โควิดวัคซีนสำหรับผู้ขอใบเขียว

กฎอิมมิเกรชั่นสำหรับผู้ขอใบเขียวจากเมืองไทยผ่านสถานทูต (Consular Processing) ต้องฉีดโควิดวัคซีนก่อนเดินทางเข้าอเมริกา และผู้ที่ขอใบเขียวในอเมริกาหรือ“ปรับสถานภาพ” หรือ “แอ็ดจัสท์เม๊นท์ ออฟ สแตตัส” (Adjustment of status) ต้องมี “พรูฟ” ว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วเช่นกัน กฎใหม่มีผลบังคับใช้ 1 ตุลา 2021 นี้

ฉีดวัคซีนเมื่อไร

สำหรับผู้ที่ขอใบเขียวจากเมืองไทย  คุณควร มี “พรูฟ” ฉีดวัคซีนเรียบร้อยก่อนวันนัดไปตรวจร่างกาย และต้องนำนำผลฉีดวัคซีนไปโรงพยาบาลวันตรวจร่างกายด้วย  ร. พ. ที่ทางสถานทูตรับรองคือ ร.พ. บำรุงราษฎร์ ร.พ. บี เอ็น เค (BNK) หรือ แบ็งคอค เนิร์สซิ่ง โฮม และ ร.พ. แม็คคอร์มิค ในเชียงใหม่ 

บัตรฉีดวัคซีน ต้องเป็น “ออฟฟิเชียล วัคซีน เร็คคอร์ด” (official vaccine record) มีลงวันที่ที่ได้รับการฉีด ชื่อคุณ และ ควรมี ชื่อบริษัทผู้ผลิด และ ล็อทนัมเบอร์ และแสดงให้ทางโรงพยาบาลดู เพื่อทาง ร.พ. สามารถดูได้ว่าวัคซีนที่คุณฉีด ทางกระทรวงอาหารและยาของอเมริกา หรือ FDA (ย่อจาก Food and Drug Administration)  

วัคซีนที่อเมริกายังไม่ยอมรับ

สำหรับผู้ที่ขอใบเขียวจากเมืองไทย  ณ. วันที่ดิฉันเขียนนี้ วัคซีนนอกประเทศที่ FDA ในอเมริกายังไม่ยอมรับ  คือ อัสตร้า เซเนก้า (AstraZeneca)  และ “ครอส” หรือไขว้ วัคซีน คือ วัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองต้องชนิดเดียวกัน ต่างชนิดทางอเมริกายังไม่ยอมรับ

ฉีดวัคซีนเข็มที่สองเมื่อไร

ถ้าชนิดของวัคซีนกำหนดว่าต้องฉีดสองเข็ม ถึงจะถือว่า สมบูรณ์ คุณต้องฉีดเข็มที่สองให้ใกล้เคียงวันที่กำหนดมากที่สุด ถ้าฉีด 4 วัน ก่อน หรือ 4 วันหลังกำหนด เขาจะอนุโลมให้ แต่ถ้าไปฉีดเข็มที่สองมากกว่า 4 วันก่อนกำหนด ถือว่าวัคซีนนั้นไม่สมบูรณ์

อายุผู้ฉีด

  1. กฎของสายการบิน เด็กอายุเกิน 2 ปี ขึ้นไป ต้องมีผลตรวจโควิดว่า “เนกาทีฟ” (negative) ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง
  2. ณ. วันที่ดิฉันเขียนนี้ ทาง FDA ในอเมริกายังไม่ได้ประกาศเป็นทางการว่า วัคซีนโควิดชนิดไหน มีผลใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี (แต่คือพ่อแม่สามารถให้เด็กฉีดได้) หรือถ้าไม่ฉีดก็ได้ แต่ต้อง   

ผู้ได้รับยกเว้น

  • วัคซีนบางชนิด ไม่สามารถฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้  คุณต้องให้ทางผู้ผลิต หรือ “แมนูแฟ็กเจ้อร์” วัคซีนนั้น เขียนระบุลงด้วย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เรียกว่าเด็ก “อยู่ภายใต้การผ่อนผัน” โดยกรอกให้เหตุผลภายใต้ “แบล๊งเค็ท เวฟเว่อร์” (Blanket waiver)
  • กรณีผู้เดินทางมี ข้อห้าม หรือข้อควรระวัง “คอนทราอินดิเคชั่น” (Contraindication) ในการฉีดวัคซีนว่าอาจเป็นภัยต่อตนหรือแพ้อย่างแรง ถ้ามีหลักฐานแสดงหรือใบรับรอง สามารถได้รับการยกเว้นไม่ต้องฉีด โดยกรอกให้เหตุผลภายใต้  “คอนทรา อินดิเคทเท็ด (Contraindicated)
  • ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีปฏิกริยาต่อวัคซีนอย่างแรง และไม่สวามารถฉีดเข็มที่สองได้  ให้กรอกเหตุผลในข้อ “แบล๊งเค็ท เวฟเว่อร์” (Blanket waiver)
  • ถ้าในรัฐที่คุณอยู่ไม่มีหมอฉีด หรือมีซัพพลายวัคซีนไม่พอ หรือถ้าการ รอฉีดวัคซีนจะทำให้การไปสัมภาษณ์ต้องเลื่อนหรือล่าช้า ให้กรอกเหตุผลในข้อ “น็อท รูทีนลี่ อเวเลเบิ้ล” (Not routinely available)
  • ขอผ่อนผันการฉีดวัคซีนเนื่องจากความเชื่อในทางศาสนา ข้อนี้อ้างยากหน่อยค่ะ เพราะ ต้องส่งเรื่องขอผ่อนผันเข้าไปที่อิมมิเกรชั่นก่อน ส่วนข้ออื่นๆข้างต้น ถ้าทางหมอเซ็นรับรองก็ใช้ได้
  • ส่วนผู้ที่เคยติดโควิดมาแล้ว ไม่สามารถอ้างได้ว่าตนมีเชื้อ โควิด และมีภูมิต้านทาน คุณยังต้องฉีดโควิดวัคซีน อยู่ดี ไม่ได้รับการยกเว้นค่ะ

คำสอนแม่

เดือนนี้ดิฉันมี “ไร๊ทเท่อร์ส บล๊อค” (writers’ block) คือ นึกหัวข้อไม่ออกว่าจะเขียนอะไร เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ยุ่งเหยิง ข่าวอัฟกานิสถาน ข่าวไวรัสใหม่ “เดลต้า แวเรี่ยนซ” (Delta Variance) และดิฉันยังเผชิญความเศร้า คือ การตายจาก ดิฉันต้องค่อยตั้งสติ แยกประเด็นออกมาทีละเปราะและ deal กับมัน และได้คำสอนแม่ที่นำมาใช้

ข่าวอัฟกานิสถาน 

หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศจะถอนทัพอเมริกันทั้งหมดออกจากประเทศอัฟกานิสถานภายใน 31 สิงหานี้ ทุกครั้งที่ดิฉันเปิดอีเมล์ก็จะเห็นแต่ข่าวอัฟกานิสถานและรูปหน้าสกรีนที่สะเทือนใจ หลังเหตุการณ์ 9/11ปี ค.ศ. 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม อัล ไคด้า (al Qaeda) จากอัฟกานิสถาน ไฮแจ๊คเครื่องบินและบินชนถล่มตึก “เวิร์ลดเทรด” ในรัฐนิวยอร์ค รัฐบาล “จ๊อร์จ บุช” ประกาศส่งกองทัพอเมริกันเข้าไปประจำประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อกวาดผู้ก่อการร้าย 10 ปีให้หลังปี 2011 รัฐบาล “บาแร็ค โอบาม่า” ทหารอเมริกันได้ฆ่า”โอซาม่า บิน ลาเดน” (Osama Bin Laden) สำเร็จ โอบาม่าประกาศวางแผนถอนกองทัพทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานภายใน 10 ปี กันยาปี 2021 นี้ครบรอบ 20 ปีพอดี ป.ธ.น. ไบเดนจึงออกคำสั่งถอนทัพ ซึ่งแน่นอนเหตุการณ์ไม่มีทางราบรื่นได้ (ดูรูปล่าสุด ผู้ลี้ภัยอัฟกานเข้าอเมริกา)  

วิธีแก้เปราะนี้ ดูรูปผู้ลี้ภัยแล้วสงสารพวกเขาต้องจากบ้านจากเมืองมาตั้งต้นชีวิตใหม่ต่างแดน จำคำสอนแม่ได้ว่า“คนเราเลือกเกิดไม่ได้นะลูก ขึ้นอยู่กับบุญและกรรม ดูเด็กที่ทำไมไปเกิดในอัฟริกา ประเทศแห้งแล้งลำบากไม่มีจะกิน ลูกมีบุญที่เกิดในประเทศไทย และยังได้มาเกิดในท้องแม่” คุณแม่ยังสอนต่อว่า “ลูกต้องทำบุญมากๆในชาตินี้ ชาติหน้าลูกจะได้มาเกิดในท้องแม่อีก” คำสอนนี้ให้ดิฉันได้คิดว่า บุญ กรรม คงจะมีจริง คนเราเลือกเกิดไม่ได้  

ข่าวโควิดและ“เดลต้า แวเรี่ยนซ”

ข่าวโควิดนี้เรื้อรังมาเกือบ 2 ปี ต้นปีนี้ CDC (Centers for Diseases Control and Prevention) ศูนย์ควบคุมแลป้องกันโรค ได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด ประชาชนในอเมริกาส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนทำให้สถานการณ์เริ่มเบาลง รัฐคาลิฟอร์เนียผ่านยกเลิก “เสตย์ โฮม ออร์เด้อร์” (stay home order) วันที่ 15 มิถุนาที่ผ่านมา ทุกอย่างเกือบกลับสภาพปกติ ไม่ทันไรข่าวใหม่ออกมาอีกถึงไวรัสตัวใหม่ “เดลต้า แวเรี่ยนซ”ตามข่าวบอกว่าไวรัสตัวใหม่ร้ายแรงกว่าโควิด คนก็หวาดกลัวกันต่ออีก “เฮ็อ!” ตอนนี้รัฐบาลประโคมข่าวให้ผู้คนฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หรือ “บู๊สเต้อร์ ช็อท” (booster shot) และเมื่อไรจะพอหนอ ไวรัสสายพันธ์ใหม่ก็จะออกมาเรื่อยๆเราก็จะรอฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทางกันไปตลอดชีวิตหรือ

วิธีแก้เปราะนี้ คือ ดิฉัน “อดข่าว” เพราะว่าทำให้เครียด แต่ละวันมีแต่ข่าวโควิดสถิติตัวเลขจำนวนผู้ป่วยและผู้ตายจากโควิด ข่าวจะไม่พูดถึงประวัติผู้ตาย อายุ หรือโรคประจำตัว หรือสาเหตุที่ตายอย่างแท้จริง ตัวอย่าง เพื่อนบ้านดิฉันพึ่งตาย เพราะเธอเป็นโรค “ลูคีเมีย” ขั้นสุดท้าย ระหว่างเธออยู่ ร.พ. เพื่อทำคีโม ในระยะ 3 ปี  ระหว่างอยู่ ร.พ. เธอติดโควิด และตาย สามีเธอบอกว่าใบมรณบัตรภรรยาเขียนว่าเธอตายด้วยโรคโควิด สามีบอกต่อว่า ร.พ. ได้เงินเพิ่มรายหัวจากผู้ตายด้วยโควิด???  ดิฉันไม่ทราบว่าจริงไหม

วิธีปกป้องไวรัสคือ 1.ฉีดวัคซีน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย 2.สร้างภูมิต้านทานในร่างกายด้วยตัวเราเอง โดยไม่ฉีดวัคซีน ดิฉันเชื่อข้อสองมากกว่า ร่างกายคนเรามีระบบภูมิคุ้มกัน เป็นเซล์ภูมิต้านทานเรียก T Cell ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าด่าน เมื่อเชื้อไวรัสเข้าร่างกาย ภูมิคุ้มกันก็จะต่อสู้ช่วยกำจัดและทำลายเชื้อไวรัสได้ ถ้าเราสุขภาพดีแข็งแรงก็จะมีภูมิต้านทานสูง ฉะนั้นถ้จะติดโควิดก็จะป่วยน้อย และอีกอย่างตามสถิติหนุ่มสาวผู้อายุน้อยกว่า 50 ปี มีเปอร์เซ็นติดโควิดและมากกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาศที่ติดเชื้อไวรัสมาก่อน และไวรัสนั้นจะเหลืออยู่ในร่างกายเข้าใน T Cell เป็น“ซัพพลายที่มีความทรงจำ” (supply of memory) เผื่อมีไวรัสใหม่เข้ามาในอนาคต จะได้ต่อสู้มันได้ ดิฉันรู้ว่าตัวเองมีระบบภูมิคุ้มกันสูง เพราะบ้านเรา พ่อ แม่ ลูกออกกำลังทุกวันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทั้งโยคะ นั่งลมปราน ไทชี เราเดินวันละ 2 ไมล์ ดิฉันนอนวันละ 8 ชั่วโมง และดิฉันไม่เคยประมาท ในฐานะที่ดิฉันจัดอยู่ในกรุ๊บ ส.ว. จึงได้ผ่านไวรัสมาหลายชนิด ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ไข้หวัดซาร์ส(SARS) มาแล้ว ฉะนั้นมี“ซัพพลายที่มีความทรงจำ” และ ต้นปีนี้เพื่อนรักดิฉันติดโควิด เธอพักผ่อน 2-3 สัปดาห์ก็หายเอง ถ้าเพื่อนดิฉันต่อสู้กับโควิดได้เอง  ดิฉันรู้ว่าถ้าตัวเองติดโควิดก็ไม่ตายหรอก และในแง่ดีดิฉันก็จะมี “ซัพพลายที่มีความทรงจำ” ในตัว เผื่อมีไวรัสใหม่เข้ามาในอนาคต ร่างกายก็จะต่อสู้มันได้

การตายจาก

ความเศร้าโศรก เดือนนี้“เอ๊กซ์”ลูกเขยดิฉันตายฉับพลันจาก“สโตร๊ค”(stroke) เศร้าใจและสงสารหลานมาก คนเดียวไม่พอตามด้วย “พี่เขย” เป็นโรคหัวใจล้มเหลวอย่างแรง หรือ “แม็สสีฟ ฮ๊าร์ท แอ็ทแท็ค” (massive heart attack) ตอนนี้เรารอวันที่เขาจะจากเราไป ดิฉันเป็นห่วงพี่สาวมากๆเพราะเธออยู่คนเดียว นานแล้วดิฉันเคยสัญญาพี่สาวว่าถ้าพี่เขยเป็นอะไรไป ดิฉันจะบินไปหาเธอที่เยอรมันีทันที 

วิธีแก้เปราะนี้ คือ จำได้ตอนคุณพ่อเสีย ดิฉันร้องห่มร้องไห้ คุณแม่เตือนสติดิฉันว่า “คนเราไม่จากเป็นก็จากตาย นะลูก” ดิฉันก็นึกจริงแฮะ วันดิฉันจากบ้านไปอเมริกาอายุเพียง 18 ปี เท่ากับดิฉันได้ “จากเป็น” พ่อ แม่ มาตั้งแต่นั้น และบั้นปลายก็ “จากตาย” ดิฉันน่ะทำใจได้ แต่เป็นห่วงพี่สาว เลยตั้งใจว่าจะบินไปเยอรมันีอยู่เป็นเพื่อนพี่สาว คำสอนแม่ก็เข้ามาอีก ท่านเคยสอนว่า “เสียหนึ่งอย่าเสียสอง” ถ้าดิฉันบินไปหาพี่สาว โอกาสที่ดิฉันจะติดโควิดมีสูง ถ้าดิฉันติดคนนึง สามีและลูกต้องเครียดมากๆ ฉะนั้น “เสียหนึ่งอย่าเสียสอง” ดีกว่า สรุปตัดสินใจไม่เดินทาง 

ข้อคิด

อย่าเครียด หาอะไรคิดในสิ่งดีๆ มองโลกและชีวิตในแง่ดี แทนที่จะเศร้า เซ็ง และหวาดกลัวนะคะ

Culture Sensitive

พวกเราที่อยู่ในอเมริกา“ดินแดนแห่งผู้อพยพ” ทุกคนที่อยู่ในอเมริกาจะว่าเป็นชาวต่างด้าวทั้งหมดก็ได้ อเมริกามีคนต่างเชื้อชาติ ต่างสัญชาติ ต่างภาษา ต่างสีผิว และต่างวัฒนธรรม หลายชาติ หลายภาษา ในยุคปัจจุบัน เวลาพูดถึงคนแต่ละชาติ เเราจะต้องมีความอ่อนไหวกับวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เรียก“คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ” (culture sensitive) “คัลเช่อร์”= วัฒนธรรม “เซ็นซิทีฟ”= ความอ่อนไหว เราควรรู้ และใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการเรียกชื่อหรือพูดถึงคนแต่ละกรุ๊บ ถ้าเราใช้ศัพท์ไม่ถูกต้อง อาจบ่งถึงการรังเกียจและกีดกันเชื้อชาตินั้นๆ โดยเฉพาะอเมริกามีกฎหมาย “เฮ๊ท ไครมน์” (Hate Crime) เป็นกฎหมายที่เพิ่มโทษอาชญากรรมรุนแรง ถ้าผู้ใดทำร้ายผู้อื่นเนื่องจากความเกลียดชังสีผิว และเชื้อชาติ

ตั้งแต่เหตุการณ์ “นายน์/อีเลฟเว่น” (9/11) วันที่ 11 กันยายน 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ถล่มตึก “เวิร์ลด เทรด” ในรัฐนิวยอร์ค คนอเมริกันกีดกันและโกรธแค้นชาวมุสลิม คนไหนหน้าเหมือนแขก ก็ทึกทักว่าเป็น “แทโรริสท์” (terrorist) หรือผู้ก่อการร้ายหมด พอมายุค “โควิด” (COVID)ยุครัฐบาล“ทรัมพ์” ตอนโควิดระบาดใหม่ๆ ในทำเนียบขาวเอง ไม่ทราบว่าวุฒิสมาชิกคนไหนให้สัมภาษณ์ต่อหน้านักข่าว เรียก “ไข้หวัด โควิด” ว่า “คังฟลู” (kungflu) (ฟลู แปลว่า ไข้หวัด) ซึ่งเป็นการล้อเลียนถึงการรังเกียจคนจีน ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันจะได้ยินข่าวคนจีนถูกทำร้ายร่างกายด้วยความเกลียดชังสีผิว ป.ธ.น. ทรัมพ์เองตอนดำรงตำแหน่ง จะใช้สรรพนามเรียก คนเม็กซิกันที่ลักลอบเข้าอเมริกาตามชายแดนว่าพวก “แบ๊ด ฮ็อมเบรส์” (bad hombres) หรือ “พวกคนไม่ดี” 

“น็อน ซิติเซ่น” (NON CITIZEN)

รัฐบาล “ไบเดน” เมื่อ ป.ธ.น. โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมือวันที่ 20 มกราคม 2021 ในเดือนเรก ท่านได้ประกาศยกเลิกคำศัพท์ที่ “อิมมิเกรชั่น” ใช้เรียก คนต่างด้าวว่า “เอเลียน” (alien) คำว่า Alien แปลว่า มนุษย์ต่างดาว ???? และเรียกคนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายว่า “อิลลีเกิล เอเลียน” (illegal alien) คือ เอเลียนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ป.ธ.น. ไบเดน สั่งให้เปลี่ยนมาใช้คำ “น็อน ซิติเซ่น” (non-citizen)” แทน เรียกคนคนต่างด้าวที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน โดยประกาศว่า อเมริกาต้องให้ “ศักดิ์ศรี” หรือ “ดิ๊กนิตี้” (dignity) ต่อคนต่างชาติ และเรียกคนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายว่า “อัน ด๊อคคิวเม๊นท์เต็ด น็อน ซิติเซ่น” (undocumented non-citizen) คือคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร  

ลาติเน็กซ์ (LATINX)LATINX ออกเสียง “ลาติเน็กซ์” เป็นศัพท์ใหม่ภาษา “สแปนิช” ใช้เรียกพวก กลุ่มคนลาติน-อเมริกัน ที่เป็นเกย์หรือ เลสเบียน คือ “ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าเป็นชายหรือหญิง” คำสุภาพคือ พวก “เจ็นเด้อร์-นูทรัล” (gender-neutral) “ลาติเน็กซ์” เป็นศัพท์ใหม่ เริ่มใช้ในอเมริกา ส่วนมากเด็กรุ่นใหม่และเด็กคอลเลจ ที่เป็น“เกย์”หรือ“เลสเบี้ยน” จะใช้ศัพท์นี้ คำนี้มาดังในปี ค.ศ. 2016 น.ส.พ. ลงข่าวเหตุการณ์ที่ ชายมุสลิม เข้าไปยิงกราดใน “เกย์ไน๊ท์คลับ” เมือง โอลานโด รัฐฟลอริด้า วันที่ 12 มิ.ย. 2016 คืนนั้นมี ปาร์ตี้ Latin Night (ลาติน ไน๊ท์) คนตาย 49 คน บาดเจ็บ 53 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชาว ลาติน-อเมริกัน นักข่าวใช้สรรพนามถึงผู้ตายและบาดเจ็บว่า กลุ่มลาติเน็กซ์ ที่มาของคำสะกด X ไวยากรณ์ภาษาสแปนิช แยกเพศชาย และเพศหญิง เพศชายลาติน-อเมริกัน เรียก “ลาติโน่” (Latino) เพศหญิงลาติน-อเมริกัน เรียก “ลาติน่า” (Latina) คำ “ลาติเน็กซ์” Latinx มาจากการตัดอักษร O ออก คำ “ลาติโน่” และอักษร A ออกจาก “ลาติน่า” และใช้อักษร X แทน คำนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศเสปนและคนรุ่นเก่า ดิฉันเองจะไม่ใช้คำ ลาติเน็กซ์ เพราะครูสแปนิช Ms. Barbosa ที่ดิฉันเรียนภาษา สแปนิช กับเธอมาเกือบ 5 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ 

กลุ่มที่ ซัพพอร์ท วุฒิสมาชิก อลิซเบ็ท์  วอเรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  ยกป้ายแสดงว่า กลุ่ม “ลาติเน็กซ์” ซัพพอร์ทเธอ วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2020

ความหมายของอักษร X

ปัจจุบัน ยุค “คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ”  เวลาคุณจะใช้คำนำหน้า จ่าหน้าซอง หรือ การ์ดเชิญ หรือเรียก ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าเป็นชายหรือหญิง” หรือ พวก “เจ็นเด้อร์-นูทรัล” คุณจะใช้ Mx. ออกเสียง “เม็กซ์” แทนที่จะเรียก หรือใช้ Miss “มิส” หรือ Mr. “มิสเตอร์” ตัวอย่าง Mx. Jane Doe

LGBTQ 

ในอเมริกา เมื่อกล่าวถึงพวก กลุ่ม เกย์ เลสเบียน ไบ หรือแปลงเพศ จะใช้คำย่อว่า “แอล จี บี ที คิว” (LGBTQ) L ย่อมาจาก “เลส เบียน” (Lesbian) G ย่อมาจาก “เกย์” (Gay) B ย่อมาจาก “ไบเซ็กชัวล์” (Bisexual ได้ทั้งสองเพศ) T ย่อมาจาก “ทรานสเจ็นเด้อร์”(Transgender ผู้แปลงเพศ) และ Q ย่อมาจาก “เควียร์” (Queer พวกพิสดาร) หรือ ย่อมาจาก “เควสชันนิ่ง” (Questioningคือ ???? แล้วแต่คนจะแปล) คำว่า “เควียร์” เป็นคำศัพท์ที่รุนแรง และไม่สุภาพ ไม่แนะนำให้ใช้ค่ะ

เม็กซิกัน ชิคาโน่ ฮิสแปนิค และลาติโน่

เม็กซิกัน ชิคาโน ลาติโน่ และฮิสแปนิค ต่างกันอย่างไร ก่อนดิฉันเรียนภาษาสแปนิช เห็นใครพูดภาษาสแปนิช ก็จะคิดว่าเป็นเม็กซิกันเสียหมด เดี๋ยวนี้ดิฉัน“คัลเช่อร์ เซ็นซิทีฟ” มากขึ้น ความแตกต่างดังนี้

เม็กซิกัน (Mexican) หมายถึงคนที่เกิดในประเทศเม็กซิโก  หรือถือสัญชาติเม็กซิกัน หรือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตา ยาย เป็นเม็กซิกัน

ชิคาโน่ (Chicano) หมายถึงเด็กเม็กซิกันที่เกิดในอเมริกา ส่วนเม็กซิกันที่เข้ามาอยู่ในอเมริกา และภายหลังได้ใบเขียวหรือโอนสัญชาติ ก็ยังเรียกตัวเองว่า เม็กซิกัน หรือ เม็กซิกัน-อเมริกัน ตัวอย่างเปรียบเทียบ สำหรับดิฉัน ก็คือ “ไทย” แต่ถ้าเด็กไทยเกิดในอเมริกา ก็อาจใช้ “ไทย-อเมริกัน”

ฮิสแปนิค (Hispanic) ตามหลักหมายถึงพลเมืองที่พูดภาษาสแปนิชเป็นหลัก หรือพลเมืองที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาสแปนิชเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงประเทศ เสปน 

แต่ในอเมริกา เมื่อพูดถึง “ฮิสแปนิค” จะรวมไปถึงกลุ่มคนที่มาจากประเทศใน “ลาติน-อเมริกา” ลาติน อเมริกา รวม 3 ทวีป อเมริกาเหนือ (น๊อร์ท อเมริกา North America) อเมริกากลาง (เซ็นทรัล อเมริกา Central America) และอเมริกาใต้ (เซ๊าท์อเมริกา South America) จากประเทศ เม็กซิโกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาเหนือ ลงไปถึงอาร์เจนติน่า และบวกประเทศใน คาริเบียน (ดูรูป) ฉะนั้นเวลาเรียก ฮิสแปนิค และ ลาติโน่ ส่วนมากจะใช้มั่วกัน

แต่ความแตกต่างระหว่าง  ฮิสแปนิค และ ลาติโน่ คือ คนฮิสแปนิคส่วนใหญ่มาจากประเทศเสปนโดยเฉพาะ คนผิวขาว แถบคาบสมุทร ไอบีเรีย (ไอบีเรีย เพนนินซูล่า Iberia Peninsula) คำว่า “ฮิสแปนิค” รากศัพท์มาจากภาษา ลาติน “ฮิสปานิคัส”(Hispanicus) พวกเขาจะมีความภาคภูมิใจในประเทศของเขา เสปนเป็นประเทศที่เก่าแก่ มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เก่าแก่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

ลาติโน่ (Latino) ส่วนชาว ลาติโน่  เรียกกลุ่มคนตามหลักภูมิศาสตร์ ซึ่งครอบคลุม 33 ประเทศ บวกประเทศในกลุ่ม คาริเบียน ภาษาหลักคือ ภาษาสแปนิช ปอร์ตุกีส ฝรั่งเศษ คนจะมีหลายขนบธรรมเนีนมประเพณี ผิวขาว ผิวดำ ผสมคนพื้นเมืองและคนเอเชีย คนลาติโน่ อาจเรียกตนเองเป็น “ฮิสแปนิก” แต่คน “ฮิสแปนิก” จะไม่เรียกตนเองว่าเป็น “ลาติโน่”

ประเทศในกลุ่มลาติน อเมริกา

วันหยุดราชการใหม่ในอเมริกา

Happy 4th “แฮ็ปปี้ ฟอร์ทซ” นะคะ วันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวัน“อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) หรือวันประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1776 ปีนี้เท่ากับครบ 245 ปีที่อเมริกาสร้างประเทศ ทุกปีเมือง“ลา พาล์มม่า” (La Palma) มีฉลองวัน“จูลาย ฟอร์ทซ” มีวิ่งแข่งหรือเดินแข่ง 5 K 10 K ตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีพาเหรด ออกร้าน และเกมให้เด็กเล่น แต่ปีนี้เงียบเหงาเราไม่มีฉลอง 😞 ถึงแม้ผู้ว่ารัฐคาลิฟอร์เนียได้ประกาศเปิดรัฐ ธุรกิจเปิดปกติ แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 

วันนี้คุยความรู้เรื่องวันหยุดราชการของอเมริกา ที่มา และวันหยุดราชการวันใหม่ชื่อวัน“จูนทีนซ์” ที่จะเริ่มมีผลใช้ปีหน้า 

ใครกำหนดวันหยุดราชการ

วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบันมีทั้งหมด 11 วัน เริ่มปีหน้าเราจะมีวันหยุดราชการใหม่เรียกวัน “จูนทีนซ์” เป็น 12 วันตามกฎหมายอำนาจของการสถาปนาวันหยุดราชการขึ้นอยู่กับรัฐสภาหรือ“คองเกรส” เมื่อมีผู้ยื่นเสนอวันหยุดเข้าไปในสภาจะมีการโวท และถ้าผ่านจึงส่งต่อให้ประธานาธิบดีเซ็นชื่อ วันหยุดราชการจึงผ่านได้ วันหยุดราชการออฟฟิสรัฐบาลทั่วประเทศปิด และสถาบันที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลจะปิดด้วย เช่น ธนาคาร โรงเรียน ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น รัฐแต่ละรัฐอาจเลือกไม่รับวันหยุดราชการนั้นได้ และรัฐมีอำนาจที่จะตั้งวันหยุดราชการของรัฐเองได้

วันหยุดราชการในอเมริกาปัจจุบัน

  1. นิว เยียร์ส เดย์ (New Year’s Day) วันปีใหม่ ตรงกับวันที่  1 มกราคม
  2. อินอ๊อกกิวเรชั่น เดย์ (Inauguration Day) วันสถาปนาประธานาธิบดี มีทุก 4 ปี (อเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก  4 ปี) ตรงกับวันที่ 20 มกราคม ที่ทำการรัฐบาลจะปิดหมด 
  3. มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ (Martin Luther King, Jr. Day) เรียกย่อว่า วัน MLK Day ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ที่มา มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เกิดวันที่ 15 มกราคม1929 เป็นบาทหลวงชาวผิวดำ ท่านเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Civil rights activist) และเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างผิว ท่านดำเนินรอยตามนโยบายของท่าน “มหาตม คานธี” คือเดินขบวนประท้วงแบบสงบไม่ใช้อาวุธ ท่านถูกลอบสังหารปี ค.ศ. 1968 อายุเพียง 39 ปี ปีค.ศ. 1971 หลายรัฐที่ประกาศวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการประจำรัฐ และหลายครั้งที่มีการเสนอวัน“มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เข้าสภา แต่ไม่ผ่าน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1983 สมัยรัฐบาลป.ธ.น. รอนัลด์ เรแกน วัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” ได้ผ่านสภา และมีผลใช้ปี  ค.ศ. 1986 มี 3 รัฐทางตอนใต้ รัฐนิว แฮมเชียร์ รัฐอาริโซน่า และรัฐเซ๊าท์ คาโรไลน่า ไม่ยอมรับวัน “มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์” เป็นวันหยุดราชการ (ท้าวความถึงประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามกลางเมืองหรือสงครามเลิกทาสคนผิวดำ  ระหว่างรัฐตอนเหนือและรัฐตอนใต้ขัดแย้งกัน รัฐตอนเหนือต้องการเลิกทาส แต่รัฐตอนใต้ไม่ต้องการเลิกทาส ความรังเกียจและกีดกันคนผิวดำยังฝังอยู่ในจิตใจคนทางใต้อยู่) จนกระทั่ง 14 ปี ให้หลัง ในค.ศ. 2000 ทั้ง 3 รัฐยอมรับ วัน มาร์ติน ลูเท่อร์ คิง จูเนียร์ เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
  4. จอร์จ วอชิงตันส เบิร์ทเดย์ (George Washington’s Birthday) ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ จอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ท่านถือเป็น “บิดาของประเทศ” หรือ The father of our country วันเกิดท่านตรงกับวันที่ 22 ก.พ. แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันจันทร์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. เพื่อข้าราชการจะได้หยุด 3 วัน เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ วันนี้บางครั้งเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” (Presidents’ Day) บางรัฐ และหลายปฏิทินจะเขียนวันนี้ว่าวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” ที่มาคือ ตามปฏิทินในเดือนกุมภาเรามีวันหยุด 2 วันหยุด คือวัน “ลินคอล์น’ส เบิร์ทเดย์” เกิดวันที่ 12 ก.พ. (ประธานาธิบดี “เอบราฮัม ลินคอล์น” เป็นผู้ประกาศเลิกทาส) วันนี้ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่หลายรัฐสถาปนาเป็นวันหยุด ในสภามีการเคลื่อนไหวที่จะรวมวันเกิด วอชิงตัน และลินคอล์น เป็นวันรำลึกถึงประธานาธิบดีทั้งสองเรียกวัน “เพรสสิเด๊นท์ เดย์” แทนที่จะเป็น “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นทางการ ปัจจุบันยังใช้ชื่อ “จอร์จ วอชิงตัน’ส เบิร์ทเดย์” อยู่ (ดิฉันคิดเองว่า รัฐทางใต้อีกนั่นแหละที่ไม่แฮ็ปปี้กับ ป.ธ.น. ลินคอล์นเท่าไร) 
  5. เม็มโมเรียล เดย์ (Memorial Day) ตรงกับวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เป็น วันรำลึกถึงทหารผ่านศึกที่ตายในสงครามกลางเมือง “สงครามเลิกทาส” หรือ“ซิวิล วอร์” (Civil war)  ที่มาคือ วันที่ 5 พ.ค. 1868 เป็นวันประกาศสงครามสิ้นสุด รัฐทางเหนือชนะ สามปีให้หลังรัฐสภาผ่านวันที่ 30 พ.ค. เป็นวัน เม็มโมเรียล เดย์ เพราะสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นวันที่ดอกไม้ออกสะพรั่งทั่วประเทศ ปัจจุบันวันนี้กลายเป็นวันที่คนส่วนมากจะรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเอาดอกไม้ไปเคารพที่หลุมฝังศพ
  6. อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์ (Independence Day) ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพจากสงครามระหว่างอเมริกา(เมืองขึ้น)กับประเทศอังกฤษ สงครามประกาศสิ้นสุดลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 อเมริกาได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
  7. เลเบ้อร์ เดย์ (Labor Day) หรือวันแรงงาน ตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน ที่มาคือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 สหภาพแรงงานมีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนงาน เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานเป็น 8 ชั่วโมงต่อวัน วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1882 เมืองนิวยอร์ค มีพาเหรดครั้งแรกฉลองวันแรงงาน ในปี ค.ศ. 1887 รัฐโอริกอน เป็นรัฐแรกที่ประกาศตั้งวันแรงงานเป็นวันหยุดของรัฐ  ค.ศ. 1894 รัฐสภาผ่านวันแรงงานเป็นวันหยุดราชการ 
  8. โคลัมบัส เดย์ (Columbus Day) ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ตามประวัติศาสตร์ โคลัมบัสเป็นผู้ค้นพบอเมริกา เขาล่องเรือเข้ามาถึงแผ่นดินใหม่นี้เมื่อปี ค.ศ. 1942 อเมริกาประกาศวัน โคลัมบัส เดย์ ในปี 1937 เพื่อสดุดี โคลัมบัส ที่เป็นผู้ค้นพบประเทศ กระทั่งช่วง ทศวรรษ 1970 คนหลายกลุ่มไม่พอใจ ขัดแย้งว่า เราควรจะสดุดีชนพื้นเมืองที่อยู่ในอเมริกามาตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่โคลัมบัส ปัจจุบันบางครั้งเรียกวัน โคลัมบัส เดย์ว่า วัน “อินดิจินัส พีเพิล’ส เดย์” (Indegenous Peoples’ day) หรือวันชนพื้นเมือง
  9. เวทเทอรันส์ เดย์ (Veterans Day) หรือวันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 11 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันรำลึกถึงทหารผ่านศึก ที่มาเริ่มแรกคือ เพื่อสดุดีพวกทหารที่ต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วันประกาศสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 ปัจจุบันเป็นวันรำลึกถึงทหารทุกคนที่รับใช้ประเทศชาติ 
  10. แต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ (Thanksgiving Day) วันขอบคุณพระเจ้า ตรงกับวันพฤหัสที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน  ที่มาคือ ช่วงที่ผู้อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เข้ามาในอเมริกา มีกลุ่มพวก “พิลกริม” (ผู้แสวงบุญ) เข้ามาตั้งรกรากแถบอาณานิคมรัฐเวอร์จิเนีย พวกเขาประสบความลำบาก อดหยากหลายปี จนปี ค.ศ. 1621 ปลายเดือนตุลาคน เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ปีนั้นเป็นปีแรกที่พวกพิลกริมมีการฉลอง ขอบคุณพระเจ้าเป็นครั้งแรก ที่ให้พืชผลเขา พวกเขากินเลี้ยงฉลอง 3 วัน 3 คืน ปี ค.ศ. 1942 รัฐสภาผ่านวันแต๊งส์กิฟวิ่ง เดย์ เป็นวันหยุดราชการ
  11. คริสมัส เดย์ (Christmas Day) ตรงกับวันที่ 25 ของเดือน ธ.ค. วันหยุดของชาวคริสเตียน ฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระเยซู 

วัน“จูนทีนซ์” (Juneteenth)

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ลงนามผ่านวัน“จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการ เริ่มปีหน้า 2022 ตรงกับวันที่ 19 มิถุนายน คำว่า Juneteenth ย่อมาจาก June Nineteenth (June 19th ) มีเรียกกันหลายชื่อ  วัน“แบล๊ค อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Black Independent Day) วันประกาศอิสรภาพของคนผิวดำ; วัน “จูบิลี เดย์” (Jubilee Day) หรือวันเฉลิมฉลอง; วัน “ฟรีดอม เดย์” (Freedom Day) หรือวันอิสรภาพ  และวัน “อิแมนซิเพชั่น เดย์” (Emancipation Day) หรือวันปลดปล่อยทาส เป็นต้น ที่มาของวันนี้คือ สงครามกลางเมือง หรือ “ซิวิล วอร์” (Civil War) หรือสงครามเลิกทาส เกิดขึ้นระหว่างระหว่างปี  ค.ศ.1861-1865 อเมริกาแบ่งเป็นสองฝ่าย 

รัฐทางเหนือเรียก “พวก ยูเนียน” (Union) มี 23 รัฐ (ดูรูป รัฐทางเหนือเฉดสีฟ้า) เรียก ฟรี เสตทส (Free States) คือรัฐอิสระ ไม่มีทาสผิวดำ ประธานาธิบดี “ลินคอล์น” พึ่งรับเข้าตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้นำ รัฐทางเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรม ไม่มีความจำเป็นต้องมีทาส คนผิวดำที่อยู่รัฐทางเหนือถือเป็นบุคคลอิสระ

รัฐทางใต้ เรียก “รัฐ คอนเฟ๊ดเดอเรทส” (Confederates) มี 11 รัฐ (ดูรูป รัฐทางใต้ เฉดสีเทา) เรียก “สเลฟ สเตทส” (Slave States) คือรัฐมีทาสผิวดำ คนผิวดำไม่ใช่คนเป็นอิสระ พวกเขาถือเป็นสมบัติของเจ้านาย เพราะเจ้านายซื้อเขามา รัฐทางใต้มีภูมิลำเนาทำกสิกรรม ทำไร่ยาสูบและไร่ฝ้ายเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงต้องการทาสคนผิวดำมาทำไร่ ทางใต้แยกรัฐบาลจากทางเหนือ มีรัฐบาลของตนเองและผู้นำ ชื่อ เจ็ฟเฟอร์สัน เดวิส 

ประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศปลดปล่อยทาส ณ. วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 ว่าทาสทุกคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ “คอนเฟ็ดเดอเรทส์” ทุกคนได้เป็นอิสระ แต่ในภาคปฏิบัติรัฐทางใต้ก็ยังเลี้ยงทาสอยู่ สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงปี ค.ศ. 1865 รัฐทางเหนือชนะ ปี ค.ศ. 1866 วันที่ 19 มิถุนายน ทาสผิวดำในเมือง “เกลเวสตัน” (Galveston)  รัฐ เท็กซัส ฉลองเลิกทาสมีพาเหรด และเรียกวันนั้นว่าวัน “จูบิลี เดย์” ปี ค.ศ. 1979 รัฐเท็กซัสเป็นรัฐแรกที่ ประกาศ วัน “จูนทีนซ์” เป็นวันหยุดราชการของรัฐ

ในความคิดดิฉัน ก็ว่ามันแฟร์ดีนะคะ อเมริกาผ่านสงครามเพื่ออิสรภาพ 2 ครั้ง ๆแรก จากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษปี ค.ศ. 1776 และ 85 ปี ให้หลัง เกิดสงครามครั้งที่สอง ค.ศ.18611865 คนอเมริกันต่อสู้กันเองเพื่ออิสรภาพและความเสมอภาคของคนผิวดำ  นี่คืออเมริกาค่ะ Liberty for All

ธงชาติ

วันที่ 14 มิถุนายนเป็น “วันธงชาติ” หรือ “แฟล๊ก เดย์” (Flag Day) ของอเมริกา และวันที่ 4 กรกฎาคม “จูลาย ฟอร์ทซ” (July 4th) เป็นวันชาติหรือ “วันประกาศอิสรภาพ” ของอเมริกาจากอังกฤษ “อินดีเพ็นเด๊นท์ เดย์” (Independent Day) ซึงเป็นวันหยุดราชการ “แนชันเนิล ฮอลิเดย์” (National holiday) คอลัมน์นี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับธงชาติอเมริกา ประวัติความเป็นมา เพลงชาติ คำปฏิญานต่อหน้าธงชาติ สิทธิส่วนตัวในการเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ ภาษิตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเกล็ดความรู้สำหรับคุณที่อยู่อเมริกาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะสอบซิติเซ่น ประโยคไฮไลท์สีดำอยู่ในข้อสอบซิติเซ่น

ลักษณะและสัญลักษณ์ธงชาติ

ธงชาติอเมริกัน “อเมริกัน แฟล๊ก” (American flag)  หรือ “เดอะ ยู เอส แฟล๊ก”  (the U.S. flag) มีชื่อเล่นเรียกกันว่า “สตาร์ส แอนด์ ไสตร๊ปส” (Stars and Stripes) แปลว่า ดาวและแถบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติ ดาว 50 ดวง เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ 50 รัฐในอเมริกา และ แถบ 13 แถบ  เป็นสัญลักษณ์ของ 13 รัฐแรกที่เป็นอาณานิคมของอเมริกา  

อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” (Declation of Independence) วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” (Thomas Jefferson) เป็นผู้เขียน “เดคลาเลชั่น อ๊อฟ อินดีเพ็นเด๊นซ์” ตอนนั้นอเมริกายังไม่มีธงชาติของตนเอง ธงชาติแรกที่นำมาใช้ปี ค.ศ. 1916 มี 13 แถบซึ่งหมายถึง 13 อาณานิคมแรก และกากระบาทมีขีดไขว์ เป็นสัญลักษณ์ของ “ยูเนี่ยน” (Union) ยืมรูปของธงอังกฤษมาใช้ เรียก ธงแรกว่า “เดอะ แกรนด์ ยูเนียน แฟล๊ก” (The Grand Union Flag) ในปีนั้น ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” (Woodrow Wilson) ประกาศ วันรำลึกธงชาติให้เป็นวันที่ 14 มิถุนายน ในปี ค.ศ. 1917 ธงชาติอเมริกันได้เปลี่ยนจากมุมรูปกากระบาทเป็นดาว 13 ดวงแทน หลังจากนั้นธงชาติเปลี่ยนดีไซน์ไปเรื่อยๆแต่ละครั้งที่เพิ่มรัฐใหม่ ก็จะเพิ่มดาวทีละดวง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1960 เพิ่มดาวดวงที่ 50 เป็นรัฐสุดท้าย รัฐ “ฮาวาย” (Hawaii)

ธงชาติแรก“เดอะ แกรนด์ ยูเนียน แฟล๊ก” | ธงชาติที่สอง | ธงชาติปัจจุบัน

เพลงชาติอเมริกัน

เพลงชาติ เรียก “แนชั่นแนล แอนซตัม” (National Anthem) เพลงชาติอเมริกันมีชื่อเรียก ว่า “ เดอะ สตาร์ สแปงเกิล แบนเน่อร์” (The Star Spangled Banner) ใช้ครั้งแรกสมัย ประธานาธิบดี “วู๊ดโรว์ วิลสัน” และหลังจากนั้นปี ค.ศ. 1931 ได้ออกกฎหมายเป็นเพลงชาติประจำประเทศ วันที่คุณไปสาบานตนเป็นซิติเซ่น เขาจะเปิดเพลงชาติ คุณต้องลุกขึ้นยืน และมือขวาแตะที่หัวใจหน้าอกข้างซ้าย เช่นเดียวกับเวลายืนเคารพธงชาติ ดูรูป ลูกความดิฉันที่ไปสาบานตนวันได้รับซิติเซ่น เมื่อลุกขึ้นยืน น้ำตาไหลกันทุกคน รวมทั้งดิฉัน


วันสาบานตนเป็นอเมริกันซิติเซ่น

คำปฏิญาณ

การให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่ออเมริกาและธงชาติ  เรียก “เพล็จ ออฟ อัลลีเจียนซ”  (Pledge of Allegiance) ต่อ “ยูไนเต็ด เสตทส ออฟ อเมริกา” และ “เดอะ แฟลก” หนึ่งในคำถามของข้อสอบซิติเซ่น และเจ้าหน้าที่จะถามคุณว่า คุณเต็มใจที่จะให้คำสัตย์ปฏิญานว่าคุณจะจงรักภักดีต่อประเทศอเมริกหรือไม่ ข้อความของคำสัตย์ปฏิญาน คือ “ข้าพเจ้าให้คำปฏิญานว่าจะจงรักภักดีต่อธงชาติสหรัฐอเมริกา และต่อสาธารณรัฐที่ตั้งอยู่ ชาติหนึ่งชาติเดียวภายใต้พระเจ้า ไม่มีการแตกแยก ด้วยเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกคน” “I pledge allegiance to the flag of the United States of America and to the republic for which it stands, one nation under God, indivisible, with liberty and justice for all.”  

ภาษิตแรกของประเทศ

ภาษิต ภาษาอังกฤษเรียก “ม๊อตโต้” (motto) ภาษิตแรกของประเทศ หรือ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้ (Nation’s first motto) ของอเมริกาคือ “อี พลูริบัส อูนัม” (E pluribus unum)  เป็นภาษาลาติน แปลว่า “จากจำนวนมาก เป็นหนึ่ง” หรือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน” (out of many, one) ข้อนี้อยู่ในข้อสอบซิติเซ่นชุดใหม่ สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องขอซิติเซ่นหลังวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2020 คำถามคือ ภาษิตแรกของประเทศ “เนชั่น เฟริสท์ ม็อตโต้”  “อี พลูริบัส อูนัม” หมายความว่าอะไร คำตอบคือ “เอ๊าท์ ออฟ เมนนี่ วัน”

ภาษิตแรกนี้มีความศักดิ์สิทธิในจิตสำนึกคนอเมริกันมาก เนื่องจากความหมายที่กินใจ คำว่า “จากจำนวนมาก” หมายถึงผู้คนหลายชาติหลายภาษาที่อพยพแสวงหาแผ่นดินใหม่เพื่ออิสระและเสรีภาพ มารวมกัน “เป็นหนึ่ง” ภาษิตของประเทศปัจจุบัน (Nation’s motto) เปลี่ยนใหม่ เป็น “อิน ก๊อด วี ทรัสท์” (In God We Trust) แปลตรงตัว คือ “ในพระเจ้า เราเชื่อ” ภาษิตใหม่นี้ มีชนหลายกลุ่มต่อต้าน เพราะคำว่า GOD ตีความหมายบ่งถึงศาสนาคริสต์โดยเฉพาะ เพราะไม่ทุกคนที่นับถือพระเจ้า เช่นศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา “เอเซตียส” (Atheist) เป็นต้น มีหลายกลุ่มที่นำคดีขึ้นศาลและต้องการให้กลับไปใช้ภาษิตเก่า “อี พลูริบัส อูนัม”  แต่คดีเคยไม่ถึงศาลสูงสุด

กฎหมายเกี่ยวกับการเคารพธงชาติ

อเมริกามีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธงชาติ ระบุความอาญาและโทษต่ออาชญากรรมต่อธงชาติ ระบุถึงวิธี และประเพณีในการเคารพธงชาติ ทุกคำในเนื้อหากฎหมายบทนี้ใช้คำว่า “should” คือ “ควรจะ” ทำความเคารพธงชาติด้วยวิธีใด แต่ไม่ออกเป็นกฎบังคับ เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเคารพหรือไม่เคารพธงชาติ หรือทำการกระทำดูหมิ่นธงชาติเช่น คดี Smith v. Goguen (1974) นาย Goguen ถูกจับในข้อกล่าวหาดูหมิ่นธงชาติตามกฎหมายรัฐแมสสาจูเซ็สท์ เมื่อเขานำเศษผ้าสี่เหลี่ยมลายธงชาติ เย็บปะก้นกางเกงและนั่งทับสัญลักษณ์ธงชาติ เมื่อคดีขึ้นถึงศาลสูงสุด ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินรัฐแพ้ และเขียนความเห็นว่า “ข้อระบุในกฎหมายห้ามแสดงการดูหมิ่นธงชาตินั้นกว้างเกิน การลงโทษจำเลยในกรณีนี้ไม่ใช่เพื่อต้องการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของผืนธงชาติ แต่เป็นการลงโทษในการสื่อความหมายเกี่ยวกับธงชาติ คดีเผาธงชาติ (Flag Burning Case) Street v. New York (1969) หลังจากที่ผู้นำผิวดำนาย James Meredith ผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคถูกลอบยิงตาย นาย Street ได้เผาธงชาติบนหัวมุมถนน และตะโกนด่ารัฐบาลว่า “เรามีธงชาติไว้หาสวรรค์อะไรเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครอง ปล่อยให้นาย Meredith ตาย” นาย Street ถูกจับในข้อกล่าวหาเผาธงชาติในที่สาธารณตามกฎหมายรัฐนิวยอร์ค เมื่อคดีขึ้นศาลสูงสุดศาลตัดสินให้รัฐแพ้ให้ความเห็นว่า “รัฐไม่สามารถลงโทษผู้ทำลายธงชาติในที่สาธารณะเมื่อการกระทำนั้นเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงรัฐบาล กฎหมายรัฐละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญ”


รูปเผาธงชาติประท้วง ปี ค.ศ. 2008 ปีที่ ป.ธ.น. โอบาม่าชนะเสียงเลือกตั้ง

เสรีภาพในการพูด

รัฐธรรมนูญของอเมริกา หรือ “ยู เอ็ส คอนสติทิวชั่น” มีความศักดิ์สิทธิมาก บทเฉพาะการฉบับแรก เรียก “เฟริสท์ อเม็นด์เม๊นท์” (First Amendment) ระบุว่าทุกคนมี “สิทธิเสรีภาพในการพูด” หรือ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” (Freedom of Speech) (“ยู เอ็ส คอนสติทิ๊วชั่น” มีทั้งหมด 27 อเม็นด์เม๊นท์”) ฉะนั้นในอเมริกาการกระทำ ที่เป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ฉีกทำลาย นั่งทับ และเผาธงชาติ อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ “ฟรีด้อม ออฟ สปีช” เพราะถือเป็นสิทธิของประชาชนที่แสดงออกถึงความคิดเห็น สื่อความหมาย รวมการประท้วง เหล่านี้ถือเป็นสิทธิของประชาชน

เป็นไงคะ สิทธิรัฐธรรมนูญในอเมริกาศักดิ์สิทธิแค่ไหน

 

กฎหมายเพื่อนบ้านและการปฏิบัติต่อกัน

วันนี้คุยกันเรื่องปัญหาเพื่อนบ้าน และ“กฎหมายเพื่อนบ้าน” “เนเบ้อร์ ลอว์” (Neighbor Law) ซึ่งคุณหลายคนคงได้ผ่านปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่เกลียดขี้หน้ากัน อยู่บ้านไม่มีความสุขถึงขั้นอยากย้ายบ้าน ปัญหาเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาต้นไม้ ซึ่งดิฉันได้ประสบกับตัวเอง ซึ่งมันค่อยๆบานปลาย
“เนเบ้อร์ ลอว์”
กฎหมายเพื่อนบ้านเป็นกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละเมือง เรียก “โลเคิล ออร์ดิแน๊นซ์” (Local Ordinance) บางแห่งเข้มงวดกว่าบางแห่ง แต่หลายสถานการณ์ที่ไม่มีกฎหมายกำหนด กรณีไม่มีข้อระบุในกฎหมาย ศาลจะตัดสินเป็นคดีๆไปดูจากคดีบรรทัดฐานหรือตามประเพณีความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น และการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล
ปัญหาต้นไม้เพื่อนบ้าน
ดิฉันอยู่บ้านหัวมุม จึงมีเพื่อนบ้านข้างเดียวซ้ายมือ ครอบครัวชาวอินเดีย 6 คน สามีภรรยามีลูกยังเด็ก 2 คน และพี่สะไภ้ ผู้ชายมีธุรกิจร้านขายลิคเก่อร์และแกมีรายได้เสริม คือขายรถมือสองที่คนมาฝากขายที่ร้าน และแกจะนำรถมาจอดที่หน้าบ้านบททางเข้าโรงรถหรือ “ไดร๊ว์ เวย์” (Driveway) บ้านแกปลูกต้นมะนาวและพุ่มไม้หลากชนิดเป็นรั้วเตี้ยกั้น (ดูรูป 1) ปัญหาคือ เวลาหน้ามะนาวออกลูก ลมจะพัดใบไม้และดอกไม้ร่วงมาเขต “ไดร๊ว์ เวย์” บ้านดิฉัน และพุ่มไม้ก็จะรกเร็ว (บ้านนี้ปลูกอะไรก็งาม) พี่สะไภ้ก็จะเดิน เสต็ปข้ามทางช่องว่างระหว่างรั้วต้นไม้ประมาณ 3 ฟุต ลงมา“ไดร๊ว์ เวย์” ทางเข้าโรงรถบ้านดิฉัน (ดูรูป 2) เข้ามาตัดกิ่ง เล็มต้นไม้ และมากวาดใบไม้ที่ปลิวมาเข้ามาเขตดิฉัน แรกๆเห็น ดิฉันก็ “แต๊ง กิ้ว” เขา พอแกเริ่มเข้ามาบ่อยเข้าและ ลากถังขยะของแกมาด้วย เพื่อกวาดใบไม้ทิ้ง หลายครั้งที่แกวางทิ้งถังขยะบน “ไดร๊ว์ เวย์” เพื่อไปทำธุระในบ้านแกเป็นชั่วโมง คราวนี้ดิฉันเริ่มรำคาญ แต่ก็พยายามทำใจ

รูป 1 ต้นมะนาวและพุ่มไม้แบ่งเขตรูป
2 ทางผ่าน


กฎหมายพุ่มไม้เป็นรั้วแบ่งเขต
กรณีพุ่มไม้เป็นรั้วแบ่งเขต ตามกฎทั่วไปรากต้นไม้อยู่บ้านไหน คนนั้นเป็นเจ้าของๆมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ ตัดหรือเล็มกิ่งไม้และใบไม้ กรณีกิ่งไม้และใบไม้ล้ำเข้าเขตเพื่อนบ้าน ถ้าเจ้าของต้นไม้จะเล็มต้นไม้เขตเพื่อนบ้าน เขาต้องขออนุญาตเพื่อนบ้าน เพื่อเข้ามาตัดหรือเล็มต้นไม้ในเขตเพื่อนบ้าน
บุกลุกพื้นที่
ปล่อยนานเข้าพี่สะไภ้เริ่มวิสาสะ ทุกวันพุธเป็นวันเก็บขยะ เรามี 3 ถังใหญ่ ขยะธรรมดา ขยะ“รีไซเคิล” และ ขยะเขียวสำหรับต้นไม้ใบไม้ พี่สะไภ้เริ่มลากถังขยะทั้ง 3 ถังผ่านทางช่องว่างระหว่างรั้วประมาณ 3 ฟุต ลงมา“ไดร๊ว์ เวย์” บ้านดิฉัน เพื่อเอาขยะไปวางหน้าบ้าน ดิฉันเห็นโดยบังเอิญครั้งแรก ผงะแต่พูดไม่ออก สัปดาห์ต่อไป คอยแอบดูว่าแกจะทำอีกไหม แกก็ยังทำอยู่ ดิฉันไปบอกสามี ว่าดิฉันต้องการบอกห้ามเพื่อนบ้าน สามีบอกก็ลองดูไปก่อน ดิฉันบอกสามีว่าถือเป็นการบุกลุกพื้นที่ ถ้าเราไม่ห้ามเขาเดี๋ยวนี้ ยิ่งนานไปยิ่งยากเหมือนกับว่าเราอนุญาตโดยปริยาย ดิฉันเลยตัดสินใจพูดกับพี่สะไภ้ทันที ว่า ดิฉันไม่ต้องการให้เขาใช้ทางเขตบ้านดิฉันเป็นทางผ่านถังขยะของเขา เพราะดิฉันกลัวเขาจะหกล้มในเขตบ้านดิฉัน แกจ้องหน้าดิฉันสักพักไม่พูดอะไร อีก 2-3 วัน ผู้ชายมาพูดกับดิฉันว่า “พี่สะไภ้ผมแข็งแรง ลากขยะหนักๆสบายไม่เคยหกล้มเลย” ดิฉันตอบ “นี่คุณดิฉันในฐานะทนาย ดิฉันต้องปกป้องตัวเองไว้ก่อน กรณีฉันห้ามคุณแล้ว ถ้าทางคุณยังเข้ามาอีกเท่ากับบุกรุก” เขาพูดต่อว่า “รถเราจอดเต็ม 3 คันไม่มีที่ลากขยะ” ดิฉันบอก “คุณก็เลื่อนรถสิคะ” ดูรูป 3

สรุป หลังจากนั้นแกก็ไม่ได้เดินผ่าน แต่ดิฉันต้องการให้ “ชัวร์” เพราะนึกว่าตอนดิฉันเดืนทางไปไทย 1 เดือน แกอาจจะข้ามเขตมาอีก เลยตัดสินใจเอาอิฐบล๊อกไปวางกั้นและวางต้นไม้กั้น ตามรูป 2
คำแนะนำการปฎิบัติต่อเพื่อนบ้าน
ดิฉันเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า เราไม่ควรสนิทกับเพื่อนบ้าน ในฐานะเพื่อน ไม่อย่างงั้นจะ ขยาย จาก 1 เป็น 2 และภายหลังก็ขัดใจกัน ดิฉันเชื่อว่าเพียงมี “มิตรภาพ” ให้เท่านั้นพอ “ยิ้ม” และเจอหน้าก็ “say Hi” ก็พอแล้ว ไม่ต้องปรับทุกข์หรือนินทาเพื่อนบ้านคนอื่นให้เพื่อนบ้านฟัง และมีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านก็ควรพูดทันที พูดตรงๆและจริงใจ ยิ่งเก็บ ยิ่งร้อนใจและไม่แฮ็ปปี้ ดิฉันมักจะนึกถึงคำสอนในพระคัมภีร์ ที่ว่า “Love thy neighbor”
“รักเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับรักตัวเอง”

รูปที่ 3

ข่าวดีล่าสุดของอิมมิเกรชั่น

เมื่อวันที่ 18  มีนาที่ผ่านมา“สภาล่าง”หรือ“เฮาส์ ออฟ เร็พพรีเซ็นเททีฟ” (House of Representative) ได้ผ่าน “บิล” หรือ “ร่างกฎหมาย” 2 ฉบับ คือ H.R 6 และ H.R.1603  ด้วย 228 ต่อ 197 เสียง สมาชิกพรรครีพับบลิคกัน 9 ท่าน ได้โหวตร่วมกับเดโมแครต ขั้นต่อไป 2 บิลนี้จะถูกส่งเข้า“สภาสูง”หรือ“เซเนท” (Senate) เพื่อโหวต เชื่อว่าสองบิลนี้จะผ่าน เพราะในเซเนท มีจำนวนวุฒิสมาชิกเท่ากัน เดโมแครท 50 รีพับบลิคกัน 50 ท่าน ถ้าเสมอ รอง ป.ธ.น. Harris โหวตเสียง ตัดสิน หลัง 2 บิลผ่าน “เซเนท” บิลถูกส่งให้ประธานาธิบดี “ไบเดน” เซ็น “บิล” ก็จะกลายเป็นกฎหมาย ดิฉันจะลงรายละเอียดอีกครั้งนะคะเมื่อ“บิล”ผ่าน เพราะอาจมีการต่อรองเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขบ้าง

บิล H.R 6 และ บิล H.R.1603  

บิล H.R 6 มีชื่อเรียกว่า  “อเมริกันดรีม แอนด์ พรอมมิส แอ๊กท์” (The American Dream and Promise Act) ดิฉันแปลว่า “ความฝันและคำสัญญา” ที่จะเป็นจริงของเด็กโรบินฮู้ด บิลนี้ช่วยเด็ก 3 กรุ๊บ

เด็กดาค่า

รากเกิดของบิลนี้มาจาก “ดาค่า” (“DACA” ย่อมากจาก Deferred Action for Childhood Arrivals) เป็น โปรแกรม ที่รัฐบาลโอบาม่าผ่านเป็น “คำสั่ง” ออกมาครั้งแรกปี ค.ศ. 2012 (ที่เป็นเพียง “คำสั่ง” เพราะ “บิล ดาค่า” นี้ไม่ผ่านสภา) บิลนี้ระงับการเนรเทศเด็กโรบินฮู้ดที่พ่อแม่พาเข้าอเมริกาตั้งแต่เล็กๆ เด็กเรียนหนังสือและเติบโตมาในอเมริกา เมื่อเรียนจบเด็กมีปัญหา เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ และไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ความฝันและความหวังของเด็กเหล่านี้เท่ากับพังสลาย  รัฐบาลโอบาม่าจึงผ่านคำสั่งให้ออกใบทำงานให้ “เด็ก ดาค่า” 2 ปีและสามารถต่อได้ ทุก 2 ปี พอมารัฐบาลทรัมพ์ ปี ค.ศ. 2017 “ทรัมพ์” พยายามยกเลิก “ดาค่า” แต่ไม่สำเร็จ จึงยกเลิกออกใบทำงาน และมีคำสั่งเนรเทศเด็ก “ดาค่า” ออกนอกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ถ้า บิล H.R 6 ผ่าน“เซเนท” จะเปิดให้“เด็ก ดาค่า” แอ็พพลายขอใบเขียวได้

คุณสมบัติ“เด็ก ดาค่า”

  • เด็กต้องอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ 1 มกราคม 2021 ถึงปัจจุบัน
  • เด็กต้องอายุต่ำกว่า 18 ปี ตอนเข้ามาในอเมริกา และอยู่ในอเมริกามาตลอดตั้งแต่นั้น (ถ้าเคยเดินทางออกนอกประเทศมีเงื่อนไขว่า ออกครั้งหนี่งต้องไม่เกิน 90 วัน และรวมอยู่นอกประเทศทั้งหมดต้องไม่เกิน 180 วัน)
  • เด็กต้องจบไฮสกูล หรือได้ประกาศนียบัตรGED หรือยังเรียนอยู่ในไฮสกูลหรือคอลเลจในอเมริกาหรือได้ออกจากทหาร (honorably discharged veteran of the Coast Guard or Armed Forces of the United States)
  • เด็กต้องไม่มีความผิดด้านกฎหมายรุนแรง ถ้ามีความผิดอาญาสถานเบา อาจสามารถขอผ่อนผันได้

เด็กที่ติดตามพ่อแม่ด้วยวีซ่า H-1B, L-1, E-1 และ E-2

นอกจาก “เด็ก ดาค่า” แล้ว บิล H.R 6 ครอบคลุมเด็กที่ติดตามพ่อแม่ที่ได้วีซ่าทำงานถาวร H-1B professionals, L-1 executives, managers and those with specialized knowledge และวีซ่าลงทุน E-1 treaty traders and E-2 treaty investors เด็กเหส่านี้จะได้วีซ่าเดียวกับพ่อแม่ แต่วีซ่าเด็กจะหมดอายุเมื่อเด็กอายุ 21 ปี เรียก“เอ็จด์-เอ๊าท์” (aged-out) เด็กจะต้องเปลี่ยนวีซ่าก่อนเด็กอายุ 21 ปี เช่น วีซ่านักเรียน ไม่อย่างนั้นวีซ่าขาดกลายเป็นโรบินฮู้ดหรือต้องเดินทางกลับบ้าน เด็กโรบินฮู้ดเหล่านี้สามารถขอใบเขียวได้เช่นกัน ส่วนเด็กที่ถูกส่งกลับเพราะ “เอ็จด์-เอ๊าท์” สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวที่สถานทูตได้  ถ้าเด็กอยู่ในอเมริกามาอย่างน้อย 4 ปี และออกนอกประเทศวันที่หรือหลังวันที่ 20 มกราคม 2017

หมายเหตุ กรณีพ่อหรือแม่เด็กในกรุ๊บวีซ่า in H-1B, L-1, E-1 และ E-2 พ่อหรือแม่ไม่จำเป็นต้องยังอยู่ในสถานภาพวีซ่าที่ตนเข้ามา พ่อหรือแม่อาจได้ใบเขียวเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นซิติเซ่น  หรือย้ายกลับไปประเทศของตนแล้ว เด็กยังสามารถขอใบเขียวได้ภายใต้ บิล H.R 6

ผู้ถือวีซ่า TPS (Temporary Protected Status)

TPS คือ ผู้ที่พลัดพลาหรือหนีจากประเทศของตน เนื่องจากภัยภิบัติ อย่างร้ายแรง ด้านธรรมชาติหรือการเมือง และประเทศนั้นๆอยู่ในรายชื่อที่สหรัฐกำหนดให้ได้รับความคุ้มครองปกป้องชั่วคราวอยู่ในสหรัฐ กรุ๊บนี้สามารถขอใบเขียวภายใต้ บิล H.R 6ได้

บิล H.R.1603

บิลนี้เรียกFarm Workforce Modernization Act of  2021ช่วยกสิกรผู้ถือวีซ่า H-2A จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายข้อ และให้พวกเขาได้ขอใบเขียวได้ในที่สุด เงื่อนไขคือ คือผู้ถือวีซ่า H-2A ต้องทำงานเป็นกสิกรอย่างน้อย 1035 ชั่วโมง ในระยะ 2 ปีก่อนวันที่ 8 มีนา 2021

สำหรับแฟนคอลัมน์โรบินฮู้ดที่รอคอยกฎหมายปฎิรูปอิมมิเกรชั่น อย่าพึ่งอ้าว จบแล้วเหรออย่าพึ่งผิดหวังนะคะ ดิฉันคิดว่าหลังสองบิลนี้ผ่าน บิลอิมมิเกรชั่นต่อไปน่าจะเป็นบิล ปฎิรูปกฎหมายอิมมิเกรชั่น ดิฉันคิดว่ารัฐบาล ไบเดนได้บทเรียนจากรัฐบาลโอบาม่า ที่โอบาม่าพยายามผ่าน บิล กฎหมายปฎิรูปอิมมิเกรชั่นชุดใหญ่ อภัยโทษให้โรบินฮู้ด โดยรวมเด็ก ดาค่าเข้าไปด้วยใบชุดใหญ่ จึงไม่ผ่านสภา เหตุผลทางการเมืองคิดว่า รีพับบลิคกันไม่ต้องการให้เดโมแครทรัฐบาลชุดโอบาม่าได้หน้า

ณ. วันนี้ คณะรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าระบบอิมมิเกรชั่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับทาง เดโมแครทพร้อมมาก เพราะมีสมาชิกในสภามากกว่ารีพับบลิคกันและไบเดน ท่านเป็นผู้อาวุโสในสภาและสมาชิกทั้งสองพรรค เชื่อถือและเกรงใจ และไบเดนยังเป็นคนหว่านล้อมเก่งอีกด้วย ใจเย็นๆรอหน่อยนะคะ

โรบินฮู้ดอยู่อย่างถูกกฎหมายใกล้เป็นจริง

มีคำถามมาจากแฟนพันธ์แท้ที่ติดตามคอลัมน์ดิฉันมานาน อ่านคำถามข้อ 3 ข้อ เลยต้องรีบเขียนคอลัมน์ ให้กำลังใจค่า

คำถาม

  1. ช่วยอธิบายการโหวตผ่านร่างกฎหมายจากสภาสูง (วุฒิสภา) หน่อยครับ คือเท่าที่อ่านข่าวจากหลายๆสื่อ ตอนนี้ในสภาสูงมีเสียงเท่ากัน 50/50 ถ้าบวกอีก 1 คะแนนของรองประธานาธิบดีก็ถือว่าชนะได้แล้ว ทำไมจึงต้องรอลุ้นล่ะครับ ผมไม่เข้าใจเลยครับ  
  2. บางสำนักข่าวเขียนว่า “การโหวตคะแนนเสียงขั้นสุดท้ายในวุฒิสภาต้องการเพียงจำนวนเสียงข้างมากเท่านั้นจึงจะผ่านได้  แต่บางสำนักก็บอกว่าต้องได้ถึง 60 คะแนนจึงจะผ่านร่างกฎหมาย” ผมก็เลยสับสนว่าแล้วที่แท้จริงกระบวนการโหวตในสภาสูงของอเมริกาเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
  3.  ตอนนี้ผมรออ่านผลงานของคุณอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญต่อชีวิตผมและผู้อพยพที่เป็นโรบินฮู้ดประมาณ 11-12 ล้านคน ครับ ว่าไบเดนจะทำสำเร็จไหม ผมรอคอยกฎหมายปฏิรูปอิมมิเกรชั่นมายาวนานถึง 15 ปีเต็ม ถ้าโจ ไบเดน ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ผมก็ไม่รอแล้วครับ ตัดสินใจกลับเมืองไทย

ตอบคำถามเลยนะคะ

ข้อ 1      ก่อนอื่นจะอธิบายเรื่องการโหวตผ่านร่างกฎหมายในอเมริกาย่อๆนะคะ “ร่างกฎหมาย” เรียก“บิล” (Bill) เมื่อมีผู้เขียนหรือเสนอ “บิล” ขึ้นมา ขั้นแรกบิลจะถูกส่งไป “สภาล่าง” หรือ“สภาผู้แทนราษฎร” เรียก“เฮาส์ ออฟ เร็พพรีเซ็นเททีฟ” (House of Representative) เรียกสั้นๆว่า“เฮ๊าส์” (House) ใน“เฮ๊าส์”มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส.ทั้งหมด 435 คน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจากแต่ละรัฐ จำนวนสมาชิกแต่ละรัฐไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่ารัฐนั้นมีกี่เขต รัฐคาลิฟอร์เนียมีสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุดคือ 53 คน ส่วนรัฐเดลาแวร์ (รัฐที่ โจ ไบเดนอยู่) มีสมาชิก 1 คน สมาชิก ส.ส. เข้าประชุมถก“บิล”กัน อาจมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ตัด เติม และโหวตกัน เมื่อบิลผ่านเสียงข้างมาก บิลก็จะถูกส่งเข้า “สภาสูง” หรือ “วุฒิสภา” เพื่อโหวต สภาสูงเรียก “เซเนท” (Senate) มีวุฒิสมาชิก เรียก “เซเนเต้อร์” (senator) ทั้งหมด 100 คน 2 คนต่อรัฐ (อเมริกามี 50 รัฐๆละ 2 คน) บิลจะต้องผ่านเสียงข้างมากคือ 51 เสียงขึ้นไป ถ้ามี เสียงเท่ากัน 50/50 รองประธานาธิบดีก็จะออกเสียง เป็นคะแนนตัดสินที่ 51 คะแนนก็ถือว่าชนะ  คำถามว่าทำไมต้องลุ้น ดิฉันคิดว่าตอนที่คุณอ่านข่าวคงเป็นช่วงที่กำลังรอผลเลือกตั้ง“เซเนเต้อร์”ใหม่ 2 คน จากรัฐจอร์เจีย ช่วงรัฐบาลทรัมพ์ มีเซเนเต้อร์รีพับบลิคกัน 52 เดโมแครท 48 เท่ากับรีพับบลิคกัน “คอนโทรล” วุฒิสภา หรือ“เซเนท”  (เซเนเต้อร์รับตำแหน่งเทอมละ 6 ปี) เซเนเต้อร์เดิม 2 คนของรัฐจอร์เจียเป็นรีพับบลิคกัน ซึ่งหมดเทอมพอดี คู่แข่ง 2 คนมาจากพรรคเดโมแครท ซึ่งผลการเลือกตั้งแรกวันที่ 3 พฤษจิกา 2020 ไม่มีใครได้เสียงข้างมาก จึงมีการลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง วันที่ 6 มกรา 2021 ผลคู่แข่ง 2 คนพรรคเดโมแครทชนะ เนื่องจากผลคะแนนเลือกตั้งระหว่าง เซเนเต้อร์คนเก่า นาย “เพอร์ดู-รีพับบลิคกัน” และคนใหม่นาย “โอซอฟ-เดโมแครท” สูสีกันมาก ทางรัฐจอร์เจียไม่ได้“เซอร์ติฟาย” ผลจนกระทั่งวันที่ 19 มกรา 2021 ที่ต้องลุ้น เพราะเท่ากับตอนนี้ เดโมแครท “คอนโทรล” (control)วุฒิสภา 50/50 (ดูรูป)

ซ้ายมือ นาย “จอน โอซอฟ” (Jon Ossoff) คนกลางคือ นาย “ราฟาเอล วอร์น็อค” (Raphael Warnock)  สอง เซเนเต้อร์ เดโมแครทใหม่ รัฐจอร์เจีย ขวาสุดคือ ป.ธ.น. ไบเดน  แสดงความยินดี “แตะศอก”กัน

ข้อ 2      คำถาม “บางสำนักก็บอกว่าต้องได้ถึง 60 คะแนนจึงจะผ่านร่างกฎหมาย” คืออะไร อันนี้หมายถึง เมื่อ “บิล” เข้า “เซเนท” เพื่อโหวตกัน วันนั้นในที่ประชุม ต้องมีเซเนเต้อร์เข้าประชุมอย่างน้อย 60 คนขึ้นไป ถึงจะตัดสินได้ ปกติถ้า ทาง “เซเนเต้อร์ รีพับบลิคกัน” ต้องการถ่วงเวลาโหวตบิล  เขาก็จะรวมใจกันไม่เข้าประชุมวันนั้น เข้าใจนะคะ

ข้อ 3      ตอน “ไบเดน” หาเสียง ได้ประกาศว่า “เขาต้องการช่วยให้โรบินฮู้ดในอเมริกาประมาณ 11 ล้านคน ได้อยู่อย่างถูกต้องและได้ซิติเซ่นในที่สุด ขณะนี้“บิล” เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แบ่งเป็น 3 เสต็ป ดังนี้

สเต็ป 1 โรบินฮู้ดที่เข้ามาอเมริกาก่อน 1 มกราคม 2021 สามารถแอ็พพลายขอ “สถานภาพอยู่อย่างถูกกฎหมายชั่วคราว” เรียก “เท็มพอรารี่ ลีเกิล สแตตัส” (Temporary legal status) (“TLS” อันนี้เป็นคำย่อสั้น ที่ดิฉันตั้งขึ้นมาเองนะคะ) ได้ทันที  หลังได้ TLS คุณสามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  และจ่ายภาษี (ยังไม่ทราบรายละเอียดนะคะ ว่าคุณสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือไม่)

สเต็ป 2  หลังจากถือ TLS  5 ปี  คุณสามารถแอ็พพลายขอใบเขียวได้ ตราบใดที่คุณ ผ่านแบ็คกราวนด์เช็ค  และจ่ายภาษี 

สเต็ป 3 หลังถือใบเขียว 3 ปี คุณสามารถสอบซิติเซ่นได้

นอกจากนี้คนต่างชาติอีก 3 กรุ๊บ คือ (1) “พวกดรีมเม่อร์ส” คือ เด็กที่พ่อแม่พาเข้ามาอเมริกาตั้งแต่เล็กๆและเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ ปัจจุบันอยู่ในโปรแกรม DACA โปรแกรมนี้ “ทรัมพ์” พยายามยกเลิกแต่ไม่สำเร็จ  (2) พวกทำฟาร์ม เข้ามาด้วยวีซ่ากสิกร”  และ (3) พวกที่ได้หนีลี้ภัยการเมืองหรือภัยพิบัติธรรมชาติเข้ามาอเมริกา และอยู่ใน “สถานภาพการปกป้องชั่วคราว” เรียก Temporary protected status  หรือ “TPS” จากประเทศเหล่านี้  เอล ซัลวาดอร์, เฮติ, ฮอนดูรัส, เนปาล, นิคารากัว, โซมาเลีย, ซูดาน, ซูดานใต้, ซีเรีย, และเยเม็น ทั้งสามกรุ๊บนี้สามารถแอ็พพลายขอใบเขียวได้เลย และหลังจาก 3 ปี สามารถสอบซิติเซ่นได้

ถ้าถามความคิดดิฉันว่า“ไบเดนจะทำสำเร็จไหม” ดิฉันเชื่อว่าสำเร็จค่ะ เพราะเดโมแครท “คอนโทรล” (control) ทั้งสองสภา สภาล่าง สมาชิกเดโมแครท 221 คน สมาชิกรีพับบลิคกัน 211 คน ตำแหน่งว่าง 3 ตำแหน่ง (ส.ส.รับตำแหน่งเทอมละ 2 ปี) สภาสูง 50/50 บวกเสียงจาก นางกมลา แฮริส รองประธานาธิบดี  เท่ากับเดโมแครทมี 51 เสียง ดิฉันเชื่อว่ากฎหมายช่วยโรบินฮู้ดจะผ่าน ยิ้มได้แล้วนะคะ ยังไม่ต้องเตรียม “แพ็คกระเป๋า” 

รองประธานาธิบดีครบวงจร

วัน 20 มกราเป็นวันพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ “โจ ไบเดน” (Joe Biden) และเราได้รองประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก นาง“กมลา แฮริส” (Kamala Harris) ตอนดิฉันดู “เลดี้กาก่า”(Lady Gaga) ร้องเพลงชาติอเมริกัน ดิฉันน้ำตาไหล“แฮ็ปปี้” (เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือวันที่ดิฉันสาบานตนเป็น “ซิติเซ่น”) ดิฉันถือเป็นการเปิดฉากใหม่ ของความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสมอภาคที่เท่าเทียมกันของผู้หญิง คนผิวดำ และการแต่งงานระหว่างผิว คือครบวงจร 

นาง“กมลา แฮริส” “สุภาพสตรีหมายเลขสอง” ควงสามีนาย“ดั๊ก เอ็มฮอฟ” (Doug Emhoff) คนขาว“สุภาพบุรุษหมายเลขสอง” วันพิธีเข้ารับตำแหน่ง รองประธานาธิบดี 20 ม.ค. 2021

การกีดกันผิว

เมื่อดิฉันเรียนกฎหมาย ทำให้ดิฉันเข้าใจที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างลึกซึ้ง จากการศึกษาคดีต่างๆและการตัดสินคดีที่ค่อยๆเปลี่ยนไปตามยุคและกาลสมัย และได้“เช๊พ” (shape) อเมริกามาเป็นอเมริกาปัจจุบัน

ตามประวัติศาสตร์คนผิวดำจากประเทศอัฟริกาถูกลักลอบตัวเข้ามาอเมริกาโดยชาวโปร์ตุเกสนำมาขายเป็นทาส ระหว่าง ค.ศ. 1525-1866 อเมริกามีคนผิวดำทาสมากกว่า 12.5 ล้านคน พวกขุนนางและเจ้าของไร่จะประมูลซื้อคนดำเอามาเป็นทาสทำงานไร่ฝ้ายและไร่ยาสูบ ทาสถือเป็นสมบัติของเจ้านายคือพวกเขาไม่มีสิทธิในตัวเองใดๆทั้งสิ้น เมื่อออกลูก หลานมาพวกเขาก็ยังเป็นทาส และเป็นสมบัติของเจ้านายไปทั้งโคตร ระหว่างปี ค.ศ. 1861-1865 เกิดสงครามกลางเมือง หรือ“สงครามเลิกทาส” ระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ รัฐทางเหนือต้องการให้เลิกทาส แต่รัฐทางใต้(ซึ่งทำไร่นาเป็นหลัก)ต่อต้านการเลิกทาส ปี ค.ศ. 1863 ประธานาธิบดี “ลินคอล์น” ออกคำสั่ง“ประกาศ”ให้อิสรภาพทาส ปี ค.ศ. 1865 เมื่อสงครามสิ้นสุด รัฐทางใต้แพ้ รัฐบาลผ่านรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข บทที่ 13 ระบุว่า “ห้ามมีทาสและห้ามบังคับใช้คนโดยที่เขาไม่ต้องการ” ฉบับนี้เท่ากับให้โอกาสทาสที่ไม่สามารถออกจากบ้านเจ้านาย เพราะไม่มีที่ไป พวกเขาไม่มีการศึกษา ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้คือออกไปก็อดตาย เขาก็จะมีสิทธิอยู่เป็นทาสต่อไป ปีค.ศ. 1868 รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข บทที่ 14 ผ่านระบุว่า“ทุกคนที่เกิดในแผ่นดินอเมริกา ถือว่าเป็นพลเมืองอเมริกัน และเขามีสิทธิที่จะแสวงหาความสุข มีสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ และความคุ้มครองทางกฎหมาย” (ฉบับนี้ เท่ากับผู้ที่เกิดในอเมริกาจะได้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ เรียกการได้สัญชาติตามหลักแผ่นดิน ไม่ใช่ตามสายเลือด) ฉบับนี้เท่ากับเปิดช่องทางให้ลูกหลานทาสที่เกิดในอเมริกา มีเสรีภาพและมีความเท่าเทียมเป็นพลเมืองอเมริกัน คือไม่เป็นสมบัติของเจ้านายอีกต่อไป ปี ค.ศ. 1870  รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข บทที่ 15 ผ่าน ให้สิทธิคนผิวดำออกเสียงเลือกตั้งได้ 

สรุป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 มาในภาคทฤษฎีเท่ากับคนผิวดำมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมคนขาว แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นยังงั้น คนผิวดำก็ยังถูกกีดกันอย่างมากๆอยู่ดี รัฐทางใต้จะกีดกันคนดำมากกว่ารัฐตอนเหนือ รถประจำทางแยกที่นั่งคนผิวดำนั่งแถวหลังๆผิวขาวแถวหน้าๆ ห้องน้ำสาธารณะแยกผิว ร้านอาหารไม่ขายให้คนผิวดำ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้านได้ต้องไปโรงเรียนเฉพาะคนดำซึ่งอยู่ไกลจากบ้าน คนผิวดำถูกกีดกัน และกั้นไม้ไม่ให้เข้าไปออกเสียงเลือกตั้ง ปีค.ศ. 1896 คดีบรรทัดฐานที่ศาลนำมาใช้เป็นการตัดสินว่า เมื่อคนดำซูรัฐให้พวกเขามีสิทธินั่งรถประจำทางได้ทุกที่นั่งที่ว่าง ศาลตัดสินให้รัฐชนะ โดยอ้างว่า การที่รัฐจัดที่นั่งแยกให้ทั้งสองฝ่าย ผิวดำและผิวขาว เรียกว่า “แยกกันแต่เสมอภาค” หรือ “Separate but Equal” มาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ในคดียันทัดฐาน  Brown V Board of Education พ่อของเด็กดำซูกระทรวงศึกษาที่ไม่ให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนเด็กขาวเรียน คราวนี้คนดำชนะศาลสั่งล้มใช้ระบบ “แยกกันแต่เสมอภาค” คนดำยังคงต่อสู้เพื่อความเสมอภาคมาจนทุกวันนี้  

ความไม่เสมอถาคของผู้หญิง

สมัยก่อนเมื่อผู้หญิงแต่งงาน เธอจะตกเป็นสมบัติของสามีเช่นเดียวกับทาส (ที่ตกเป็นสมบัติของเจ้านาย) คือผู้หญิงหมดสิทธิเสรีภาพและในร่างกายตน ตัวอย่าง สามีตบตีได้ ข่มขืนภรรยาได้ เธอทำแท้งไม่ได้ เธอไม่มีสิทธิฟ้องร้องด้วยตนเองได้(สามีต้องเป็นคนฟ้องร้องให้) เธอไม่สามารถเป็นเจ้าของสมบัติได้ และผู้หญิงไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ผู้หญิงได้ต่อสู้เรียกสิทธิความเสมอภาคมาตลอด ปีค.ศ. 1894 กฎหมาย Married Woman’s Property Act ผ่าน ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเป็นเจ้าของสมบัติได้ ปี ค.ศ. 1920 รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข บทที่ 19 ให้สิทธิผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งได้ ปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลกลางผ่านกฎหมาย ห้ามมีการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง รวมภรรยา แฟน คู่รัก คู่หมั้น  The Violence Against Women Act of 1994  เรียกย่อว่า “วาว่า” (VAWA) จากการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของผู้หญิง เปิดทางให้ผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายตนเอง ฉะนั้นผู้หญิงมีสิทธิทำแท้งได้ ในคดีบันทัดฐาน Roe v Wade ค.ศ. 1973 ศาลสั่งว่าคลีนิคฟรีรัฐไม่สามารถปฏิเสธไม่ทำแท้งให้ผู้หญิงได้  

การแต่งงานระหว่างผิวขาวและผิวดำ 

การแต่งงานระหว่างผิวขาวและผิวดำถือเป็นสิ่ง “ตาบู” มากๆๆมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในสมัยโน้นสังคมไม่ยอมรับเอาเลย จนมาถึงปี ค.ศ. 1967 ศาลตัดสินในคดี Loving v. Virginia ซึ่งเป็นคดีบันทัดฐานที่ศาลใช้อ้างถึงปัจจุบันนี้ ความเป็นมาคือ ปี ค.ศ. 1958 นาย“ริชาร์ด เลิฟวิ่ง” คนขาวแต่งงานกับ“มิลเดร็ด” ลูกครึ่งผิวดำและขาว ทั้งสองอยู่รัฐเวอร์จิเนียซึ่งกฎหมายรัฐห้ามการแต่งงานระหว่างผิวและถือเป็นคดีอาญาถึงติดคุก ทั้งสองเป็น “ไฮสกูล สวีทฮาร์ท” ได้ไปจดทะเบียนสมรสที่ “วอชิงตัน ดีซี” และกลับไปอยู่ฟาร์มของตนในเวอร์จิเนีย  5 อาทิตย์หลังจดทะเบียนตำรวจบุกเข้าไปในบ้านตอนดึกและจับทั้งสองเข้าคุก เมื่อขึ้นศาลรัฐ ผู้พิพากษาลงโทษว่าผิดแต่ท่านพักการลงโทษและเสนอเงื่อนไขว่าทั้งสองต้องย้ายออกจากรัฐ และห้ามกลับเข้ามาเป็นเวลา 25 ปี ทั้งสองได้ย้ายไปอยู่แถบ“วอชิงตัน ดีซี” ทั้งสองต้องการย้ายกลับฟาร์ม ได้อุทธรณ์และไปถึงศาลสูงสุดของรัฐแต่แพ้มาตลอด ในที่สุดเขาได้ไปปรึกษาท่านอัยการสูงสุดช่วงนั้น คือ “โรเบิร์ท เคเนดี้” (น้องชาย จอห์น เอฟ เคเนดี้) ท่านได้แนะนำทั้งสองให้ไปหาองค์กร The American Civil Liberties Union องค์กรทนายความที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของคนผิวดำ เรียกย่อว่า “ACLU” ซึ่ง ACLU รับเคสและได้ต่อสู้คดีไปถึงศาลสูงสุด “U.S. Supreme Court” โดยอ้างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขบท 14 ที่ “การันตี สิทธิทุกคนที่จะ แสวงหาความสุข “Personal rights to pursuit of happiness” รวมทั้งสิทธิที่จะแต่งงาน “Freedom to marry” ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิที่สถิตอยู่ในตัวบุคคลไม่ว่าจะสีผิว เชื้อชาติ หรือ สัญชาติอะไร และรัฐไม่สามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้นๆได้” ศาลคว่ำคดีรัฐตัดสินให้ Loving ชนะ ตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน ปี 1967 (ดูรูป) ครอบครัว “เลิฟวิ่ง” พ่อแม่และลูก 3 คน ได้ย้ายกลับไปอยู่ฟาร์มที่รัฐเวอร์จิเนีย นาย“ริชาร์ด” แอ็กซิเดนถูกรถชนตายปี ค.ศ. 1975 ส่วนนาง มิลเดร็ด มีชีวิตอยู่ถึงปี 2008 ไม่เคยแต่งงานใหม่   หลังจากคำตัดสินคดี Loving v. Virginia รัฐเวอร์จิเนียและหลายรัฐยกเลิกกฎหมายห้ามแต่งงานระหว่างผิว รัฐอลาบาม่าเป็นรัฐสุดท้ายที่ยกเลิกกฎหมายห้ามแต่งงานระหว่างผิวใน ปี ค.ศ. 2000

นางมิลเดร็ดและนายริชาร์ด เลิฟวิ่ง ปีค.ศ. 1967

คดี Loving ได้เปิดประตูให้คดี “แต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน” ในคดี Obergefell v. Hodges ตัดสินปี ค.ศ. 2015 โจทก์หลายคู่ซูรัฐที่ตนอยู่ ร่วมกับคดี Obergefell v. Hodges คดีชนะรวดทุกศาลไปถึงศาลสูงสุด  “U.S. Supreme Court” ผู้พิพากษา “แอนโทนี่ เคเนดี้” แห่งศาลสูงสุดได้อ้างถึงคดี Loving เป็นบันทัดฐาน ศาลตัดสินว่า “สิทธิในการแต่งงานถือเป็นสิทธิพื้นฐาน “Fundamental right” ซึ่งการันตีให้ทุกคนรวมทั้ง คู่สมรสเพศเดียวกัน ศาลสั่งว่าทุกรัฐทั้ง 50 รัฐ(ยกเว้นอาณานิคมของอเมริกา)ไม่สามารถปฏิเสธไม่จดทะเบียนสมรสให้เพศเดียวกันได้ รัฐที่ยังมีคำนิยาม “การสมรส เกิดขึ้น ระหว่าง หญิง และชาย” “one man and one woman” นั้นต้องยกเลิกคำนิยามนี้ เคสนี้เป็นการตัดสินครั้งใหญ่เพราะครอบหมดทั้งประเทศ ดิฉันจำได้ว่าหลังคดีนี้ตัดสิน อิมมิเกรชั่นเปิดรับทำใบเขียวแต่งงานเพศเดียวกัน ณ. วันนี้ ครอบครัวผสม เกย์ เลสเบียน และต่างศาสนา “Multiracial families” ถือวันที่ 12 มิถุนายน เป็นวันแห่งความรัก เรียก “เลิฟวิ่ง เดย์” (Loving day) และมีการฉลองเช่นเดียวกับวันวาเลนไทน์ 

ตอนนี้คุณคงเข้าใจความรู้สึกของดิฉันที่ทำไม“แฮ็ปปี้”ในแง่ทนายที่มีโอกาสเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในประเทศนี้ และการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองอเมริกันมาจนถึงปัจจุบัน อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษปี ค.ศ. 1776 ปีนี้ ค.ศ. 2021รวม 245 ปี ว่าว !!! แต่ก็ไม่มีอะไรสายเกินไปเนอะคะ

รอบปีที่ผ่านมา

คอลัมน์นี้สรุปรอบปี 2020 ที่ผ่านมาของครอบครัวเรา  แชร์รูปเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นความทรงจำดีๆของเรา 

งานแต่งงาน “แอริค และ อมิตา”

เราเริ่มปีใหม่ 2020 ด้วย วันที่ 4 มกราไปงานแต่งงานของเพื่อนสนิท“แอริค” เขาซ่อมแซมและทำทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านดิฉัน บ้านเราน่าอยู่และร่มรื่นเพราะเขา (ดูรูป 1)

ทานากะ ฟาร์ม เก็บสตรอเบรี่

11 กุมภาหน้าสตรอเบรี่ “เท็ด” นักเรียนโยคะพาพวกเรา“โยกิ” ไปเก็บสตรอเบรี่ที่ “ทานากะ ฟาร์ม “Tanaka farm” ของเพื่อนเขา (ดูรูป 2)

วัน Holi Festival

11 มีนา พวกโยกิฉลองเทศกาลสีสรรของชาวฮินดู “โฮลี” (Holi Festival) แต่ละคนแต่งเสื้อผ้าสีฉูดฉาดมาโยคะกัน(ดูรูป 3)

งานกินเลี้ยงเพื่อนบ้านที่ร้านอาหาร

15 มีนาเพื่อนบ้านเชิญ 4 ครอบครัวไปเลี้ยงลา เขาย้ายไปอยู่รัฐอาริโซน่า (ดูรูป 4) และวันเดียวกันนั้นยิม 24 HourFitness ที่ดิฉันไปโยคะทุกวันปิด ตั้งแต่วันนั้นชีวิตในบ้านดิฉันเปลี่ยนไป

“สเตย์ โฮม ออร์เด้อร์” 

นักเรียนนั่งสมาธิ

หลังยิมปิด วันจันทร์ที่ 16 มีนาดิฉันเพิ่มคลาสโยคะที่บ้านจาก 3 วันเป็น 6 วัน เริ่ม 15 นาที แรก นั่งสมาธิและนั่งลมปราณ การบริหารลมหายใจ ซึ่งช่วยขยายปอดให้แข็งแรงและทำงานดีขึ้น (ดูรูป 5 และ 6)  

สอนลูกชายให้ตั้งสมาธิ

วันที่ 20 มีนา ผู้ว่ารัฐออกคำสั่ง“สเตย์ โฮม ออร์เด้อร์” (Stay Home Order) ครั้งแรก ให้ทุกคนอยู่บ้านและห้ามสังสรรมีการรวมกลุ่มกัน ข้อยกเว้นคือ นอกจากมีความจำเป็นหรือถ้ามีเหตุผลด้านสุขภาพ ดิฉันตีความหมาย ว่าโยคะและการหายใจนั้นเพื่อสุขภาพ จึงจัดอยู่ในข้อยกเว้น (ทนาย หาช่องโหว่ได้เสมอ ) เรายังมีคลาสโยคะทุกวันมาถึง ณ. วันนี้

หลัง “สเตย์ โฮม ออร์เด้อร์” ผู้คนเปลี่ยนไป มีความหวาดระแวง กลัวติดโควิด คนเครียด เก็บตัวไม่เจอหน้าผู้คน สื่อก็ไม่ได้ช่วย ออกข่าวจำนวนคนติดโควิด และคนตายทุกวันโดยที่ไม่เอ่ยถึง อายุ โรคประจำตัว ของผู้ป่วยและตาย คนที่ติดข่าว ติดไลน์ ฟังมากอ่านมากก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ดิฉันเองก็กลัวค่ะ 2 เดือนแรกฉุกละหุกมาก แต่ดิฉันต้องเป็นหลักให้ครอบครัว เพราะสามีกลัวโควิดมากกว่าดิฉัน (ดิฉันคิดว่า เพราะเขาเคยเป็นมะเร็งมาก่อน) ลูกชายก็หงุดหงิด เพราะเขาไม่ได้ออกไปไหน ปกติทุกวันจะมี Job Coach หรือผู้โคชเขามารับออกไปทำงานอาสาสมัคร 

ดิฉันพยายามประคับประคองชีวิตเราเป็นปกติมากที่สุดแต่ละวัน เราโชคดีที่อยู่เมืองเล็กแค่ 1.8 ตารางไมล์ เพื่อนบ้านดีแทบจะรู้จักกันหมด เรายังออกไปเดินทุกเช้าตามปกติพอได้คุยและเห็นหน้าผู้คนบ้าง เพื่อนบ้านสนิทที่มากินขนมและกาแฟทุกเช้าวันเสาร์หยุดมา เก็บตัวอยู่บ้าน 2 เดือน เพื่อนฝูงไม่ได้เจอ ยังโชคดีได้เจอกลุ่มโยคะ ซึ่งเหลือเพียง 3 คนบวกสามี ดิฉันต้อง“อดข่าว”ไม่อ่านข่าวหรืออ่านไลน์ แค่ฟังคุณสามีเม๊าท์ทางโทรศัพท์กับญาติพี่น้องเรื่องโควิทก็ประสาทพอแล้ว 

Cooking class on Zoom ของลูกชาย

สองเดือนผ่านไปโปรแกรมลูกชายเปิด “ออนไลน์” มีคลาสผ่าน “ซูม” (Zoom) เริ่มจากวันละ 1 ชั่วโมงเป็นวันละ 4 ชั่วโมง และเพิ่มกิจกรรมต่างๆมีคลาส เล่นเกม บิงโก Jeopardy มีคุ๊กกิ้งคลาสทำอาหารต่างชนิด (ดูรูป 7 และ 8 )

Latke (ลัทกิ) อาหาร “จิววิช” ทานวันปีใหม่ของคนยิว Yum

มีเอ๊กเชอร์ไซส์ (exercise) โยคะเก้าอี้ (Chair yoga) และเต้น โดยใช้ภาษาใบ้ตามเนื้อเพลง (move and groove) ดิฉันก็ได้เรียนภาษาใบ้ไปกับลูกด้วย ส่วนเพื่อนบ้าน และเพื่อนสนิท ที่หายไปก็ค่อยๆทะยอยกลับมา (ดูรูป 9 และ 10) ทุกอย่างค่อยๆเข้าที่

หลัง“สเตย์โฮมออร์เด้อร์” เพื่อนบ้านกลับมากินขนม &กาแฟ

ผลดีจาก “โควิด”  

“แม็กกี้” และ “ดอน” เพื่อนสนิท มากิน “ซาชิมิ” ที่บ้าน 

ณ. วันนี้ ในบ้านเราถึงทุกอย่างจะไม่กลับเหมือนเดิม แต่หลายอย่างดีกว่าเดิม 

ลูกชายเปลี่ยนไป เก่งขึ้นมาก เดี๋ยวนี้เขาสอนโยคะ 2 วันต่อสัปดาห์ คลาสหนึ่ง 1 ชั่วโมง 15 นาที ไสตล์การสอนจะมีเต้นโดยใช้ภาษาใบ้ (sign lamguage) และโยคะเก้าอี้  (ดูรูป 11และ 12) เราค้นพบความสามารถที่ซ่อนเร้นในตัว ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน เนื่องจากเขาไม่มีโอกาสที่จะเอาออกมาใช้  สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เพราะ “โควิด”

ลูกชายสอน โยคะ
ลูกชายสอน โยคะ

ผลจากการโยคะทุกวันที่บ้าน ต่างจากไปยิมอยางเห็นได้ชัด ดิฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของดิฉันและนักเรียนทุกคน ร่างกายแข็งแรงมีพลังมาก และมีสมาธิ ดิฉันเชื่อว่าเป็นเพราะนั่งลมปราณทุกวัน ซึ่งตั้งแต่สอนโยคะมา 10 ปี เรานั่งลมปรานวันเสาร์วันเดียว  ถ้าไม่เพราะ “โควิด” ดิฉันก็จะไม่ค้นพบพลังวิเศษอย่างนี้

เราไปฉลองวันแต๊งส์กิฟวิ่งที่ “โซลแวง”

เนื่องจากโควิด เรายกเลิกแพลนไปอิสราเอลและไทย  และเรางดการฉลองวัน Thanksgiving และ Christmas ที่บ้าน แต่เราชดเชยโดนขับรถไปเที่ยวใกล้ๆ Thanksgiving เราไปเมือง Solvang และ Christmas เราไป Palm Spring (ดูรูป 13และ 14) แต่วันเกิดดิฉันเดือน ธันวา ดิฉันได้ฉลองที่บ้านกับเพื่อนรัก (ดูรูป 15และ 16)

เราไปฉลอง คริสต์มัสที่ “พาล์มสปริง” รูปนี้ selfie จากระเบียงโรงแรม เห็นเขาด้านหลังล้อมรอบ แต่ไม่รู้ถ่ายยังไง สงสัยแดดจัด เลยแบ๊คกราวนด์ขาว

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณมีความทรงจำที่ไม่ดีต่อปีเก่า ก็ลืมๆมันไปซะ นึกถึงแต่ความทรงจำที่ดีๆ ดิฉันขอยืมคำอวยพร “อรวรรณ” เพื่อนโยคะ วันเกิดดิฉัน เธอให้ส้มโอ และกล้วยที่เธอปลูกเองที่บ้านมาให้ และอวยพรว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ดิฉันคิด และทำขอให้ผ่านไปแบบกล้วยๆและโอๆ

ฉลองวันเกิดดิฉันและเพื่อนที่บ้าน

อวยพรปีใหม่แฟนคอลัมน์ทุกคนเช่นกันนะคะ  ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิด และทำผ่านไปแบบกล้วยๆและโอๆ 

วันเกิดดิฉัน เพื่อนเอาส้มโอ และกล้วยที่เขาปลูกเองที่บ้านมาให้และอวยพรว่า “สิ่งที่ดิฉันคิดและทำ ขอให้ กล้วยๆและโอ ไปหมด” ดิฉันชอบความหมายมาก 

Happy New Year ค่ะ