สวัสดีปีใหม่ ส่งท้ายโควิดปีที่สอง

สวัสดีปีใหม่ค่ะแฟนๆคอลัมน์ คอลัมน์นี้ดิฉันลงรูปกิจกรรม 12 เดือน และสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเราในปี 2021 ที่ผ่านมา เริ่มจากเดือนธันวาไปถึงมกราคม ดิฉันเชื่อว่าชีวิตแต่ละคนเปลี่ยนไปมากในระยะ 2 ปี เนื่องจากโควิดระบาด สำหรับครอบครัวดิฉันเราพยายามดำรงชีวิตอย่างปกติมากที่สุด เขตออเร๊นจ์เคาน์ตี้ที่ดิฉันอยู่เข้มงวดน้อยกว่าเขตแอลเอ เราออกไปเดินพาร์คทุกวัน ไปทานข้าวร้านอาหารได้ไม่ต้องโชว์ว่าฉีดวัคซีน ลูกชายกลับไปทำงานอาสาสมัครตามเดิม ที่บ้านมีคลาสโยคะปกติ 6 วันต่อสัปดาห์ ดิฉันสูญเสียสมาชิกครอบครัวสองคน พี่เขย (สามีพี่สาวคนโต อยู่เยอรมันี)และลูกเขย ทั้งสองตายด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สงสารพี่สาวและหลานชายมากสุดๆที่พ่อตายอายุยังน้อย

ดิฉันได้บัตรอวยพรคริสมัสการ์ด 2 ใบ ดิฉันขอแชร์กับคุณ

จากพี่สาวคนโต ขอให้ครอบครัวน้องตุ้ยมีความสุขกาย มั่นคง เป็นกำลังใจในชีวิตของคนรอบข้างไปเรื่อยๆนะจ๊ะขอบคุณที่น้องตุ้ยดูแลทุกๆคนที่สามารถทำได้  จากเพื่อนโยคะคุณนิตยา (คำแปล) คุณรุจีและคุณซาเมียที่รัก ขอขอบคุณเป็นล้านๆ ดิฉันสำนึกบุญคุณของคุณทั้งสองมาก คุณทำให้ปีโควิด เป็นปีที่ดีที่สุดของดิฉัน ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง

เดือนธันวาคม 2021

เดือนพฤศจิกายน 2021

เดือนตุลาคม 2021

เดือนกันยายน 2021

เดือนสิงหาคม 2021

วันที่ 4 กรกฎาคม 2021 วันชาติหรือวันประกาศอิสรภาพ อินดีเพ็นเด็นท์ เดย์

เดือนมิถุนายน 2021

หมอ Dr. Saad คนกลาง และลูกเพื่อนหมอมาเยี่ยมเราที่บ้าน หมอ Saad เป็นหมอที่ช่วยชีวิตสามีดิฉัน แกพบว่าสามีเป็นมะเร็งลำไส้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว

เดือนพฤษภาคม 2021

เดือนมีนาคม 2021

เดือนกุมภาพันธ์ 2021

เดือนมกราคม 2021

ไว้อาลัย เดือน สิงหา และตุลา ปี 2021

สวัสดีปีใหม่ทุกๆคน stay healthy and happy นะคะ

ลิงเก็บมะพร้าว

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ฟังข่าวบริษัท “คอสโค่” (Costco) ห้างค้ายักษ์ใหญ่ราคาขายส่ง (คล้ายๆแม็กโคร บ้านเรา) ประกาศหยุดจำหน่าย “น้ำกะทิชาวเกาะ” หลังจากที่องค์กร “พีต้า” (PETA) องค์กรปกป้องสิทธิสัตว์ ออกรายงานว่า บริษัท เทพผดุงพรผู้ผลิตน้ำกะทิชาวเกาะ ซื้อมะพร้าวจากตัวกลางที่รับมะพร้าวจากชาวบ้านที่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว ซึ่งถือเป็นการทารุณสัตว์ ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทได้หยุดจำหน่ายน้ำกะทิชาวเกาะเช่นกัน ความรู้สึกแรกเมื่อดิฉันได้ยินข่าวก็นึกว่า “เฮ้อ นี่คืออเมริกา !!” เลยเปิดอ่านหารายละเอียกมากขึ้น จึงพบว่า ประเทศ อังกฤษ ได้ “แบน” น้ำกะทิและผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวของไทย รวม นมมะพร้าว น้ำกะทิ เนื้อมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว แป้งมะพร้าว และผลิตภัณท์อื่นๆมาก่อนหน้าเราตั้งแต่เดือนกรกฏาคม


องค์กร “พีต้า”
องค์กร “พีต้า” ก่อตั้งในอเมริกาปี ค.ศ. 1980 ที่เมือง นอร์ฟอร์ค รัฐเวอร์จิเนีย (Norfolk Virginia) ชื่อเต็ม PETA ย่อมาจาก People for the Ethical Treatment of Animals แปลตรงตัวคือ ประชาชนเพื่อการฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 9 ล้านคนทั่วโลก สโลแกน (slogan) ขององค์กรคือ สัตว์ไม่ใช่การเอามาทำการทดลอง กิน นุ่งห่ม ฝึกแสดงละคร หรือ ทารุณกรรม แต่อย่างใด


ลิงเก็บมะพร้าวทารุณกรรมหรือไม่
ฝ่ายไทย กลุ่มทุนเกษตรกร ชาวไร่และชาวสวน แย้งว่า ธรรมชาติของลิงมันก็ปีนป่ายต้นไม้อยู่แล้ว ลิงอยู่คู่กับต้นมะพร้าวและเป็นตัวช่วยในการเก็บมะพร้าวตั้งแต่บรรพบุรุษมากว่า 100 ปี ฝรั่งดูถูกภูมิปัญญาคนไทย ลิงเก็บมะพร้าว เป็นวิถีชาวบ้านมากกว่าไม่ใช่เป็นการทรมานหรือทารุณสัตว์แต่อย่างใด
ตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ลิงเป็นสัตว์สงวนเนื่องจากลิงเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ที่จะมีลิงในครอบครองจะต้องมีใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่า ลิง 6 ชนิดที่จัดอยู่ในความคุ้มครองภายใต้ พรบ คือ (1)ลิงกัง หรือลิงกังใต้ (2)ลิงลม หรือนางอาย (3) ลิงวอก (4) ลิงเสน (5) ลิงแสม และ (6)ลิงอ้ายเงี้ยะหรือลิงภูเขา


ลิงกังใต้ เป็นลิงเก็บมะพร้าว คนทางใต้จับลูกลิงกังใต้จากป่า มาเลี้ยงและฝึกให้ปีนต้นมะพร้าวเก็บลูกมะพร้าว ซึ่งตาม พรบ ถือว่าผิดกฎหมายถ้าไม่มีใบอนุญาติครอบครอง ธรรมชาติของลิงกังใต้ อาศัยอยู่ตามป่าดิบบริเวณเชิงเขา ชอบเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยไม่ค่อยอยู่เป็นที่ เป็นลิงที่มีสมาชิกในฝูงน้อยกว่าลิงชนิดอื่นๆจะมีไม่เกิน 40-45 ตัว บางตัวออกหากินตัวเดียวไม่รวมฝูง ลิงกังใต้ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง มีอายุยืน 25 ปี

ลิงกังใต้

ฝ่ายองค์กร “พีต้า” จากการไปสืบสวนกรรมวิธีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทย องค์กรได้ข้อมูลมาว่า ชาวบ้านทางภาคใต้ไปจับลูกลิงจากป่า ตอนอายุระหว่าง 3-5 เดือนมาเพื่อฝึกให้ปีนขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อเก็บลูกมะพร้าว (ลิงที่จะใช้ฝึกเป็นอย่างดีอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 3-5 เดือน และเป็นตัวผู้เนื่องจากตัวใหญ่และมีแรงมากกว่าลิงตัวเมีย) ลูกลิงถูกพัดพรากจากพ่อแม่ ลูกลิงจะถูกขังอยู่ในกรงแคบๆพอตัว และใส่ปลอกคอล่ามเชือ ดูรูป องค์กรพีต้ามองในแง่ว่า เมื่อลิงถูกจับมาเลี้ยงตามบ้าน เท่ากับลิงหมดอิสระภาพในการที่จะโหนต้นไม้ ปีนป่าย กับสมาชิกในฝูงลิง ซึ่งเป็นตามธรรมชาติของลิงป่า ลิงกังใต้เป็นลิงที่ฉลาดมาก เมื่อลิงถูกผูกเชือกหรือล่ามโซ่ให้อยู่กับที่ ลิงเดินวนไปวนมาอย่างไม่รู้จบ บนหย่อมดินที่เต็มไปด้วยขยะ ทำให้ลิงค่อยๆเสียสติไปจนหมดหวัง กรณีถ้าเจอลิงดุ เจ้าของจะถอนฟังลิงออกเพื่อไม่ให้กัด นอกจากนั้นเมือลิงไม่ถูกบังคับให้ปีนเก็บลูกมะพร้าว ลิงถูกฝึกให้เล่นละครลิง เหล่านี้ทางองค์กร “พีต้า ถือว่า เป็นการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไม่มีมีจริยธรรม

“พีต้า”กล่าวว่า ผู้มีเมตตาต่อสัตว์เลือกไม่ดื่มนมวัว เพราะเกษตรกรที่ผลิตนมวัว ต้องให้วัวตัวเมียผสมพันธ์และท้องบ่อยๆเพื่อจะได้รีดนมวัวได้มากขึ้น ฉะนั้นผู้มีเมตตาต่อสัตว์เลือกดื่มนมมะพร้าวและนมพืชแทน เช่นนมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์แทนที่จะดื่มนมวัว ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื่องจากการปฏิบัติต่อสัตว์ไม่มีจริยธรรม


ทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกัน แล้วแต่คุณจะฟังฝ่ายไหน มุมมองของคนไทยถือว่าการฝึกลิงเก็บมะพร้าว เป็นภูมิปัญญาคนไทยเป็นวิถีชาวบ้านไม่ถือเป็นการทรมานหรือทารุณสัตว์ แต่ในแง่องค์กร “พีต้า” ผู้เมตตาสัตว์ ถือว่าการใช้แรงงานลิง ฝึกลิงเก็บมะพร้าวและเล่นละครลิงถือเป็นการทารุณสัตว์ สำหรับดิฉัน สิ่งที่ทนไม่ได้สุดๆ คือ“ละครลิง”สงสารลิงมากที่ถูกนำมาแต่งหน้าเสียเลอะเทอะ เพื่อให้ผู้ชมหัวเราะ ทำให้ลิงไร้ศักดิ์ศรีจริงๆ

โรงเรียนผู้ใหญ่ หรือ ADULT SCHOOL

วันนี้คุยเรื่อง หาความรู้ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในอเมริกาใหม่ๆหรืออยู่ในอเมริกามานานแต่ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน เพราะติดกับ “จ๊อบ” แรกที่คุณได้ทำตั้งแต่เริ่มต้น คุณมีโอกาสหาความรู้เพิ่มในสิ่งที่คุณชอบ คุณสามารถเข้าเรียน “โรงเรียนผู้ใหญ่” หรือ “อดั๊ลท์ สกูล” (Adult school) ไม่ว่าคุณจะอยู่เถื่อนในอเมริกาหรืออยู่อย่างถูกต้อง ดิฉันจะเห็นลูกความหลายคนที่พอเข้ามาถึงอเมริกาก็รีบหางานทำ งานแรกก็คือร้านอาหารไทย เสริฟหรือทำงานในครัว เมื่อคุณเข้าทำร้านอาหารไทยปุ๊บเท่ากับปิดโอกาส ที่จะออกหางานอื่นที่คุณเรียนจบมา เพราะงานร้านอาหารไทยชั่วโมงยาว 10-12 ชั่วโมงต่อวัน กลับบ้านก็หมดแรง

ที่มาของโรงเรียนผู้ใหญ่

“อดั๊ลท์ สกูล” เป็นโรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ (อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป) มีทั่วทุกรัฐ และทุกเขต ใกล้เขตที่ดิฉันอยู่ ABC Adult school โรงเรียนผู้ใหญ่ได้รับเงินกองทุนหนุนจากรัฐบาลกลาง (Federally Funded Adult Education and Family Literacy Programs) เพื่อช่วยให้ผู้ใหญ่และครอบครัวรู้หนังสือ ดิฉันคิดว่าจุดประสงค์เบื้องต้น มีหลักสูตรช่วยเด็ก (อาจเป็นเด็กที่ยากจนหรือเด็กที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว) ที่เรียนไฮสกูลไม่จบ หรือผู้ใหญ่คนต่างด้าวที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้  หลักสูตร 3 คอร์สหลักคือ (1) หลักสูตรช่วยให้เด็กสอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตรจบไฮสกูล (2) คลาสสอน “ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง” เรียกย่อว่า “อี เอ็ส แอล” (ESL ย่อมาจาก English as a second language) และ (3) คลาส เตรียมตัวสอบซิติเซ่น

หลักสูตรและวิชาเรียน

ปัจจุบัน “อดั๊ลท์ สกูล” มีคอร์ส หลักสูตร มากมาย ที่เรียนจบและได้ประกาศนียบัตรเมื่อจบสามารถทำงานได้ เช่น  วิชาชีพต่างๆเช่น คอมพิวเต้อร์ เท็คโนโลยี (computer technology) ช่างแก้คอม  วิชาพยาบาล (nursing) ผู้ช่วยทันตแพทย์ (dental assistant) ผู้เขี่ยวชาญด้านบิลและเก็บเงิน (billing specialist) ผู้เตรียมภาษี (tax preparation) และคลาสที่มีประโยชน์ต่างๆ เช่น ภาษาสแปนิช (Spanish) ภาษาสแปนิชเป็นภาษาที่สองของอเมริกา วิชาช่างต่าง เช่น  ช่างทำผม จัดดอกไม้ ทำขนม เย็บผ้า ตัดเสื้อผ้า และทางด้าน ฟิตเนส (fitness) เต้นอโรบิค พิลาเต้ โยคะ เต้นรำบอลรูม เป็นต้น ถ้าคุณเรียน คอร์ส วิชาชีพและคอร์สที่เป็นหลักสูตรจบ คุณจะได้รับประกาศนียบัตร และทางโรงเรียน มี job placement ที่ช่วยแนะนำบริษัทที่เปิดรับสมัครงานต้องการผู้จบวิชาชีพต่างๆ

เวลาและชั่วโมงเรียน

เนื่องจากเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ คุณเรียน “พาร์ท ไทม์” มีทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ ชั้นเรียนมีให้เลือกมาก ขึ้นอยู่กับถ้าคุณเรียนต้องการประกาศนียบัตร ก็จะเรียนหลายเทอม แต่ละคลาส 3 ชั่วโมง 2 วันต่อสัปดาห์ นอกจากคลาสช่วง “ซัมเม่อร์”

ค่าเล่าเรียนและลงทะเบียน

ในคาลิฟอร์เนียตอนใต้ ค่าเทอมๆละ $40 คุ้มสุดๆ เปิดเรียนเป็นเทอม “ไทรเมสเต้อร์” (trimester) 3 เทอมต่อปี หรือ “ควอร์เต้อร์” (quarter) 4 เทอม ต่อปี ถ้าคุณสนใจโปรดคลิกเข้าไปหา adult schools near me คุณสามารถลงทะเบียน ออนไลน์ หรือ เดินเข้าไปลงทะเบียนที่โรงเรียนได้วันที่เปิดเทอม หรือ ภายในสัปดาห์แรก

ความรู้ที่ดิฉันได้จาก“อดั๊ลท์ สกูล”

ตั้งแต่ดิฉันมาอยู่อเมริกาดิฉันเข้าเรียน “อดั๊ลท์ สกูล” 3 ครั้ง ซึ่งได้ความรู้ติดตัวมาทุกคลาส 

ครั้งแรกคือ  ปีแรกที่มาอยู่อเมริกา คลาสภาษาอังกฤษ“อี เอ็ส แอล” (English as a second language) 1 เทอม ดิฉัน ยอดเปิ่น จำได้ว่านักเรียนต่างชาติคนหนึ่งคุยเรื่องของเขาให้ฟังและบอกว่า “I am mad” ดิฉันรู้แต่ว่า mad แปลว่า “บ้า” คิดว่าทำไมเธอจึงพูดว่า “เธอเป็นบ้า” มารู้ทีหลังว่า mad แปลว่า “บ้า” หรือ “โกรธ” 

ครั้งที่สองคือ ภาษา“สแปนิช” โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อ 4 ปีที่แล้วปี 2017 เห็นป้ายหน้าโรงเรียน “อดั๊ลท์ สกูล” ว่ามี คลาส “แอนนาโตมี่” (anatomy)  หรือสรีระร่างกาย ดิฉันอยากหาความรู้เพิ่มเกี่ยวกับสรีระ เนื่องจากสอนโยคะ จึงเข้าไปลงทะเบียน จ่ายตังเสร็จ ทางโรงเรียนบอกว่าคลาสนี้เป็นหลักสูตรของคอร์ส พยาบาล ต้องเรียนหลายเทอม ไหนๆก็อยู่ตรงนั้นแล้วดิฉันเลยถามว่ามีคลาสอะไรบ้าง เขาบอกมี “สแปนิช” สนไหม ดิฉันก็โอเค คิดว่าลองเรียนดูสักเทอม ปรากฎ ณ. วันนั้นถึงวันนี้ 4 ปี ดิฉันเรียนสแปนิชมาถึงปัจจุบันนี้ เอาว่าไปเที่ยวเสปนคราวนี้พูด และอ่านได้ อาจฟังเข้าใจลำบากหน่อยเพราะคนท้องถิ่นพูดโคตรเร็ว

ครั้งที่สาม คือ เมื่อ 2 ปีที่แล้วปี  2019 ระบบยื่นเคสอิมมิเกรชั่น มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องส่งเอกสารเข้า วีซ่าเซ็นเต้อร์ออนไลน์ แทนที่จะส่งทางไปรษณีย์อย่างที่เคย ดิฉันก็ทุลักทุเลอยู่นาน ตัดสินใจไปเรียน คลาส วิชา computer essential  “อดั๊ลท์ สกูล” ครูสแปนิชดิฉันสอนคลาสนี้ ด้วย เลยสบาย แกช่วยดิฉันมาก

โรงเรียนที่ดิฉันเรียนปัจจุบัน                               
ในห้องเรียน (ของคนอื่น)

ช่วงโควิด คนตกงานเยอะ เป็นโอกาสดีถ้าคูณจะลองเช็ค “อดั๊ลท์ สกูล” ดูนะคะ อาจเจอวิชาชีพที่คุณถนัดหรือมีแบ็คกราวนด์มาก่อน หรือเพื่อหาความรู้เพิ่ม การเรียนหาความรู้ไม่มีการสิ้นสุดค่ะ ถือเป็นความสำเร็จหรือ“แอ็คคอมพลิช” (accomplish) ในชีวิตอย่างหนึ่ง ในอเมริกาไม่มีใครดูถูกค่ะว่าคุณเรียนหนังสือที่ไหน ขึ้นอยู่กับคุณจะนำความรู้นั้นไปใช้อย่างไร 

โควิดวัคซีนสำหรับผู้ขอใบเขียว

กฎอิมมิเกรชั่นสำหรับผู้ขอใบเขียวจากเมืองไทยผ่านสถานทูต (Consular Processing) ต้องฉีดโควิดวัคซีนก่อนเดินทางเข้าอเมริกา และผู้ที่ขอใบเขียวในอเมริกาหรือ“ปรับสถานภาพ” หรือ “แอ็ดจัสท์เม๊นท์ ออฟ สแตตัส” (Adjustment of status) ต้องมี “พรูฟ” ว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วเช่นกัน กฎใหม่มีผลบังคับใช้ 1 ตุลา 2021 นี้

ฉีดวัคซีนเมื่อไร

สำหรับผู้ที่ขอใบเขียวจากเมืองไทย  คุณควร มี “พรูฟ” ฉีดวัคซีนเรียบร้อยก่อนวันนัดไปตรวจร่างกาย และต้องนำนำผลฉีดวัคซีนไปโรงพยาบาลวันตรวจร่างกายด้วย  ร. พ. ที่ทางสถานทูตรับรองคือ ร.พ. บำรุงราษฎร์ ร.พ. บี เอ็น เค (BNK) หรือ แบ็งคอค เนิร์สซิ่ง โฮม และ ร.พ. แม็คคอร์มิค ในเชียงใหม่ 

บัตรฉีดวัคซีน ต้องเป็น “ออฟฟิเชียล วัคซีน เร็คคอร์ด” (official vaccine record) มีลงวันที่ที่ได้รับการฉีด ชื่อคุณ และ ควรมี ชื่อบริษัทผู้ผลิด และ ล็อทนัมเบอร์ และแสดงให้ทางโรงพยาบาลดู เพื่อทาง ร.พ. สามารถดูได้ว่าวัคซีนที่คุณฉีด ทางกระทรวงอาหารและยาของอเมริกา หรือ FDA (ย่อจาก Food and Drug Administration)  

วัคซีนที่อเมริกายังไม่ยอมรับ

สำหรับผู้ที่ขอใบเขียวจากเมืองไทย  ณ. วันที่ดิฉันเขียนนี้ วัคซีนนอกประเทศที่ FDA ในอเมริกายังไม่ยอมรับ  คือ อัสตร้า เซเนก้า (AstraZeneca)  และ “ครอส” หรือไขว้ วัคซีน คือ วัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองต้องชนิดเดียวกัน ต่างชนิดทางอเมริกายังไม่ยอมรับ

ฉีดวัคซีนเข็มที่สองเมื่อไร

ถ้าชนิดของวัคซีนกำหนดว่าต้องฉีดสองเข็ม ถึงจะถือว่า สมบูรณ์ คุณต้องฉีดเข็มที่สองให้ใกล้เคียงวันที่กำหนดมากที่สุด ถ้าฉีด 4 วัน ก่อน หรือ 4 วันหลังกำหนด เขาจะอนุโลมให้ แต่ถ้าไปฉีดเข็มที่สองมากกว่า 4 วันก่อนกำหนด ถือว่าวัคซีนนั้นไม่สมบูรณ์

อายุผู้ฉีด

  1. กฎของสายการบิน เด็กอายุเกิน 2 ปี ขึ้นไป ต้องมีผลตรวจโควิดว่า “เนกาทีฟ” (negative) ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง
  2. ณ. วันที่ดิฉันเขียนนี้ ทาง FDA ในอเมริกายังไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่า วัคซีนโควิดชนิดไหน มีผลใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี (แต่คือพ่อแม่สามารถให้เด็กฉีดได้) หรือถ้าไม่ฉีดก็ได้ แต่ต้อง   

ผู้ได้รับยกเว้น

  • วัคซีนบางชนิด ไม่สามารถฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้  คุณต้องให้ทางผู้ผลิต หรือ “แมนูแฟ็กเจ้อร์” วัคซีนนั้น เขียนระบุลงด้วย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เรียกว่าเด็ก “อยู่ภายใต้การผ่อนผัน” โดยกรอกให้เหตุผลภายใต้ “แบล๊งเค็ท เวฟเว่อร์” (Blanket waiver)
  • กรณีผู้เดินทางมี ข้อห้าม หรือข้อควรระวัง “คอนทราอินดิเคชั่น” (Contraindication) ในการฉีดวัคซีนว่าอาจเป็นภัยต่อตนหรือแพ้อย่างแรง ถ้ามีหลักฐานแสดงหรือใบรับรอง สามารถได้รับการยกเว้นไม่ต้องฉีด โดยกรอกให้เหตุผลภายใต้  “คอนทรา อินดิเคทเท็ด (Contraindicated)
  • ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีปฏิกริยาต่อวัคซีนอย่างแรง และไม่สวามารถฉีดเข็มที่สองได้  ให้กรอกเหตุผลในข้อ “แบล๊งเค็ท เวฟเว่อร์” (Blanket waiver)
  • ถ้าในรัฐที่คุณอยู่ไม่มีหมอฉีด หรือมีซัพพลายวัคซีนไม่พอ หรือถ้าการ รอฉีดวัคซีนจะทำให้การไปสัมภาษณ์ต้องเลื่อนหรือล่าช้า ให้กรอกเหตุผลในข้อ “น็อท รูทีนลี่ อเวเลเบิ้ล” (Not routinely available)
  • ขอผ่อนผันการฉีดวัคซีนเนื่องจากความเชื่อในทางศาสนา ข้อนี้อ้างยากหน่อยค่ะ เพราะ ต้องส่งเรื่องขอผ่อนผันเข้าไปที่อิมมิเกรชั่นก่อน ส่วนข้ออื่นๆข้างต้น ถ้าทางหมอเซ็นรับรองก็ใช้ได้
  • ส่วนผู้ที่เคยติดโควิดมาแล้ว ไม่สามารถอ้างได้ว่าตนมีเชื้อ โควิด และมีภูมิต้านทาน คุณยังต้องฉีดโควิดวัคซีน อยู่ดี ไม่ได้รับการยกเว้นค่ะ

คำสอนแม่

เดือนนี้ดิฉันมี “ไร๊ทเท่อร์ส บล๊อค” (writers’ block) คือ นึกหัวข้อไม่ออกว่าจะเขียนอะไร เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ยุ่งเหยิง ข่าวอัฟกานิสถาน ข่าวไวรัสใหม่ “เดลต้า แวเรี่ยนซ” (Delta Variance) และดิฉันยังเผชิญความเศร้า คือ การตายจาก ดิฉันต้องค่อยตั้งสติ แยกประเด็นออกมาทีละเปราะและ deal กับมัน และได้คำสอนแม่ที่นำมาใช้

ข่าวอัฟกานิสถาน 

หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศจะถอนทัพอเมริกันทั้งหมดออกจากประเทศอัฟกานิสถานภายใน 31 สิงหานี้ ทุกครั้งที่ดิฉันเปิดอีเมล์ก็จะเห็นแต่ข่าวอัฟกานิสถานและรูปหน้าสกรีนที่สะเทือนใจ หลังเหตุการณ์ 9/11ปี ค.ศ. 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม อัล ไคด้า (al Qaeda) จากอัฟกานิสถาน ไฮแจ๊คเครื่องบินและบินชนถล่มตึก “เวิร์ลดเทรด” ในรัฐนิวยอร์ค รัฐบาล “จ๊อร์จ บุช” ประกาศส่งกองทัพอเมริกันเข้าไปประจำประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อกวาดผู้ก่อการร้าย 10 ปีให้หลังปี 2011 รัฐบาล “บาแร็ค โอบาม่า” ทหารอเมริกันได้ฆ่า”โอซาม่า บิน ลาเดน” (Osama Bin Laden) สำเร็จ โอบาม่าประกาศวางแผนถอนกองทัพทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานภายใน 10 ปี กันยาปี 2021 นี้ครบรอบ 20 ปีพอดี ป.ธ.น. ไบเดนจึงออกคำสั่งถอนทัพ ซึ่งแน่นอนเหตุการณ์ไม่มีทางราบรื่นได้ (ดูรูปล่าสุด ผู้ลี้ภัยอัฟกานเข้าอเมริกา)  

วิธีแก้เปราะนี้ ดูรูปผู้ลี้ภัยแล้วสงสารพวกเขาต้องจากบ้านจากเมืองมาตั้งต้นชีวิตใหม่ต่างแดน จำคำสอนแม่ได้ว่า“คนเราเลือกเกิดไม่ได้นะลูก ขึ้นอยู่กับบุญและกรรม ดูเด็กที่ทำไมไปเกิดในอัฟริกา ประเทศแห้งแล้งลำบากไม่มีจะกิน ลูกมีบุญที่เกิดในประเทศไทย และยังได้มาเกิดในท้องแม่” คุณแม่ยังสอนต่อว่า “ลูกต้องทำบุญมากๆในชาตินี้ ชาติหน้าลูกจะได้มาเกิดในท้องแม่อีก” คำสอนนี้ให้ดิฉันได้คิดว่า บุญ กรรม คงจะมีจริง คนเราเลือกเกิดไม่ได้  

ข่าวโควิดและ“เดลต้า แวเรี่ยนซ”

ข่าวโควิดนี้เรื้อรังมาเกือบ 2 ปี ต้นปีนี้ CDC (Centers for Diseases Control and Prevention) ศูนย์ควบคุมแลป้องกันโรค ได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด ประชาชนในอเมริกาส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนทำให้สถานการณ์เริ่มเบาลง รัฐคาลิฟอร์เนียผ่านยกเลิก “เสตย์ โฮม ออร์เด้อร์” (stay home order) วันที่ 15 มิถุนาที่ผ่านมา ทุกอย่างเกือบกลับสภาพปกติ ไม่ทันไรข่าวใหม่ออกมาอีกถึงไวรัสตัวใหม่ “เดลต้า แวเรี่ยนซ”ตามข่าวบอกว่าไวรัสตัวใหม่ร้ายแรงกว่าโควิด คนก็หวาดกลัวกันต่ออีก “เฮ็อ!” ตอนนี้รัฐบาลประโคมข่าวให้ผู้คนฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หรือ “บู๊สเต้อร์ ช็อท” (booster shot) และเมื่อไรจะพอหนอ ไวรัสสายพันธ์ใหม่ก็จะออกมาเรื่อยๆเราก็จะรอฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทางกันไปตลอดชีวิตหรือ

วิธีแก้เปราะนี้ คือ ดิฉัน “อดข่าว” เพราะว่าทำให้เครียด แต่ละวันมีแต่ข่าวโควิดสถิติตัวเลขจำนวนผู้ป่วยและผู้ตายจากโควิด ข่าวจะไม่พูดถึงประวัติผู้ตาย อายุ หรือโรคประจำตัว หรือสาเหตุที่ตายอย่างแท้จริง ตัวอย่าง เพื่อนบ้านดิฉันพึ่งตาย เพราะเธอเป็นโรค “ลูคีเมีย” ขั้นสุดท้าย ระหว่างเธออยู่ ร.พ. เพื่อทำคีโม ในระยะ 3 ปี  ระหว่างอยู่ ร.พ. เธอติดโควิด และตาย สามีเธอบอกว่าใบมรณบัตรภรรยาเขียนว่าเธอตายด้วยโรคโควิด สามีบอกต่อว่า ร.พ. ได้เงินเพิ่มรายหัวจากผู้ตายด้วยโควิด???  ดิฉันไม่ทราบว่าจริงไหม

วิธีปกป้องไวรัสคือ 1.ฉีดวัคซีน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย 2.สร้างภูมิต้านทานในร่างกายด้วยตัวเราเอง โดยไม่ฉีดวัคซีน ดิฉันเชื่อข้อสองมากกว่า ร่างกายคนเรามีระบบภูมิคุ้มกัน เป็นเซล์ภูมิต้านทานเรียก T Cell ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าด่าน เมื่อเชื้อไวรัสเข้าร่างกาย ภูมิคุ้มกันก็จะต่อสู้ช่วยกำจัดและทำลายเชื้อไวรัสได้ ถ้าเราสุขภาพดีแข็งแรงก็จะมีภูมิต้านทานสูง ฉะนั้นถ้จะติดโควิดก็จะป่วยน้อย และอีกอย่างตามสถิติหนุ่มสาวผู้อายุน้อยกว่า 50 ปี มีเปอร์เซ็นติดโควิดและมากกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาศที่ติดเชื้อไวรัสมาก่อน และไวรัสนั้นจะเหลืออยู่ในร่างกายเข้าใน T Cell เป็น“ซัพพลายที่มีความทรงจำ” (supply of memory) เผื่อมีไวรัสใหม่เข้ามาในอนาคต จะได้ต่อสู้มันได้ ดิฉันรู้ว่าตัวเองมีระบบภูมิคุ้มกันสูง เพราะบ้านเรา พ่อ แม่ ลูกออกกำลังทุกวันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทั้งโยคะ นั่งลมปราน ไทชี เราเดินวันละ 2 ไมล์ ดิฉันนอนวันละ 8 ชั่วโมง และดิฉันไม่เคยประมาท ในฐานะที่ดิฉันจัดอยู่ในกรุ๊บ ส.ว. จึงได้ผ่านไวรัสมาหลายชนิด ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ไข้หวัดซาร์ส(SARS) มาแล้ว ฉะนั้นมี“ซัพพลายที่มีความทรงจำ” และ ต้นปีนี้เพื่อนรักดิฉันติดโควิด เธอพักผ่อน 2-3 สัปดาห์ก็หายเอง ถ้าเพื่อนดิฉันต่อสู้กับโควิดได้เอง  ดิฉันรู้ว่าถ้าตัวเองติดโควิดก็ไม่ตายหรอก และในแง่ดีดิฉันก็จะมี “ซัพพลายที่มีความทรงจำ” ในตัว เผื่อมีไวรัสใหม่เข้ามาในอนาคต ร่างกายก็จะต่อสู้มันได้

การตายจาก

ความเศร้าโศรก เดือนนี้“เอ๊กซ์”ลูกเขยดิฉันตายฉับพลันจาก“สโตร๊ค”(stroke) เศร้าใจและสงสารหลานมาก คนเดียวไม่พอตามด้วย “พี่เขย” เป็นโรคหัวใจล้มเหลวอย่างแรง หรือ “แม็สสีฟ ฮ๊าร์ท แอ็ทแท็ค” (massive heart attack) ตอนนี้เรารอวันที่เขาจะจากเราไป ดิฉันเป็นห่วงพี่สาวมากๆเพราะเธออยู่คนเดียว นานแล้วดิฉันเคยสัญญาพี่สาวว่าถ้าพี่เขยเป็นอะไรไป ดิฉันจะบินไปหาเธอที่เยอรมันีทันที 

วิธีแก้เปราะนี้ คือ จำได้ตอนคุณพ่อเสีย ดิฉันร้องห่มร้องไห้ คุณแม่เตือนสติดิฉันว่า “คนเราไม่จากเป็นก็จากตาย นะลูก” ดิฉันก็นึกจริงแฮะ วันดิฉันจากบ้านไปอเมริกาอายุเพียง 18 ปี เท่ากับดิฉันได้ “จากเป็น” พ่อ แม่ มาตั้งแต่นั้น และบั้นปลายก็ “จากตาย” ดิฉันน่ะทำใจได้ แต่เป็นห่วงพี่สาว เลยตั้งใจว่าจะบินไปเยอรมันีอยู่เป็นเพื่อนพี่สาว คำสอนแม่ก็เข้ามาอีก ท่านเคยสอนว่า “เสียหนึ่งอย่าเสียสอง” ถ้าดิฉันบินไปหาพี่สาว โอกาสที่ดิฉันจะติดโควิดมีสูง ถ้าดิฉันติดคนนึง สามีและลูกต้องเครียดมากๆ ฉะนั้น “เสียหนึ่งอย่าเสียสอง” ดีกว่า สรุปตัดสินใจไม่เดินทาง 

ข้อคิด

อย่าเครียด หาอะไรคิดในสิ่งดีๆ มองโลกและชีวิตในแง่ดี แทนที่จะเศร้า เซ็ง และหวาดกลัวนะคะ

Culture Sensitive

พวกเราที่อยู่ในอเมริกา“ดินแดนแห่งผู้อพยพ” ทุกคนที่อยู่ในอเมริกาจะว่าเป็นชาวต่างด้าวทั้งหมดก็ได้ อเมริกามีคนต่างเชื้อชาติ ต่างสัญชาติ ต่างภาษา ต่างสีผิว และต่างวัฒนธรรม หลายชาติ หลายภาษา ในยุคปัจจุบัน เวลาพูดถึงคนแต่ละชาติ เเราจะต้องมีความอ่อนไหวกับวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เรียก“คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ” (culture sensitive) “คัลเช่อร์”= วัฒนธรรม “เซ็นซิทีฟ”= ความอ่อนไหว เราควรรู้ และใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการเรียกชื่อหรือพูดถึงคนแต่ละกรุ๊บ ถ้าเราใช้ศัพท์ไม่ถูกต้อง อาจบ่งถึงการรังเกียจและกีดกันเชื้อชาตินั้นๆ โดยเฉพาะอเมริกามีกฎหมาย “เฮ๊ท ไครมน์” (Hate Crime) เป็นกฎหมายที่เพิ่มโทษอาชญากรรมรุนแรง ถ้าผู้ใดทำร้ายผู้อื่นเนื่องจากความเกลียดชังสีผิว และเชื้อชาติ

ตั้งแต่เหตุการณ์ “นายน์/อีเลฟเว่น” (9/11) วันที่ 11 กันยายน 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ถล่มตึก “เวิร์ลด เทรด” ในรัฐนิวยอร์ค คนอเมริกันกีดกันและโกรธแค้นชาวมุสลิม คนไหนหน้าเหมือนแขก ก็ทึกทักว่าเป็น “แทโรริสท์” (terrorist) หรือผู้ก่อการร้ายหมด พอมายุค “โควิด” (COVID)ยุครัฐบาล“ทรัมพ์” ตอนโควิดระบาดใหม่ๆ ในทำเนียบขาวเอง ไม่ทราบว่าวุฒิสมาชิกคนไหนให้สัมภาษณ์ต่อหน้านักข่าว เรียก “ไข้หวัด โควิด” ว่า “คังฟลู” (kungflu) (ฟลู แปลว่า ไข้หวัด) ซึ่งเป็นการล้อเลียนถึงการรังเกียจคนจีน ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันจะได้ยินข่าวคนจีนถูกทำร้ายร่างกายด้วยความเกลียดชังสีผิว ป.ธ.น. ทรัมพ์เองตอนดำรงตำแหน่ง จะใช้สรรพนามเรียก คนเม็กซิกันที่ลักลอบเข้าอเมริกาตามชายแดนว่าพวก “แบ๊ด ฮ็อมเบรส์” (bad hombres) หรือ “พวกคนไม่ดี” 

“น็อน ซิติเซ่น” (NON CITIZEN)

รัฐบาล “ไบเดน” เมื่อ ป.ธ.น. โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมือวันที่ 20 มกราคม 2021 ในเดือนเรก ท่านได้ประกาศยกเลิกคำศัพท์ที่ “อิมมิเกรชั่น” ใช้เรียก คนต่างด้าวว่า “เอเลียน” (alien) คำว่า Alien แปลว่า มนุษย์ต่างดาว ???? และเรียกคนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายว่า “อิลลีเกิล เอเลียน” (illegal alien) คือ เอเลียนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ป.ธ.น. ไบเดน สั่งให้เปลี่ยนมาใช้คำ “น็อน ซิติเซ่น” (non-citizen)” แทน เรียกคนคนต่างด้าวที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน โดยประกาศว่า อเมริกาต้องให้ “ศักดิ์ศรี” หรือ “ดิ๊กนิตี้” (dignity) ต่อคนต่างชาติ และเรียกคนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายว่า “อัน ด๊อคคิวเม๊นท์เต็ด น็อน ซิติเซ่น” (undocumented non-citizen) คือคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร  

ลาติเน็กซ์ (LATINX)LATINX ออกเสียง “ลาติเน็กซ์” เป็นศัพท์ใหม่ภาษา “สแปนิช” ใช้เรียกพวก กลุ่มคนลาติน-อเมริกัน ที่เป็นเกย์หรือ เลสเบียน คือ “ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าเป็นชายหรือหญิง” คำสุภาพคือ พวก “เจ็นเด้อร์-นูทรัล” (gender-neutral) “ลาติเน็กซ์” เป็นศัพท์ใหม่ เริ่มใช้ในอเมริกา ส่วนมากเด็กรุ่นใหม่และเด็กคอลเลจ ที่เป็น“เกย์”หรือ“เลสเบี้ยน” จะใช้ศัพท์นี้ คำนี้มาดังในปี ค.ศ. 2016 น.ส.พ. ลงข่าวเหตุการณ์ที่ ชายมุสลิม เข้าไปยิงกราดใน “เกย์ไน๊ท์คลับ” เมือง โอลานโด รัฐฟลอริด้า วันที่ 12 มิ.ย. 2016 คืนนั้นมี ปาร์ตี้ Latin Night (ลาติน ไน๊ท์) คนตาย 49 คน บาดเจ็บ 53 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชาว ลาติน-อเมริกัน นักข่าวใช้สรรพนามถึงผู้ตายและบาดเจ็บว่า กลุ่มลาติเน็กซ์ ที่มาของคำสะกด X ไวยากรณ์ภาษาสแปนิช แยกเพศชาย และเพศหญิง เพศชายลาติน-อเมริกัน เรียก “ลาติโน่” (Latino) เพศหญิงลาติน-อเมริกัน เรียก “ลาติน่า” (Latina) คำ “ลาติเน็กซ์” Latinx มาจากการตัดอักษร O ออก คำ “ลาติโน่” และอักษร A ออกจาก “ลาติน่า” และใช้อักษร X แทน คำนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศเสปนและคนรุ่นเก่า ดิฉันเองจะไม่ใช้คำ ลาติเน็กซ์ เพราะครูสแปนิช Ms. Barbosa ที่ดิฉันเรียนภาษา สแปนิช กับเธอมาเกือบ 5 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ 

กลุ่มที่ ซัพพอร์ท วุฒิสมาชิก อลิซเบ็ท์  วอเรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  ยกป้ายแสดงว่า กลุ่ม “ลาติเน็กซ์” ซัพพอร์ทเธอ วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2020

ความหมายของอักษร X

ปัจจุบัน ยุค “คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ”  เวลาคุณจะใช้คำนำหน้า จ่าหน้าซอง หรือ การ์ดเชิญ หรือเรียก ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าเป็นชายหรือหญิง” หรือ พวก “เจ็นเด้อร์-นูทรัล” คุณจะใช้ Mx. ออกเสียง “เม็กซ์” แทนที่จะเรียก หรือใช้ Miss “มิส” หรือ Mr. “มิสเตอร์” ตัวอย่าง Mx. Jane Doe

LGBTQ 

ในอเมริกา เมื่อกล่าวถึงพวก กลุ่ม เกย์ เลสเบียน ไบ หรือแปลงเพศ จะใช้คำย่อว่า “แอล จี บี ที คิว” (LGBTQ) L ย่อมาจาก “เลส เบียน” (Lesbian) G ย่อมาจาก “เกย์” (Gay) B ย่อมาจาก “ไบเซ็กชัวล์” (Bisexual ได้ทั้งสองเพศ) T ย่อมาจาก “ทรานสเจ็นเด้อร์”(Transgender ผู้แปลงเพศ) และ Q ย่อมาจาก “เควียร์” (Queer พวกพิสดาร) หรือ ย่อมาจาก “เควสชันนิ่ง” (Questioningคือ ???? แล้วแต่คนจะแปล) คำว่า “เควียร์” เป็นคำศัพท์ที่รุนแรง และไม่สุภาพ ไม่แนะนำให้ใช้ค่ะ

เม็กซิกัน ชิคาโน่ ฮิสแปนิค และลาติโน่

เม็กซิกัน ชิคาโน ลาติโน่ และฮิสแปนิค ต่างกันอย่างไร ก่อนดิฉันเรียนภาษาสแปนิช เห็นใครพูดภาษาสแปนิช ก็จะคิดว่าเป็นเม็กซิกันเสียหมด เดี๋ยวนี้ดิฉัน“คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ” มากขึ้น ความแตกต่างดังนี้

เม็กซิกัน (Mexican) หมายถึงคนที่เกิดในประเทศเม็กซิโก  หรือถือสัญชาติเม็กซิกัน หรือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย เป็นเม็กซิกัน

ชิคาโน่ (Chicano) หมายถึงเด็กเม็กซิกันที่เกิดในอเมริกา ส่วนเม็กซิกันที่เข้ามาอยู่ในอเมริกา และภายหลังได้ใบเขียวหรือโอนสัญชาติ ก็ยังเรียกตัวเองว่า เม็กซิกัน หรือ เม็กซิกัน-อเมริกัน ตัวอย่างเปรียบเทียบ สำหรับดิฉัน ก็คือ “ไทย” แต่ถ้าเด็กไทยเกิดในอเมริกา ก็อาจใช้ “ไทย-อเมริกัน”

ฮิสแปนิค (Hispanic) ตามหลักหมายถึงพลเมืองที่พูดภาษาสแปนิชเป็นหลัก หรือพลเมืองที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาสแปนิชเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงประเทศ เสปน 

แต่ในอเมริกา เมื่อพูดถึง “ฮิสแปนิค” จะรวมไปถึงกลุ่มคนที่มาจากประเทศใน “ลาติน-อเมริกา” ลาติน อเมริกา รวม 3 ทวีป อเมริกาเหนือ (น๊อร์ท อเมริกา North America) อเมริกากลาง (เซ็นทรัล อเมริกา Central America) และอเมริกาใต้ (เซ๊าท์อเมริกา South America) จากประเทศ เม็กซิโกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาเหนือ ลงไปถึงอาร์เจนติน่า และบวกประเทศใน คาริเบียน (ดูรูป) ฉะนั้นเวลาเรียก ฮิสแปนิค และ ลาติโน่ ส่วนมากจะใช้มั่วกัน

แต่ความแตกต่างระหว่าง  ฮิสแปนิค และ ลาติโน่ คือ คนฮิสแปนิคส่วนใหญ่มาจากประเทศเสปนโดยเฉพาะ คนผิวขาว แถบคาบสมุทร ไอบีเรีย (ไอบีเรีย เพนนินซูล่า Iberia Peninsula) คำว่า “ฮิสแปนิค” รากศัพท์มาจากภาษา ลาติน “ฮิสปานิคัส”(Hispanicus) พวกเขาจะมีความภาคภูมิใจในประเทศของเขา เสปนเป็นประเทศที่เก่าแก่ มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เก่าแก่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

ลาติโน่ (Latino) ส่วนชาว ลาติโน่  เรียกกลุ่มคนตามหลักภูมิศาสตร์ ซึ่งครอบคลุม 33 ประเทศ บวกประเทศในกลุ่ม คาริเบียน ภาษาหลักคือ ภาษาสแปนิช ปอร์ตุกีส ฝรั่งเศษ คนจะมีหลายขนบธรรมเนีนมประเพณี ผิวขาว ผิวดำ ผสมคนพื้นเมืองและคนเอเชีย คนลาติโน่ อาจเรียกตนเองเป็น “ฮิสแปนิก” แต่คน “ฮิสแปนิก” จะไม่เรียกตนเองว่าเป็น “ลาติโน่”

ประเทศในกลุ่มลาติน อเมริกา

วันหยุดราชการใหม่ในอเมริกา

Happy 4th “แฮ็ปปี้ ฟอร์ทซ” นะคะ วันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวัน“อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) หรือวันประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1776 ปีนี้เท่ากับครบ 245 ปีที่อเมริกาสร้างประเทศ ทุกปีเมือง“ลา พาล์มม่า” (La Palma) มีฉลองวัน“จูลาย ฟอร์ทซ” มีวิ่งแข่งหรือเดินแข่ง 5 K 10 K ตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีพาเหรด ออกร้าน และเกมให้เด็กเล่น แต่ปีนี้เงียบเหงาเราไม่มีฉลอง 😞 ถึงแม้ผู้ว่ารัฐคาลิฟอร์เนียได้ประกาศเปิดรัฐ ธุรกิจเปิดปกติ แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 

วันนี้คุยความรู้เรื่องวันหยุดราชการของอเมริกา ที่มา และวันหยุดราชการวันใหม่ชื่อวัน“จูนทีนซ์” ที่จะเริ่มมีผลใช้ปีหน้า 

ใครกำหนดวันหยุดราชการ

วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบันมีทั้งหมด 11 วัน เริ่มปีหน้าเราจะมีวันหยุดราชการใหม่เรียกวัน “จูนทีนซ์” เป็น 12 วันตามกฎหมายอำนาจของการสถาปนาวันหยุดราชการขึ้นอยู่กับรัฐสภาหรือ“คองเกรส” เมื่อมีผู้ยื่นเสนอวันหยุดเข้าไปในสภาจะมีการโวท และถ้าผ่านจึงส่งต่อให้ประธานาธิบดีเซ็นชื่อ วันหยุดราชการจึงผ่านได้ วันหยุดราชการออฟฟิสรัฐบาลทั่วประเทศปิด และสถาบันที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลจะปิดด้วย เช่น ธนาคาร โรงเรียน ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น รัฐแต่ละรัฐอาจเลือกไม่รับวันหยุดราชการนั้นได้ และรัฐมีอำนาจที่จะตั้งวันหยุดราชการของรัฐเองได้

วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบัน

  1. นิว เยียร์ส เดย์ (New Year’s Day) วันปีใหม่ ตรงกับวันที่  1 มกราคม
  2. อินอ๊อกกิวเรชั่น เดย์ (Inauguration Day) วันสถาปนาประธานาธิบดี มีทุก 4 ปี (อเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก  4 ปี) ตรงกับวันที่ 20 มกราคม ที่ทำการรัฐบาลจะปิดหมด 
  3. มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ (Martin Luther King, Jr. Day) เรียกย่อว่า วัน MLK Day ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ที่มา มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เกิดวันที่ 15 มกราคม1929 เป็นบาทหลวงชาวผิวดำ ท่านเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Civil rights activist) และเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างผิว ท่านดำเนินรอยตามนโยบายของท่าน “มหาตม คานธี” คือเดินขบวนประท้วงแบบสงบไม่ใช้อาวุธ ท่านถูกลอบสังหารปี ค.ศ. 1968 อายุเพียง 39 ปี ปีค.ศ. 1971 หลายรัฐที่ประกาศวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการประจำรัฐ และหลายครั้งที่มีการเสนอวัน“มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เข้าสภา แต่ไม่ผ่าน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1983 สมัยรัฐบาลป.ธ.น. รอนัลด์ เรแกน วัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” ได้ผ่านสภา และมีผลใช้ปี  ค.ศ. 1986 มี 3 รัฐทางตอนใต้ รัฐนิว แฮมเชียร์ รัฐอาริโซน่า และรัฐเซ๊าท์ คาโรไลน่า ไม่ยอมรับวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการ (ท้าวความถึงประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามกลางเมืองหรือสงครามเลิกทาสคนผิวดำ  ระหว่างรัฐตอนเหนือและรัฐตอนใต้ขัดแย้งกัน รัฐตอนเหนือต้องการเลิกทาส แต่รัฐตอนใต้ไม่ต้องการเลิกทาส ความรังเกียจและกีดกันคนผิวดำยังฝังอยู่ในจิตใจคนทางใต้อยู่) จนกระทั่ง 14 ปี ให้หลัง ในค.ศ. 2000 ทั้ง 3 รัฐยอมรับ วัน มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
  4. จอร์จ วอชิงตันส เบิร์ทเดย์ (George Washington’s Birthday) ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ จอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ท่านถือเป็น “บิดาของประเทศ” หรือ The father of our country วันเกิดท่านตรงกับวันที่ 22 ก.พ. แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันจันทร์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. เพื่อข้าราชการจะได้หยุด 3 วัน เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ วันนี้บางครั้งเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” (Presidents’ Day) บางรัฐ และหลายปฏิทินจะเขียนวันนี้ว่าวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” ที่มาคือ ตามปฏิทินในเดือนกุมภาเรามีวันหยุด 2 วันหยุด คือวัน “ลินคอล์น’ส เบิร์ทเดย์” เกิดวันที่ 12 ก.พ. (ประธานาธิบดี “เอบราฮัม ลินคอล์น” เป็นผู้ประกาศเลิกทาส) วันนี้ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่หลายรัฐสถาปนาเป็นวันหยุด ในสภามีการเคลื่อนไหวที่จะรวมวันเกิด วอชิงตัน และลินคอล์น เป็นวันรำลึกถึงประธานาธิบดีทั้งสองเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” แทนที่จะเป็น “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นทางการ ปัจจุบันยังใช้ชื่อ “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อยู่ (ดิฉันคิดเองว่า รัฐทางใต้อีกนั่นแหละที่ไม่แฮ็ปปี้กับ ป.ธ.น. ลินคอล์นเท่าไร) 
  5. เม็มโมเรียล เดย์ (Memorial Day) ตรงกับวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เป็น วันรำลึกถึงทหารผ่านศึกที่ตายในสงครามกลางเมือง “สงครามเลิกทาส” หรือ“ซิวิล วอร์” (Civil war)  ที่มาคือ วันที่ 5 พ.ค. 1868 เป็นวันประกาศสงครามสิ้นสุด รัฐทางเหนือชนะ สามปีให้หลังรัฐสภาผ่านวันที่ 30 พ.ค. เป็นวัน เม็มโมเรียล เดย์ เพราะสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นวันที่ดอกไม้ออกสะพรั่งทั่วประเทศ ปัจจุบันวันนี้กลายเป็นวันที่คนส่วนมากจะรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเอาดอกไม้ไปเคารพที่หลุมฝังศพ
  6. อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์ (Independence Day) ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพจากสงครามระหว่างอเมริกา(เมืองขึ้น)กับประเทศอังกฤษ สงครามประกาศสิ้นสุดลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 อเมริกาได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
  7. เลเบ้อร์ เดย์ (Labor Day) หรือวันแรงงาน ตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน ที่มาคือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 สหภาพแรงงานมีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนงาน เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานเป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1882 เมืองนิวยอร์ค มีพาเหรดครั้งแรกฉลองวันแรงงาน ในปี ค.ศ. 1887 รัฐโอริกอน เป็นรัฐแรกที่ประกาศตั้งวันแรงงานเป็นวันหยุดของรัฐ  ค.ศ. 1894 รัฐสภาผ่านวันแรงงานเป็นวันหยุดราชการ 
  8. โคลัมบัส เดย์ (Columbus Day) ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ตามประวัติศาสตร์ โคลัมบัสเป็นผู้ค้นพบอเมริกา เขาล่องเรือเข้ามาถึงแผ่นดินใหม่นี้เมื่อปี ค.ศ. 1942 อเมริกาประกาศวัน โคลัมบัส เดย์ ในปี 1937 เพื่อสดุดี โคลัมบัส ที่เป็นผู้ค้นพบประเทศ กระทั่งช่วง ทศวรรษ 1970 คนหลายกลุ่มไม่พอใจ ขัดแย้งว่า เราควรจะสดุดีชนพื้นเมืองที่อยู่ในอเมริกามาตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่โคลัมบัส ปัจจุบันบางครั้งเรียกวัน โคลัมบัส เดย์ว่า วัน “อินดิจินัส พีเพิล’ส เดย์” (Indegenous Peoples’ day) หรือวันชนพื้นเมือง
  9. เวทเทอรันส์ เดย์ (Veterans Day) หรือวันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 11 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันรำลึกถึงทหารผ่านศึก ที่มาเริ่มแรกคือ เพื่อสดุดีพวกทหารที่ต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วันประกาศสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 ปัจจุบันเป็นวันรำลึกถึงทหารทุกคนที่รับใช้ประเทศชาติ 
  10. แต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ (Thanksgiving Day) วันขอบคุณพระเจ้า ตรงกับวันพฤหัสที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน  ที่มาคือ ช่วงที่ผู้อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เข้ามาในอเมริกา มีกลุ่มพวก “พิลกริม” (ผู้แสวงบุญ) เข้ามาตั้งรกรากแถบอาณานิคมรัฐเวอร์จิเนีย พวกเขาประสบความลำบาก อดหยากหลายปี จนปี ค.ศ. 1621 ปลายเดือนตุลาคน เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ปีนั้นเป็นปีแรกที่พวกพิลกริมมีการฉลอง ขอบคุณพระเจ้าเป็นครั้งแรก ที่ให้พืชผลเขา พวกเขากินเลี้ยงฉลอง 3 วัน 3 คืน ปี ค.ศ. 1942 รัฐสภาผ่านวันแต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
  11. คริสมัส เดย์ (Christmas Day) ตรงกับวันที่ 25 ของเดือน ธ.ค. วันหยุดของชาวคริสเตียน ฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระเยซู 

วัน“จูนทีนซ์” (Juneteenth)

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ลงนามผ่านวัน“จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการ เริ่มปีหน้า 2022 ตรงกับวันที่ 19 มิถุนายน คำว่า Juneteenth ย่อมาจาก June Nineteenth (June 19th ) มีเรียกกันหลายชื่อ  วัน“แบล๊ค อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Black Independent Day) วันประกาศอิสรภาพของคนผิวดำ; วัน “จูบิลี เดย์” (Jubilee Day) หรือวันเฉลิมฉลอง; วัน “ฟรีดอม เดย์” (Freedom Day) หรือวันอิสรภาพ  และวัน “อิแมนซิเพชั่น เดย์” (Emancipation Day) หรือวันปลดปล่อยทาส เป็นต้น ที่มาของวันนี้คือ สงครามกลางเมือง หรือ “ซิวิล วอร์” (Civil War) หรือสงครามเลิกทาส เกิดขึ้นระหว่างระหว่างปี  ค.ศ.1861-1865 อเมริกาแบ่งเป็นสองฝ่าย 

รัฐทางเหนือเรียก “พวก ยูเนียน” (Union) มี 23 รัฐ (ดูรูป รัฐทางเหนือเฉดสีฟ้า) เรียก ฟรี เสตทส (Free States) คือรัฐอิสระ ไม่มีทาสผิวดำ ประธานาธิบดี “ลินคอล์น” พึ่งรับเข้าตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้นำ รัฐทางเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรม ไม่มีความจำเป็นต้องมีทาส คนผิวดำที่อยู่รัฐทางเหนือถือเป็นบุคคลอิสระ

รัฐทางใต้ เรียก “รัฐ คอนเฟ๊ดเดอเรทส” (Confederates) มี 11 รัฐ (ดูรูป รัฐทางใต้ เฉดสีเทา) เรียก “สเลฟ สเตทส” (Slave States) คือรัฐมีทาสผิวดำ คนผิวดำไม่ใช่คนเป็นอิสระ พวกเขาถือเป็นสมบัติของเจ้านาย เพราะเจ้านายซื้อเขามา รัฐทางใต้มีภูมิลำเนาทำกสิกรรม ทำไร่ยาสูบและไร่ฝ้ายเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงต้องการทาสคนผิวดำมาทำไร่ ทางใต้แยกรัฐบาลจากทางเหนือ มีรัฐบาลของตนเองและผู้นำ ชื่อ เจ็ฟเฟอร์สัน เดวิส 

ประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศปลดปล่อยทาส ณ. วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 ว่าทาสทุกคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ “คอนเฟ็ดเดอเรทส์” ทุกคนได้เป็นอิสระ แต่ในภาคปฏิบัติรัฐทางใต้ก็ยังเลี้ยงทาสอยู่ สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงปี ค.ศ. 1865 รัฐทางเหนือชนะ ปี ค.ศ. 1866 วันที่ 19 มิถุนายน ทาสผิวดำในเมือง “เกลเวสตัน” (Galveston)  รัฐ เท็กซัส ฉลองเลิกทาสมีพาเหรด และเรียกวันนั้นว่าวัน “จูบิลี เดย์” ปี ค.ศ. 1979 รัฐเท็กซัสเป็นรัฐแรกที่ ประกาศ วัน “จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการของรัฐ

ในความคิดดิฉัน ก็ว่ามันแฟร์ดีนะคะ อเมริกาผ่านสงครามเพื่ออิสรภาพ 2 ครั้ง ๆแรก จากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษปี ค.ศ. 1776 และ 85 ปี ให้หลัง เกิดสงครามครั้งที่สอง ค.ศ.18611865 คนอเมริกันต่อสู้กันเองเพื่ออิสรภาพและความเสมอภาคของคนผิวดำ  นี่คืออเมริกาค่ะ Liberty for All

ธงชาติ

วันที่ 14 มิถุนายนเป็น “วันธงชาติ” หรือ “แฟล๊ก เดย์” (Flag Day) ของอเมริกา และวันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวันชาติหรือ “วันประกาศอิสรภาพ” ของอเมริกาจากอังกฤษ “อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) ซึงเป็นวันหยุดราชการ “แนชันเนิล ฮอลิเดย์” (National holiday) คอลัมน์นี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับธงชาติอเมริกา ประวัติความเป็นมา เพลงชาติ คำปฏิญานต่อหน้าธงชาติ สิทธิส่วนตัวในการเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ ภาษิตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเกล็ดความรู้สำหรับคุณที่อยู่อเมริกาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะสอบซิติเซ่น ประโยคไฮไลท์สีดำอยู่ในข้อสอบซิติเซ่น

ลักษณะและสัญลักษณ์ธงชาติ

ธงชาติอเมริกัน “อเมริกัน แฟล๊ก” (American flag)  หรือ “เดอะ ยู เอส แฟล๊ก”  (the U.S. flag) มีชื่อเล่นเรียกกันว่า “สตาร์ส แอนด์ ไสตร๊ปส” (Stars and Stripes) แปลว่า ดาวและแถบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติ ดาว 50 ดวง เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ 50 รัฐในอเมริกา และ แถบ 13 แถบ  เป็นสัญลักษณ์ของ 13 รัฐแรกที่เป็นอาณานิคมของอเมริกา  

อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” (Declation of Independence) วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” (Thomas Jefferson) เป็นผู้เขียน “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” ตอนนั้นอเมริกายังไม่มีธงชาติของตนเอง ธงชาติแรกที่นำมาใช้ปี ค.ศ. 1916 มี 13 แถบซึ่งหมายถึง 13 อาณานิคมแรก และกากระบาทมีขีดไขว์ เป็นสัญลักษณ์ของ “ยูเนี่ยน” (Union) ยืมรูปของธงอังกฤษมาใช้ เรียก ธงแรกว่า “เดอะ แกรนด์ ยูเนียน แฟล๊ก” (The Grand Union Flag) ในปีนั้น ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” (Woodrow Wilson) ประกาศ วันรำลึกธงชาติให้เป็นวันที่ 14 มิถุนายน ในปี ค.ศ. 1917 ธงชาติอเมริกันได้เปลี่ยนจากมุมรูปกากระบาทเป็นดาว 13 ดวงแทน หลังจากนั้นธงชาติเปลี่ยนดีไซน์ไปเรื่อยๆแต่ละครั้งที่เพิ่มรัฐใหม่ ก็จะเพิ่มดาวทีละดวง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1960 เพิ่มดาวดวงที่ 50 เป็นรัฐสุดท้าย รัฐ “ฮาวาย” (Hawaii)

ธงชาติแรก“เดอะ แกรนด์ ยูเนียน แฟล๊ก” | ธงชาติที่สอง | ธงชาติปัจจุบัน

เพลงชาติอเมริกัน

เพลงชาติ เรียก “แนชั่นแนล แอนซตัม” (National Anthem) เพลงชาติอเมริกันมีชื่อเรียก ว่า “ เดอะ สตาร์ สแปงเกิล แบนเน่อร์” (The Star Spangled Banner) ใช้ครั้งแรกสมัย ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” และหลังจากนั้นปี ค.ศ. 1931 ได้ออกกฎหมายเป็นเพลงชาติประจำประเทศ วันที่คุณไปสาบานตนเป็นซิติเซ่น เขาจะเปิดเพลงชาติ คุณต้องลุกขึ้นยืน และมือขวาแตะที่หัวใจหน้าอกข้างซ้าย เช่นเดียวกับเวลายืนเคารพธงชาติ ดูรูป ลูกความดิฉันที่ไปสาบานตนวันได้รับซิติเซ่น เมื่อลุกขึ้นยืน น้ำตาไหลกันทุกคน รวมทั้งดิฉัน


วันสาบานตนเป็นอเมริกันซิติเซ่น

คำปฏิญาณ

การให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่ออเมริกาและธงชาติ  เรียก “เพล็จ ออฟ อัลลีเจียนซ”  (Pledge of Allegiance) ต่อ “ยูไนเต็ด เสตทส ออฟ อเมริกา” และ “เดอะ แฟลก” หนึ่งในคำถามของข้อสอบซิติเซ่น และเจ้าหน้าที่จะถามคุณว่า คุณเต็มใจที่จะให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่อประเทศอเมริกหรือไม่ ข้อความของคำสัตย์ปฏิญาน คือ “ข้าพเจ้าให้คำปฏิญานว่าจะจงรักภักดีต่อธงชาติสหรัฐอเมริกา และต่อสาธารณรัฐที่ตั้งอยู่ ชาติหนึ่งชาติเดียวภายใต้พระเจ้า ไม่มีการแตกแยก ด้วยเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกคน” “I pledge allegiance to the flag of the United States of America and to the republic for which it stands, one nation under God, indivisible, with liberty and justice for all.”  

ภาษิตแรกของประเทศ

ภาษิต ภาษาอังกฤษเรียก “ม๊อตโต้” (motto) ภาษิตแรกของประเทศ หรือ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้ (Nation’s first motto) ของอเมริกาคือ “อี พลูริบัส อูนัม” (E pluribus unum)  เป็นภาษาลาติน แปลว่า “จากจำนวนมาก เป็นหนึ่ง” หรือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน” (out of many, one) ข้อนี้อยู่ในข้อสอบซิติเซ่นชุดใหม่ สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องขอซิติเซ่นหลังวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2020 คำถามคือ ภาษิตแรกของประเทศ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้”  “อี พลูริบัส อูนัม” หมายความว่าอะไร คำตอบคือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน”

ภาษิตแรกนี้มีความศักดิ์สิทธิในจิตสำนึกคนอเมริกันมาก เนื่องจากความหมายที่กินใจ คำว่า “จากจำนวนมาก” หมายถึงผู้คนหลายชาติหลายภาษาที่อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เพื่ออิสระและเสรีภาพ มารวมกัน “เป็นหนึ่ง” ภาษิตของประเทศปัจจุบัน (Nation’s motto) เปลี่ยนใหม่ เป็น “อิน ก๊อด วี ทรัสท์” (In God We Trust) แปลตรงตัว คือ “ในพระเจ้า เราเชื่อ” ภาษิตใหม่นี้ มีชนหลายกลุ่มต่อต้าน เพราะคำว่า GOD ตีความหมายบ่งถึงศาสนาคริสต์โดยเฉพาะ เพราะไม่ทุกคนที่นับถือพระเจ้า เช่นศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา “เอเซตียส” (Atheist) เป็นต้น มีหลายกลุ่มที่นำคดีขึ้นศาลและต้องการให้กลับไปใช้ภาษิตเก่า “อี พลูริบัส อูนัม”  แต่คดีเคยไม่ถึงศาลสูงสุด

กฎหมายเกี่ยวกับการเคารพธงชาติ

อเมริกามีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธงชาติ ระบุความอาญาและโทษต่ออาชญากรรมต่อธงชาติ ระบุถึงวิธี และประเพณีในการเคารพธงชาติ ทุกคำในเนื้อหากฎหมายบทนี้ใช้คำว่า “should” คือ “ควรจะ” ทำความเคารพธงชาติด้วยวิธีใด แต่ไม่ออกเป็นกฎบังคับ เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ หรือทำการกระทำดูหมิ่นธงชาติเช่น คดี Smith v. Goguen (1974) นาย Goguen ถูกจับในข้อกล่าวหาดูหมิ่นธงชาติตามกฎหมายรัฐแมสสาจูเซ็สท์ เมื่อเขานำเศษผ้าสี่เหลี่ยมลายธงชาติ เย็บปะก้นกางเกงและนั่งทับสัญลักษณ์ธงชาติ เมื่อคดีขึ้นถึงศาลสูงสุด ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินรัฐแพ้ และเขียนความเห็นว่า “ข้อระบุในกฎหมายห้ามแสดงการดูหมิ่นธงชาตินั้นกว้างเกิน การลงโทษจำเลยในกรณีนี้ไม่ใช่เพื่อต้องการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของผืนธงชาติ แต่เป็นการลงโทษในการสื่อความหมายเกี่ยวกับธงชาติ คดีเผาธงชาติ (Flag Burning Case) Street v. New York (1969) หลังจากที่ผู้นำผิวดำนาย James Meredith ผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคถูกลอบยิงตาย นาย Street ได้เผาธงชาติบนหัวมุมถนน และตะโกนด่ารัฐบาลว่า “เรามีธงชาติไว้หาสวรรค์อะไรเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครอง ปล่อยให้นาย Meredith ตาย” นาย Street ถูกจับในข้อกล่าวหาเผาธงชาติในที่สาธารณตามกฎหมายรัฐนิวยอร์ค เมื่อคดีขึ้นศาลสูงสุดศาลตัดสินให้รัฐแพ้ให้ความเห็นว่า “รัฐไม่สามารถลงโทษผู้ทำลายธงชาติในที่สาธารณะเมื่อการกระทำนั้นเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงรัฐบาล กฎหมายรัฐละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญ”


รูปเผาธงชาติประท้วง ปี ค.ศ. 2008 ปีที่ ป.ธ.น. โอบาม่าชนะเสียงเลือกตั้ง

เสรีภาพในการพูด

รัฐธรรมนูญของอเมริกา หรือ “ยู เอ็ส คอนสติทิวชั่น” มีความศักดิ์สิทธิมาก บทเฉพาะการฉบับแรก เรียก “เฟริสท์ อเม็นด์เม๊นท์” (First Amendment) ระบุว่าทุกคนมี “สิทธิเสรีภาพในการพูด” หรือ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” (Freedom of Speech) (“ยู เอ็ส คอนสติทิ๊วชั่น” มีทั้งหมด 27 อเม็นด์เม๊นท์”) ฉะนั้นในอเมริกาการกระทำ ที่เป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ฉีกทำลาย นั่งทับ และเผาธงชาติ อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” เพราะถือเป็นสิทธิของประชาชนที่แสดงออกถึงความคิดเห็น สื่อความหมาย รวมการประท้วง เหล่านี้ถือเป็นสิทธิของประชาชน

เป็นไงคะ สิทธิรัฐธรรมนูญในอเมริกาศักดิ์สิทธิแค่ไหน

 

กฎหมายเพื่อนบ้านและการปฏิบัติต่อกัน

วันนี้คุยกันเรื่องปัญหาเพื่อนบ้าน และ“กฎหมายเพื่อนบ้าน” “เนเบ้อร์ ลอว์” (Neighbor Law) ซึ่งคุณหลายคนคงได้ผ่านปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่เกลียดขี้หน้ากัน อยู่บ้านไม่มีความสุขถึงขั้นอยากย้ายบ้าน ปัญหาเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาต้นไม้ ซึ่งดิฉันได้ประสบกับตัวเอง ซึ่งมันค่อยๆบานปลาย
“เนเบ้อร์ ลอว์”
กฎหมายเพื่อนบ้านเป็นกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละเมือง เรียก “โลเคิล ออร์ดิแน๊นซ์” (Local Ordinance) บางแห่งเข้มงวดกว่าบางแห่ง แต่หลายสถานการณ์ที่ไม่มีกฎหมายกำหนด กรณีไม่มีข้อระบุในกฎหมาย ศาลจะตัดสินเป็นคดีๆไปดูจากคดีบรรทัดฐานหรือตามประเพณีความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น และการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล
ปัญหาต้นไม้เพื่อนบ้าน
ดิฉันอยู่บ้านหัวมุม จึงมีเพื่อนบ้านข้างเดียวซ้ายมือ ครอบครัวชาวอินเดีย 6 คน สามีภรรยามีลูกยังเด็ก 2 คน และพี่สะไภ้ ผู้ชายมีธุรกิจร้านขายลิคเก่อร์และแกมีรายได้เสริม คือขายรถมือสองที่คนมาฝากขายที่ร้าน และแกจะนำรถมาจอดที่หน้าบ้านบททางเข้าโรงรถหรือ “ไดร๊ว์ เวย์” (Driveway) บ้านแกปลูกต้นมะนาวและพุ่มไม้หลากชนิดเป็นรั้วเตี้ยกั้น (ดูรูป 1) ปัญหาคือ เวลาหน้ามะนาวออกลูก ลมจะพัดใบไม้และดอกไม้ร่วงมาเขต “ไดร๊ว์ เวย์” บ้านดิฉัน และพุ่มไม้ก็จะรกเร็ว (บ้านนี้ปลูกอะไรก็งาม) พี่สะไภ้ก็จะเดิน เสต็ปข้ามทางช่องว่างระหว่างรั้วต้นไม้ประมาณ 3 ฟุต ลงมา“ไดร๊ว์ เวย์” ทางเข้าโรงรถบ้านดิฉัน (ดูรูป 2) เข้ามาตัดกิ่ง เล็มต้นไม้ และมากวาดใบไม้ที่ปลิวมาเข้ามาเขตดิฉัน แรกๆเห็น ดิฉันก็ “แต๊ง กิ้ว” เขา พอแกเริ่มเข้ามาบ่อยเข้าและ ลากถังขยะของแกมาด้วย เพื่อกวาดใบไม้ทิ้ง หลายครั้งที่แกวางทิ้งถังขยะบน “ไดร๊ว์ เวย์” เพื่อไปทำธุระในบ้านแกเป็นชั่วโมง คราวนี้ดิฉันเริ่มรำคาญ แต่ก็พยายามทำใจ

รูป 1 ต้นมะนาวและพุ่มไม้แบ่งเขตรูป
2 ทางผ่าน


กฎหมายพุ่มไม้เป็นรั้วแบ่งเขต
กรณีพุ่มไม้เป็นรั้วแบ่งเขต ตามกฎทั่วไปรากต้นไม้อยู่บ้านไหน คนนั้นเป็นเจ้าของๆมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ ตัดหรือเล็มกิ่งไม้และใบไม้ กรณีกิ่งไม้และใบไม้ล้ำเข้าเขตเพื่อนบ้าน ถ้าเจ้าของต้นไม้จะเล็มต้นไม้เขตเพื่อนบ้าน เขาต้องขออนุญาตเพื่อนบ้าน เพื่อเข้ามาตัดหรือเล็มต้นไม้ในเขตเพื่อนบ้าน
บุกลุกพื้นที่
ปล่อยนานเข้าพี่สะไภ้เริ่มวิสาสะ ทุกวันพุธเป็นวันเก็บขยะ เรามี 3 ถังใหญ่ ขยะธรรมดา ขยะ“รีไซเคิล” และ ขยะเขียวสำหรับต้นไม้ใบไม้ พี่สะไภ้เริ่มลากถังขยะทั้ง 3 ถังผ่านทางช่องว่างระหว่างรั้วประมาณ 3 ฟุต ลงมา“ไดร๊ว์ เวย์” บ้านดิฉัน เพื่อเอาขยะไปวางหน้าบ้าน ดิฉันเห็นโดยบังเอิญครั้งแรก ผงะแต่พูดไม่ออก สัปดาห์ต่อไป คอยแอบดูว่าแกจะทำอีกไหม แกก็ยังทำอยู่ ดิฉันไปบอกสามี ว่าดิฉันต้องการบอกห้ามเพื่อนบ้าน สามีบอกก็ลองดูไปก่อน ดิฉันบอกสามีว่าถือเป็นการบุกลุกพื้นที่ ถ้าเราไม่ห้ามเขาเดี๋ยวนี้ ยิ่งนานไปยิ่งยากเหมือนกับว่าเราอนุญาตโดยปริยาย ดิฉันเลยตัดสินใจพูดกับพี่สะไภ้ทันที ว่า ดิฉันไม่ต้องการให้เขาใช้ทางเขตบ้านดิฉันเป็นทางผ่านถังขยะของเขา เพราะดิฉันกลัวเขาจะหกล้มในเขตบ้านดิฉัน แกจ้องหน้าดิฉันสักพักไม่พูดอะไร อีก 2-3 วัน ผู้ชายมาพูดกับดิฉันว่า “พี่สะไภ้ผมแข็งแรง ลากขยะหนักๆสบายไม่เคยหกล้มเลย” ดิฉันตอบ “นี่คุณดิฉันในฐานะทนาย ดิฉันต้องปกป้องตัวเองไว้ก่อน กรณีฉันห้ามคุณแล้ว ถ้าทางคุณยังเข้ามาอีกเท่ากับบุกรุก” เขาพูดต่อว่า “รถเราจอดเต็ม 3 คันไม่มีที่ลากขยะ” ดิฉันบอก “คุณก็เลื่อนรถสิคะ” ดูรูป 3

สรุป หลังจากนั้นแกก็ไม่ได้เดินผ่าน แต่ดิฉันต้องการให้ “ชัวร์” เพราะนึกว่าตอนดิฉันเดืนทางไปไทย 1 เดือน แกอาจจะข้ามเขตมาอีก เลยตัดสินใจเอาอิฐบล๊อกไปวางกั้นและวางต้นไม้กั้น ตามรูป 2
คำแนะนำการปฎิบัติต่อเพื่อนบ้าน
ดิฉันเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า เราไม่ควรสนิทกับเพื่อนบ้าน ในฐานะเพื่อน ไม่อย่างงั้นจะ ขยาย จาก 1 เป็น 2 และภายหลังก็ขัดใจกัน ดิฉันเชื่อว่าเพียงมี “มิตรภาพ” ให้เท่านั้นพอ “ยิ้ม” และเจอหน้าก็ “say Hi” ก็พอแล้ว ไม่ต้องปรับทุกข์หรือนินทาเพื่อนบ้านคนอื่นให้เพื่อนบ้านฟัง และมีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านก็ควรพูดทันที พูดตรงๆและจริงใจ ยิ่งเก็บ ยิ่งร้อนใจและไม่แฮ็ปปี้ ดิฉันมักจะนึกถึงคำสอนในพระคัมภีร์ ที่ว่า “Love thy neighbor”
“รักเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับรักตัวเอง”

รูปที่ 3

ข่าวดีล่าสุดของอิมมิเกรชั่น

เมื่อวันที่ 18  มีนาที่ผ่านมา“สภาล่าง”หรือ“เฮาส์ ออฟ เร็พพรีเซ็นเททีฟ” (House of Representative) ได้ผ่าน “บิล” หรือ “ร่างกฎหมาย” 2 ฉบับ คือ H.R 6 และ H.R.1603  ด้วย 228 ต่อ 197 เสียง สมาชิกพรรครีพับบลิคกัน 9 ท่าน ได้โหวตร่วมกับเดโมแครต ขั้นต่อไป 2 บิลนี้จะถูกส่งเข้า“สภาสูง”หรือ“เซเนท” (Senate) เพื่อโหวต เชื่อว่าสองบิลนี้จะผ่าน เพราะในเซเนท มีจำนวนวุฒิสมาชิกเท่ากัน เดโมแครท 50 รีพับบลิคกัน 50 ท่าน ถ้าเสมอ รอง ป.ธ.น. Harris โหวตเสียง ตัดสิน หลัง 2 บิลผ่าน “เซเนท” บิลถูกส่งให้ประธานาธิบดี “ไบเดน” เซ็น “บิล” ก็จะกลายเป็นกฎหมาย ดิฉันจะลงรายละเอียดอีกครั้งนะคะเมื่อ“บิล”ผ่าน เพราะอาจมีการต่อรองเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขบ้าง

บิล H.R 6 และ บิล H.R.1603  

บิล H.R 6 มีชื่อเรียกว่า  “อเมริกันดรีม แอนด์ พรอมมิส แอ๊กท์” (The American Dream and Promise Act) ดิฉันแปลว่า “ความฝันและคำสัญญา” ที่จะเป็นจริงของเด็กโรบินฮู้ด บิลนี้ช่วยเด็ก 3 กรุ๊บ

เด็กดาค่า

รากเกิดของบิลนี้มาจาก “ดาค่า” (“DACA” ย่อมากจาก Deferred Action for Childhood Arrivals) เป็น โปรแกรม ที่รัฐบาลโอบาม่าผ่านเป็น “คำสั่ง” ออกมาครั้งแรกปี ค.ศ. 2012 (ที่เป็นเพียง “คำสั่ง” เพราะ “บิล ดาค่า” นี้ไม่ผ่านสภา) บิลนี้ระงับการเนรเทศเด็กโรบินฮู้ดที่พ่อแม่พาเข้าอเมริกาตั้งแต่เล็กๆ เด็กเรียนหนังสือและเติบโตมาในอเมริกา เมื่อเรียนจบเด็กมีปัญหา เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ และไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ความฝันและความหวังของเด็กเหล่านี้เท่ากับพังสลาย  รัฐบาลโอบาม่าจึงผ่านคำสั่งให้ออกใบทำงานให้ “เด็ก ดาค่า” 2 ปีและสามารถต่อได้ ทุก 2 ปี พอมารัฐบาลทรัมพ์ ปี ค.ศ. 2017 “ทรัมพ์” พยายามยกเลิก “ดาค่า” แต่ไม่สำเร็จ จึงยกเลิกออกใบทำงาน และมีคำสั่งเนรเทศเด็ก “ดาค่า” ออกนอกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ถ้า บิล H.R 6 ผ่าน“เซเนท” จะเปิดให้“เด็ก ดาค่า” แอ็พพลายขอใบเขียวได้

คุณสมบัติ“เด็ก ดาค่า”

  • เด็กต้องอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ 1 มกราคม 2021 ถึงปัจจุบัน
  • เด็กต้องอายุต่ำกว่า 18 ปี ตอนเข้ามาในอเมริกา และอยู่ในอเมริกามาตลอดตั้งแต่นั้น (ถ้าเคยเดินทางออกนอกประเทศมีเงื่อนไขว่า ออกครั้งหนี่งต้องไม่เกิน 90 วัน และรวมอยู่นอกประเทศทั้งหมดต้องไม่เกิน 180 วัน)
  • เด็กต้องจบไฮสกูล หรือได้ประกาศนียบัตรGED หรือยังเรียนอยู่ในไฮสกูลหรือคอลเลจในอเมริกาหรือได้ออกจากทหาร (honorably discharged veteran of the Coast Guard or Armed Forces of the United States)
  • เด็กต้องไม่มีความผิดด้านกฎหมายรุนแรง ถ้ามีความผิดอาญาสถานเบา อาจสามารถขอผ่อนผันได้

เด็กที่ติดตามพ่อแม่ด้วยวีซ่า H-1B, L-1, E-1 และ E-2

นอกจาก “เด็ก ดาค่า” แล้ว บิล H.R 6 ครอบคลุมเด็กที่ติดตามพ่อแม่ที่ได้วีซ่าทำงานถาวร H-1B professionals, L-1 executives, managers and those with specialized knowledge และวีซ่าลงทุน E-1 treaty traders and E-2 treaty investors เด็กเหส่านี้จะได้วีซ่าเดียวกับพ่อแม่ แต่วีซ่าเด็กจะหมดอายุเมื่อเด็กอายุ 21 ปี เรียก“เอ็จด์-เอ๊าท์” (aged-out) เด็กจะต้องเปลี่ยนวีซ่าก่อนเด็กอายุ 21 ปี เช่น วีซ่านักเรียน ไม่อย่างนั้นวีซ่าขาดกลายเป็นโรบินฮู้ดหรือต้องเดินทางกลับบ้าน เด็กโรบินฮู้ดเหล่านี้สามารถขอใบเขียวได้เช่นกัน ส่วนเด็กที่ถูกส่งกลับเพราะ “เอ็จด์-เอ๊าท์” สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวที่สถานทูตได้  ถ้าเด็กอยู่ในอเมริกามาอย่างน้อย 4 ปี และออกนอกประเทศวันที่หรือหลังวันที่ 20 มกราคม 2017

หมายเหตุ กรณีพ่อหรือแม่เด็กในกรุ๊บวีซ่า in H-1B, L-1, E-1 และ E-2 พ่อหรือแม่ไม่จำเป็นต้องยังอยู่ในสถานภาพวีซ่าที่ตนเข้ามา พ่อหรือแม่อาจได้ใบเขียวเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นซิติเซ่น  หรือย้ายกลับไปประเทศของตนแล้ว เด็กยังสามารถขอใบเขียวได้ภายใต้ บิล H.R 6

ผู้ถือวีซ่า TPS (Temporary Protected Status)

TPS คือ ผู้ที่พลัดพลาหรือหนีจากประเทศของตน เนื่องจากภัยภิบัติ อย่างร้ายแรง ด้านธรรมชาติหรือการเมือง และประเทศนั้นๆอยู่ในรายชื่อที่สหรัฐกำหนดให้ได้รับความคุ้มครองปกป้องชั่วคราวอยู่ในสหรัฐ กรุ๊บนี้สามารถขอใบเขียวภายใต้ บิล H.R 6ได้

บิล H.R.1603

บิลนี้เรียกFarm Workforce Modernization Act of  2021ช่วยกสิกรผู้ถือวีซ่า H-2A จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายข้อ และให้พวกเขาได้ขอใบเขียวได้ในที่สุด เงื่อนไขคือ คือผู้ถือวีซ่า H-2A ต้องทำงานเป็นกสิกรอย่างน้อย 1035 ชั่วโมง ในระยะ 2 ปีก่อนวันที่ 8 มีนา 2021

สำหรับแฟนคอลัมน์โรบินฮู้ดที่รอคอยกฎหมายปฎิรูปอิมมิเกรชั่น อย่าพึ่งอ้าว จบแล้วเหรออย่าพึ่งผิดหวังนะคะ ดิฉันคิดว่าหลังสองบิลนี้ผ่าน บิลอิมมิเกรชั่นต่อไปน่าจะเป็นบิล ปฎิรูปกฎหมายอิมมิเกรชั่น ดิฉันคิดว่ารัฐบาล ไบเดนได้บทเรียนจากรัฐบาลโอบาม่า ที่โอบาม่าพยายามผ่าน บิล กฎหมายปฎิรูปอิมมิเกรชั่นชุดใหญ่ อภัยโทษให้โรบินฮู้ด โดยรวมเด็ก ดาค่าเข้าไปด้วยใบชุดใหญ่ จึงไม่ผ่านสภา เหตุผลทางการเมืองคิดว่า รีพับบลิคกันไม่ต้องการให้เดโมแครทรัฐบาลชุดโอบาม่าได้หน้า

ณ. วันนี้ คณะรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าระบบอิมมิเกรชั่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับทาง เดโมแครทพร้อมมาก เพราะมีสมาชิกในสภามากกว่ารีพับบลิคกันและไบเดน ท่านเป็นผู้อาวุโสในสภาและสมาชิกทั้งสองพรรค เชื่อถือและเกรงใจ และไบเดนยังเป็นคนหว่านล้อมเก่งอีกด้วย ใจเย็นๆรอหน่อยนะคะ