเครื่องบินเดินทางในประเทศได้ โดยแสดงพาสปอร์ต วิธีปริ๊นท์ บัตรขาเข้า คือ คลิกเข้าไปที่ www.cbp.gov/I94 กรอกข้อมูลคุณ พาสปอร์ตนัมเบอร์ และปริ๊นท์ ฟอร์ม I-94 ออกมา

คำสอนแม่

วันที่ 22 เมษา เป็นวันเกิดแม่ คุณแม่เสียเร็วอายุเพียง 72 ปี แต่คำสอนของท่านก้องอยู่ในหูตลอด ดิฉันเคยปรับทุกข์กับแม่เรื่องลูกว่ามันดื้อ สอนอะไรไม่ฟัง แม่ตอบว่า“เราเป็นแม่ มีหน้าที่สอน สอนไปเถอะลูก สักวันก็เข้าหู” จริงค่ะ ดิฉันมาอยู่เมกาตอนอายุเพียง 18 ปี ดิฉันได้เป็นผู้เป็นคนเพราะคำสอนแม่ (พ่อ ด้วยค่ะ) คำสอนของท่านเป็นหลักวิถีการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงานของดิฉัน


โตช้าแบบต้นมะม่วง อย่าโตเร็วแบบต้นมะละกอ
เมื่อดิฉันสอบผ่านบาร์(กฎหมาย)เป็นทนายความ ปีนั้นดิฉันเปิดสำนักงานกฎหมายของตนเองทันที เช่าออฟฟิสแชร์กับทนายอีก 2 คน ตึกไฮไร๊ส์สูง 18 ชั้น ในเมือง “ลองบีช” (Long Beach) เลือกห้องมีวิวทะเล ค่าเช่า 850 เหรียญ (นับว่าแพงสำหรับสมัยนั้น) พอโทรไปบอกแม่ ท่านเงียบไปสักพักและพูดว่า ลูกค่อยไปช้าๆ โตช้าแบบต้นมะม่วงล้มยาก อย่าโตเร็วแบบต้นมะละกอ มันล้มง่าย มา ณ.วันนี้ ดิฉันเป็นทนายมา 28 ปี


เอ็นดูคนจนเอ็นขาด
หลังจากมีออฟฟิสส่วนตัวได้ไม่ถึงปี ดิฉันได้ถูกจ้างให้ไปทำงานกับ“ซิตี้แบ๊งค์”ในเมืองไทย วันหนึ่งยืนรอเรียกแท๊กซี่กลับบ้าน เห็นเด็ก 2 คนพยายามข้ามถนน รถก็วิ่งกันเร็วมาก ดิฉันรีบข้ามถนนจะไปช่วยเด็ก ตัวเองหกล้มหัวเข่าถลอกปอกเปิกส่วนเด็กวิ่งข้ามถนนปลอดภัย พอกลับบ้านเล่าแม่ฟัง แม่พูดว่า “ลูกเอ็นดูคนจนเอ็นขาด” คำสอนนี้ดิฉันมาเข้าใจภายหลัง เมื่อดิฉันรับเคสที่ลูกความทำเคสเอง หรือให้ทนาย/แทนะทำให้และเรื่องไม่ผ่าน ซึ่งดิฉันไม่ควรรับเพราะมันเละเทะ แต่ใจอ่อนรับเคสด้วยความสงสาร รับทีไรเอ็นขาดทุกที ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าแม่หมายถึงอะไร

ทำทันที
คำสอน“ทำทันที”นี้ แม่พูดซ้ำพูดซากตั้งแต่ดิฉันเด็กๆ ดิฉันคงจะชอบผลัดวันประกันพรุ่ง วันหนึ่งดิฉันกลับไปเมืองไทย ทีวี 13 นิ้วในห้องนอนแม่ไม่ทำงาน ดิฉันบอกคุณแม่ว่าพรุ่งนี้เช้าดิฉันจะมาเอาทีวีไปแก้ให้ รุ่งขึ้นดิฉันไปบ้านแม่แต่เช้า ไปถึงแบกทีวีเดินไปหน้าปากซอยให้ช่างทีวีแก้ บ่ายก็ไปรับทีวีกลับให้แม่ แม่มองด้วยสายตาชื่นชม และพูดว่า “ลูกนี่ดีนะ พูดแล้วทำทันที” ว่าว! (คิดว่าตอนนั้นดิฉันอายุปลายๆ 30) ไม่มีอะไรสายเกินไปเนอะคะ เวลาดิฉันรับเคส ดิฉันจะทำเคสทันทีไม่เคยวางค้างอยู่บนโต๊ะทำงาน

รกคนดีกว่ารกหญ้า
เพราะบ้านเราอยู่กรุงเทพ ลุงป้าน้าอายังอยู่ต่างจังหวัดกัน ลุง ป้าก็จะส่งลูกมาเรียนกรุงเทพและมาอยู่บ้านเรา จำคำคุณแม่สอนได้ว่า “รกคนดีกว่ารกหญ้า” ซึ่งคำสอนนี้ประสบกับตัวเอง ลูกความซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนดิฉันตกอับ หอบลูกเล็กย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย 3-4 ปี เธอคุยกับดิฉันว่าต้องการกลับมาเมกาเพื่ออนาคตลูก เธอต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดิฉันคุยกับสามีว่าจะให้เพื่อนและลูกมาอยู่กับเราจนกว่าเขาจะตั้งตัวได้ ดิฉันให้เหตุผลกับสามีว่าเราให้ชีวิตคน 2 คน เท่ากับเราต่อชีวิตตัวเอง (ตอนนั้นสามีพึ่งผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดิฉันกลัวสามีอายุสั้น) เขาทั้งสองอยู่กับเราจนลูกเรียนจบไฮสกูล เพื่อนได้งานที่ลูกชายช่วยหาให้ แม่และลูกได้ดี ปัจจุบันเพื่อนรีไทร์ ลูกจบมหาวิทยาลัยทำงาน “เธอเป็นเพื่อนรักและเพื่อนตาย” ของดิฉัน เพราะคำสอนแม่ “รกคนดีกว่ารกหญ้า

ไม่จากเป็นก็จากตาย
หลังคุณพ่อเสีย ทุกครั้งไปไทย เวลาไปลาแม่ก่อนกลับเมกา ดิฉันก็จะน้ำตาไหล กลัวว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ลาแม่ คุณแม่มองดิฉันและพูดแบบสีหน้าธรรมดาที่สุดว่า “คนเรา ไม่จากเป็นก็จากตายนะ ลูก” บางครั้งดิฉันนึกถึงความรู้สึกแม่ ตอนดิฉันจากไปอเมริกาอายุเพียง 18 ปี ท่านคงหัวใจแทบขาด ฮือๆๆ


นมยานฟัดอก
คำสอนส่งท้ายค่ะ ทุกครั้งที่ดิฉันประสาทเสียกับลูก จะนึกถึงคำสอนแม่ว่า ลูกเปรียบเสมือน “นมยานฟัดอก” ดิฉันนึกภาพลูก 2 คนของดิฉัน ห้อยปุเลงๆบนอกดิฉันและดิฉันต้องพาด 2 ลูกอยู่บนไหล่ไปจนตาย สำหรับผู้ที่มีลูก หลาน คงเข้าใจนะคะ ☺️
แด่คุณแม่ที่รัก

ภาษาโรม๊านซ์ หรือ ภาษาชาวบ้าน

Happy Spring ค่ะ แฮ็ปปี้ สปริง ฤดูใบไม้ผลิค่ะ เริ่มเมื่อวันที่ 20 มีนา อากาศคาลิฟอร์เนียสบาย ค่อยๆหายหนาว ใบไม้เริ่มเขียวชอุ่ม วันนี้เขียนเรื่องเบาๆนะคะ
ตั้งแต่ดิฉันเรียนภาษาเสปญ(สแปนิช)ก็หลงรักภาษามาก สแปนิชเป็นภาษาที่ไพเราะ ออกเสียงง่าย โดยอ่านตามคำสะกด คือออกเสียงทุกพยัญชนะ (phonetic language) ทำให้เรียนง่าย และใช้เสียงหนักแบบภาษาไทยเช่น ตัว P อ่านออกเสียงตัว ป ตัว T อ่านออกเสียงตัว ต ตัว C ออกเสียงตัว ซ แต่ต้องเอาลิ้นดันฟันบน สแปนิช เป็นภาษาที่ใช้มากอันดับสองของโลกรองจากภาษาจีนกลาง ภาษาสแปนิชเป็นภาษาในกลุ่ม“ภาษาโรม๊านซ์” หรือ“โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” (Romance language) เป็นหนึ่งในหกภาษาทางการระบุโดยสหประชาชาติ หกประเทศหลักที่ใช้“ภาษาโรม๊านซ์” คือ ประเทศเสปญ โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี โรมาเนีย และ กาตาลัน ฉะนั้นถ้าคุณรู้ภาษาสแปนิช คุณจะพอเข้าใจและกระดิกหูภาษา อิตาเลียน และฝรั่งเศษ


โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” คืออะไร
“โรม๊านซ์ แลงเกว็จ” หรือ ภาษาโรม๊านซ์ ไม่ได้หมายถึง“ภาษาแห่งความรัก” ตามที่ดิฉันเคยเข้าใจผิด ศัพท์คำว่า“โรม๊านซ์” (Romance) โดยใช้ตัวพิมพ์ R ตัวพิมพ์ใหญ่ หมายความว่า “โรมัน” หรือ “โรมานิซ” (Romanice) เป็นศัพท์ชาวบ้าน เรียก “วัลก้าร์ ลาติน” (Vulgar Latin) แปลว่า“ลาติน หยาบคาย” คำ “โรมานิซ” ย่อมาจากภาษาลาตินเก่า“โรมานิคัส” (romanicus) แปลว่า“การพูดแบบชาวโรมัน” (speak in Roman) ซึ่งต่างจาก “ลาติน โลกิ” (latine loqui) แปลว่า“การพูดภาษาลาติน” (to speak in Latin)


ภาษาลาติน(เก่า) เป็นภาษาโบราณตั้งแต่ก่อนคริสตศักราช มีต้นกำเนิดในพื้นที่จักรวรรดิโรมันคือพื้นที่รอบๆกรุงโรม ภาษาลาตินเป็นภาษาที่เขียนยาก อ่านยาก และเข้าใจยาก เจ้าขุนมูลนายหรือผู้มีการศึกษาเท่านั้นที่จะอ่านออกเขียนได้ หลังจากจักรวรรดิโรมันค่อยๆล่มสลาย ประมาณปี ค.ศ. 376 ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันต่างค่อยๆแยกไปอยู่ใต้การปกครองของชนกลุ่มต่างๆ ภาษาลาตินเก่านี้จึงถูกตัดขาดออกจากภาษาถิ่นในดินแดนอื่นๆ และมีวิวัฒนาการอย่างช้าๆ จนเกิดเป็นภาษาลาตินใหม่ หรือภาษา “โรม๊านซ์”


ปัจจุบันภาษาลาตินเก่าไม่ใช่ภาษาแม่ของพลเมือง หรือประเทศใดๆ แต่ยังเป็นภาษาที่ใช้ในพิธีสวดของโรมันคาทอลิก นักเทววิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และใช้ในภาษากฎหมาย แม้ภาษาละตินในปัจจุบันจะมีผู้ใช้น้อยมากจนถูกนับว่าเกือบเป็นภาษาสูญแล้ว แต่การศึกษาภาษาลาตินในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยก็ยังคงมีอยู่มากโดยเฉพาะในยุโรป พี่เขยดิฉันคนเยอรมันเคยถามตอนดิฉันเริ่มเรียนกฎหมายว่า ในอเมริกาบังคับให้เรียนภาลาตินก่อนเรียนกฎหมายไหม เพราะหลักสูตรของเยอรมันบังคับให้เรียนหลักสูตรภาษาลาตินก่อน 1 ปี ก่อนที่จะเข้าเรียนกฎหมายได้ พี่เขยดิฉันได้เสียชีวิตไปตุลาที่แล้ว (ฮือ ฮือ เศร้ามาก ดิฉันชอบคุยกับพี่เขย เขาเหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ เขามีความรู้ลึกมาก) เลยไม่รู้จะถามใครว่าหลักสูตรเยอรมันปัจจุบัน ยังคงต้องเรียนลาตินก่อนเรียนกฎหมายหรือไม่


ภาษาทนาย
ทนายเมื่อเรียนกฎหมาย จะมีคำศัพท์ ประโยคและ โวหารภาษาลาตินบ่อยครั้ง ซึ่งเราต้องรู้ความหมาย คำภาษาอังกฤษหลายคำมาจากภาษาลาติน และอังกฤษใช้ทับศัพท์ ศัพท์ประจำที่ปรากฎในฟอร์มอิมมิเกรชั่น คือคำ
แอ๊ฟฟิเดวิท (affidavit) ปรากฎในฟอร์ม “แอ๊ฟฟิเดวิท อ๊อฟ ซัพพอร์ท” (affidavit of support) ผู้ยื่นขอใบเขียว เป็นสปอนเซอร์ต้องเซ็นใบรับรองซัพพอร์ท หรือกรณีเขียนจดหมายในรูป “แอ๊ฟฟิเดวิท” หมายความว่าผู้เขียนให้คำสัตย์ปฏิญาน หรือสาบานว่าข้อมูลเป็นความจริง ถ้าคุณโกหกหรือให้ข้อมูลเท็จ โทษจะรุนแรงมากกว่าโกหก
โบนา ไฟด์ (bona fide) ในศัพท์อิมมิเกรชั่นใช้กับคำว่า “โบนาไฟด์ แมริเอจ” (bonafide marriage) ใช้ศัพท์นี้กรณีทำใบเขียวแต่งงาน การแต่งงานของคุณต้องเป็นการแต่งงานจริง หมายความว่า มีเจตนาที่จะอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ซึ่งมีองค์ประกอบหลายข้อที่ใช้เป็นเครื่องตัดสิน ไม่ใช่เพียงอยู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น


เพลน อิงลิช ลอว์ (Plain English Law)
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้ “เพลน อิงลิช ลอว์” ระบุดังนี้ สถานที่รัฐบาล ธุรกิจร้านค้า บริการเซอร์วิสต่างๆ ให้เขียนสัญญาหรือเอกสารด้วยการใช้ ภาษาอังกฤษเรียบๆ หรือ “เพลน อิงลิช” (Plain English) ที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ คำว่า “เพลน อิงลิช” หมายความว่า ภาษาที่คนมีความรู้เทียบเท่าเด็ก เกรด 8 สามารถอ่านและเข้าใจได้ และถ้าเอกสารใดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงใช้ศัพท์หลักวิชาการ (Technical words) ก็จะต้องเขียนข้อความสรุปย่อๆอธิบายกำกับ


การแปลสัญญา
ตามกฏหมายเวลาคุณต้องเซ็นสัญญา และสัญญานั้นเขียนโดยบริษัทไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง อู่ซ่อมรถ สัญญาบริษัทประกัน หรือเจ้าของบ้าน เป็นต้น ถ้าสัญญานั้นฝ่ายผู้ร่างสัญญาเอาเปรียบอีกฝ่าย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและสัญญานั้นเขียนกำกวม ศาลจะแปลความหมายของสัญญานั้นเข้าข้างฝ่ายที่ไม่ได้เขียน